ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมวิชาการ "บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ" เผยค่าใช้จ่ายทางการแพทย์จากการสูบบุหรี่สูงถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาท ตายก่อนวัย77% ระบุขึ้นภาษีบุหรี่ ยาขนานเอกใช้ควบคุม ทำให้ลดการบริโภคในไทยลง 8%

วันนี้ (29 ก.ค.) ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงข่าวภายหลังเปิดประชุมวิชาการ บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 เรื่อง “ภาษีบุหรี่ ลดคนสูบ ลดคนตาย” จัดโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า การบริโภคยาสูบส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งผู้สูบเองและผู้ที่สัมผัสควัน จนป่วยเป็นโรคและเสียชีวิต จากการศึกษาภาระทางเศรษฐกิจจากโรคที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องจากการสูบบุหรี่ในปี 2552 ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาดัชนีประเมินภาระโรคและสุขภาพประชากรไทย พบว่า มีคนตายจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในกลุ่มคนอายุ 30 ปีขึ้นไป 50,710 คน หรือประมาณ 12% ของการตายทั้งหมด โดยเป็นผู้ชาย 42,989 คน และเป็นผู้หญิง 7,721 คน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นสาเหตุการตายหลัก 11,895 คน ต่อมาคือมะเร็งปอด 11,742 คน และโรคหัวใจและหลอดเลือด 11,666 คน และโรคมะเร็งอื่นๆ 7,244 คน
       
นพ.นพพร กล่าวอีกว่า จากการประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดจากความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์เท่ากับ 52.2 พันล้านบาท โดยคิดเป็นค่าใช้จ่ายทางตรงทางการแพทย์เท่ากับ 10,137 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายทางอ้อมทางการแพทย์เท่ากับ 1,063 ล้านบาท, การสูญเสียผลิตภาพจากการขาดงานของผู้ป่วยเท่ากับ 370 ล้านบาท, การสูญเสียผลิตภาพจากการขาดงานของผู้ดูแลผู้ป่วยเท่ากับ 147 ล้านบาท และการสูญเสียผลิตภาพจากการตายก่อนวัยอันควร คิดเป็น 77% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด และ 73% ของงบประมาณทางด้านสาธารณสุข 
       
“ข้อมูลผลกระทบทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากการบริโภคยาสูบสามารถชี้ให้เห็นความรุนแรงและขนาดของปัญหาในการบริโภคยาสูบอย่างเป็นรูปธรรมได้ หากมีความเข้าใจถึงต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากการบริโภคยาสูบและนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบจะสามารถประเมินถึงภาระที่ผู้ป่วยและรัฐบาลแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดจนความสูญเสียจากโรคที่เกิดอันเนื่องมาจากการบริโภคยาสูบและสัมผัสควันบุหรี่ได้” นพ.นพพร กล่าว
       
นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า การขึ้นภาษีสรรพสามิตผลิตภัณฑ์ยาสูบ นับเป็นยาขนานเอกในการควบคุมยาสูบ โดยการเพิ่มภาษียาสูบให้ได้ราคาที่สูงขึ้น 10% จะลดการบริโภคลง 4% ในประเทศที่มีรายได้สูง และลดลง 8% ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ หรือปานกลาง เช่น ในประเทศไทย อีกทั้งการเพิ่มภาษีสูงขึ้นจนทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้น 10% จะทำให้ผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกลดลง 42 ล้านคน และช่วยให้คนไม่ตายจากยาสูบ 10 ล้านชีวิต สำหรับประเทศไทยมีอุปสรรคในการขึ้นภาษีบุหรี่ คือ 1. บริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้พยายามอยู่ตลอดมาในการขัดขวางการขึ้นภาษียาสูบ อาทิ ผู้บริหารของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการในคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง ของวุฒิสภาเมื่อ 2551 เป็นต้น 2. บริษัทบุหรี่ให้ทุนสนับสนุนชาวไร่ยาสูบ ออกมาให้ข่าวทางสื่อมวลชน และยื่นหนังสือถึง นักการเมืองคัดค้านการขึ้นภาษีบุหรี่ของรัฐบาล และ 3. หลังการขึ้นภาษี บริษัทบุหรี่พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ขึ้นราคา และออกบุหรี่ตราใหม่โดยมีราคาลดลง เป็นเหตุให้ผู้สูบมีความสามารถที่จะซื้อบุหรี่ได้ (affordability) ไม่ลดลง อัตราการสูบจึงไม่ลดลง ไม่เกิดผลทางสุขภาพ
       
นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กล่าวว่า กฎกระทรวงการคลัง เรื่อง ขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2555 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้นมีมติเห็นชอบการขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลและลดการบริโภคยาสูบที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยปรับอัตราจัดเก็บภาษีตามมูลค่าของบุหรี่ซิกาแรตจากเดิมเก็บร้อยละ 85 และไม่มีการเก็บตามปริมาณ เป็นการจัดเก็บตามมูลค่าร้อยละ 87 และให้จัดเก็บตามปริมาณ 1 บาทต่อมวนเป็นครั้งแรกด้วย โดยกรมสรรพสามิตจะนำทั้งมูลค่าและปริมาณมาคำนวณภาษี หากการคำนวณระหว่างการจัดเก็บตามมูลค่าและการจัดเก็บตามปริมาณตัวใดสูงกว่ากันก็ให้เก็บภาษีในส่วนนั้น เพื่อแก้ปัญหาบุหรี่ราคาถูกเข้ามาตีตลาดและผู้ประกอบการแสดงมูลค่าต้นทุนบุหรี่ต่ำกว่าราคาจริง ทำให้ราคาบุหรี่ทั้งบุหรี่ในและต่างประเทศปรับขึ้นซองละ 7 - 9 บาท