ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารฯ ขอข้อมูล สปสช. เรื่องการรักษาในหน่วยบริการ หนุนการทำวิจัยภาวะโรคและระบบรักษา เตรียมตั้งคณะทำงานร่วมฯ เผยผลวิจัยปีที่ผ่านมา พบผ่าไส้ติ่ง 3 กองทุน คุณภาพเท่าเทียม อัตราตายน้อยมาก และไม่แตกต่าง
       
24 ก.ค. 57 นพ.พิศาล ไม้เรียง นายกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นพ.กำธร เผ่าสวัสดิ์ ประธานฝ่ายวิจัย และคณะผู้บริหารสมาคมฯ ได้เข้าหารือกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ประธานกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และการประเมินผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.ชูชัย ศรชำนิ ประธานบริหารกลุ่มภารกิจสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการ สปสช. เพื่อขอความร่วมมือในการใช้ข้อมูลการบันทึกเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลและการบริการด้านสาธารณสุขของทาง สปสช. เพื่อใช้การทำงานวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลที่นำไปสู่การป้องกันโรคและลดอัตราการป่วยในประเทศ
       
นพ.กำธร กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาทางสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารฯ ได้ให้ทุนเพื่อทำการวิจัยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารที่เป็นปัญหาของประเทศไทย และในการทำวิจัยครั้งนั้นได้พบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่นำไปสู่การป้องกันโรคและอัตราการป่วยได้ ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมฯ จึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการวิจัยใด้ด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่การวิจัยเหล่านั้นเพื่อให้เกิดความแม่นยำยิ่งขึ้นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลการเข้ารับการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการต่างๆ ทั่วประเทศที่ถูกต้อง ซึ่งทาง สปสช. เป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านการรักษาพยาบาลในระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีการรวบรวมข้อมูลบันทึกการเบิกจ่ายค่ารักษา ซึ่งเป็นฐานข้อมูลด้านสุขภาพขนาดใหญ่ จึงน่าที่จะนำมาใช้ในการสนับสนุนในการวิจัยให้ดีขึ้นได้
       
นพ.กำธร กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ในทางกลับกัน การที่ สปสช. สนับสนุนข้อมูลให้กับทางสมาคมฯ ยังเป็นการช่วยทำงานให้กับทาง สปสช. เนื่องจาก สปสช. แม้ว่าจะมีฐานข้อมูลการเจ็บป่วยของคนไทย แต่ด้วยภาระงานที่มีมากทำให้ขาดบุคลากรที่จะทำงานวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลตรงนี้ ขณะที่ทางสมาคมฯ เองมีนักวิชาการที่พร้อมทำงานอยู่มาก
       
ทั้งนี้ งานวิจัยที่ทางสมาคมฯ ได้สนับสนุนซึ่งแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยและอยู่ระหว่างการรอตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่างประเทศ เช่น ปัญหาท้องเสียจากการติดเชื้อ ที่พบว่าในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล เพราะภาวะท้องเสียปีละ 2 แสนราย ในจำนวนนี้ราว 1 พันราย ต้องเสียชีวิตลง และการวิจัยการผ่าตัดไส้ติ่งผู้ป่วยใน 3 กองทุนสุขภาพ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่าต่างดูแลผู้ป่วยดีมาก ขณะเดียวกันอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย 3 กองทุนจากไส้ติ่งยังน้อยมาก ไม่แตกต่างกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ทางสมาคมฯ ต้องการสนับสนุนต่อ อาทิ การวิจัยผู้ป่วยโรคตับแข็ง เพื่อนำไปสู่การป้องกันและลดอัตราป่วย เป็นต้น
       
“สปสช. มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ที่เป็นข้อมูลบ่งชี้ถึงภาวะการป่วยของคนในประเทศได้ดี แต่ขาดบุคลากรในการสังเคราะห์ แต่สมาคมฯ มีนักวิชาการที่จะนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาสุขภาพของคนในประเทศ แต่ต้องการข้อมูลจาก สปสช. ดังนั้น จึงควรจับมือทำงานร่วมกัน ที่ไม่เพียงแค่ลดอัตราการป่วยของคนในประเทศ แต่รวมถึงการลดภาระด้านการรักษาพยาบาลลง”

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ทาง สปสช. มีความพร้อมในส่วนของข้อมูลการเข้ารับการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการต่างๆ ทั่วประเทศที่ได้ส่งเข้ามา เพื่อใช้ในการจัดสรรงบประมาณและกำหนดทิศทางนโยบายรักษาพยาบาล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถดึงมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการวิจัยได้ รวมไปถึงการวิจัยของทางสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารฯ และ สปสช. มีความยินดี เพราะเป็นการนำข้อมูลที่ สปสช. มีอยู่ไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์สถานการณ์โรค นำไปสู่การพัฒนาเพื่อดูแลและรักษาผู้ป่วย ทั้งยังเป็นการช่วย สปสช. ทำงานในด้านการวิเคราะห์ ซึ่งหลังจากนี้ ทาง สปสช. และทางสมาคมฯ จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อประสานในการนำส่งข้อมูล