ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยันพันธกิจอภ.คือผลิตยาช่วยชีวิต สร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ เร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนยา ยกเครื่องพัฒนาระบบบริหารการจัดซื้อจัดหายาที่รองรับโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ                

26 ก.ค. 2557 นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมด้านสุขภาพเปิดเผยพฤติการณ์ เป็นผลให้บอร์ดองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ลาออก 10 คนมีผลวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 แต่ยังเหลืออีก 2 คน ที่ยังไม่ได้ลาออก ได้แก่ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ. และนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และปัญหาสะสมเรื้อรังหลายประการจากการบริหารงานที่ผิดพลาด อาทิเช่น การไม่มียาจ่ายให้ รพ.ตามสั่ง โรงงานผลิตยาไม่สามารถผลิตยาได้ ตามแผนและอื่นๆ นั้น ปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ปลดบอร์ดสองคนที่ยังไม่ได้ลาออก เนื่องจากเป็นตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาด้วย อภ.ต้องยกเครื่องใหม่แล้วสรรหาและแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาเป็นกรรมการชุดใหม่ รวมไปถึงจำเป็นต้องแต่งตั้ง ผู้อำนวยการใหม่ ที่เสียสละเข้ามากอบกู้องค์กร ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และที่สำคัญต้องมาเพื่อแก้ปัญหาและกอบกู้สถานการณ์ยาขององค์การฯ ที่อยู่ในสภาวะร่อแร่ได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด

“บอร์ดและผู้อำนวยการคนใหม่ ต้องเดินหน้าสะสางปัญหาเร่งด่วนได้แก่ โรงงานยารังสิตที่ไม่สามารถสร้างเสร็จทันกำหนดเนื่องจากปัญหาในการแก้ข้อตกลงที่อาจจะเอื้อกับบริษัทเก่าที่ทิ้งงานไปในขณะที่ โรงงานของ อภ. ที่ถนนพระราม 6  จะต้องทยอยปิดปรับปรุงเพื่อให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนด GMP ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถ้าโรงงานยารังสิตไม่แล้วเสร็จจะเกิดปัญหา ไม่มีโรงงานรองรับการผลิตยาได้เพียงพอ ทำให้ปัญหาไม่มียาจำหน่ายให้โรงพยาบาล กระทบต่อผู้ป่วยทั่วประเทศรุนแรงขึ้น และ ปัจจุบันโรงงานยาที่รังสิต ต้องเสียค่าสาธารณูปโภค และอื่นๆ เดือนละหลายแสนบาทโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโรงงานเลย” นพ.วชิระ บถพิบูลย์ กล่าว

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า หากในช่วง 2 ปีเศษ ที่ปลัด สธ. ที่เป็นบอร์ด อภ.มาเข้าประชุมสม่ำเสมอ ใส่ใจในการให้คำแนะนำ อภ. ตามหน้าที่ของบอร์ดมากกว่านี้ ไม่ใช่เข้าประชุมเฉพาะนัดที่ปลัดต้องการ อภ.คงไม่แย่ขนาดนี้ มาตอนนี้ สายไปแล้ว ฉะนั้น ไม่สมควรอยู่เป็นบอร์ด หรือกลับเข้ามาอีกต่อไป

“บอร์ด และผู้อำนวยการต้องประกอบไปด้วยผู้มีความรู้ความสามารถ ไม่ถูกครอบงำโดยการเมือง กระทรวงสาธารณสุขและบริษัทยา ต้องแก้เพื่อแก้ปัญหาและเดินหน้า พันธกิจและวิสัยทัศน์ขององค์การเภสัชกรรม เมื่อแรกตั้งองค์กร ต้องไม่แสวงหากำไร เป็นองค์กรที่ผลิตยาช่วยชีวิต ยาจำเป็นและยากำพร้า ต้องเป็นหน่วยงานที่รักษาความมั่นคงทางยาของประเทศไว้ รวมไปถึงมีหน้าที่ต้องทำประชาพิจารณ์ ทุกปีด้วย” นายอภิวัฒน์ กล่าว

ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ตัวแทนชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่า ขณะนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งเผชิญปัญหาการขาดยารักษาโรคเรื้อรังที่จำเป็นหลายรายการ โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า หรือแจ้งผัดผ่อนไปทีละเดือน ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถบริหารจัดการยาได้อย่างเหมาะและมีประสิทธิภาพ  เมื่อดูรายการยาตัดจ่าย(ยาที่อนุมัติคำสั่งซื้อแล้ว ถูกยกเลิก)ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งพบว่า  ว่าไตรมาสที่ 1/56 (ตค.55-ธค.55) มูลค่ายาที่จัดซื้อ =1,900,124.25บาท ขณะที่ไตรมาส1/57(ตค.56-ธค.56) มูลค่ายาที่จัดซื้อ =3,597,012.34บาท จากที่เห็น ตัวเลขพุ่งสูงเนื่องจากเราสั่งซื้อยา อภ.ไปแล้ว แต่ อภ.แจ้งตัดจ่ายเรา ทำให้ รพ.ต้องวิ่งวุ่นสั่งซื้อยาจากบริษัทเอกชนมาเพิ่ม แต่แล้ว ในส่วนที่แจ้งตัดจ่ายไปแล้วก็กลับส่งยามาให้เราเท่ากับว่า รพ.สั่งยาดับเบิ้ล

“ในส่วนไตรมาส 2/56 (มค.56-มีค.56) มูลค่าซื้อ = 4,856,907.68บาท เทียบกับไตรมาส 2/57 (มค.57-มีค.57) มูลค่าซื้อ = 4,266,507.78บาท จะเห็นได้ว่ามูลค่าซื้อ พอๆกัน เนื่องจาก รพ.เริ่มรู้ตัวแล้วว่า อภ. มีพฤติกรรมเช่นนี้  ยาตัวไหนที่ รพ.เคยได้รับแจ้งแล้ว ก็จะซื้อจากบริษัทเอกชน แต่ตัวไหนที่ไม่เคยได้รับแจ้ง เราก็จะสั่งไปก่อน   และคอย monitor ยา หากเห็นท่าไม่ดี ก็จะรีบโทรถามก่อนแล้วแจ้งให้เขาออกใบตัดจ่ายมาเลย

วิธีการเช่นนี้ดีตรงที่เราคุมคลังให้เป็นไปตามเป้าหมายเราได้ แต่เพิ่มภาระงานให้คนทำงานมาก แทนที่จะทำแค่ว่าสั่งซื้อยาแล้วรอรับยาเท่านั้น เวลาที่เหลืออยู่ เอาไปดูคนไข้  เท่ากับว่าต้องมาคอยนั่งดูระบบยา คอยโทรศัพท์ถาม เสียทั้งเวลาและค่าโทรศัพท์ ทำงานซ้ำซ้อน” ตัวแทนชมรมเภสัชชนบท กล่าว