ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ชี้ไทยเสี่ยงต่อไวรัสอีโบลาต่ำ แม้ไทยยังไม่เคยพบผู้ป่วยโรคนี้ก็ตาม แต่ไม่ประมาท สั่งเฝ้าระวังป้องกัน 3 มาตรการ แนะประชาชนที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หากมีอาการป่วยหลังเดินทางกลับ คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อและช่องท้องรุนแรง อ่อนเพลียมาก วิงเวียนศีรษะ ขอให้สงสัยไว้ก่อนและให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง 

ตามที่มีรายงานข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ใน 3 ประเทศของทวีปแอฟริกา คือกินี (Guinea) ไลบีเรีย (Liberia) และเซียร์ราลีโอน (Sierra Leone) โดยองค์การอนามัยโลก สรุปยอดผู้ป่วย ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2557 พบผู้ป่วย  1,093 ราย  เสียชีวิต 660 ราย พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รายล่าสุดที่พบในประเทศไนจีเรีย ( Nigeria) เสียชีวิตเมื่อ 25 กรกฎาคม 2557 ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาเฉพาะ   

30 กรกฎาคม 2557 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสอีโบลา และแม้ว่าไทยจะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ต่ำก็ตาม แต่ก็ไม่ประมาท กระทรวงฯ ได้จัดระบบเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้ 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.ให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรคจากองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เนื่องจากโรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาโรคเฉพาะ  จึงต้องใช้ระบบการเฝ้าระวังและการตรวจคัดกรอง เพื่อค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว  หากพบผู้ป่วยมีอาการอยู่ในข่ายสงสัยให้รายงานทันที  2. ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เข้มมาตรการดูแลรักษาหากมีผู้ป่วยมีอาการในข่ายสงสัย  โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อที่มีอันตรายสูง เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ส เป็นต้น และ 3. ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมความพร้อมในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งไทยมีความร่วมมือใกล้ชิดกับศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (US-CDC) ในการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสชนิดนี้

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคอีโบลา เป็นกลุ่มโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรง  อัตราการแพร่ระบาดสูงและเร็ว มีอัตราตายค่อนข้างสูงคือร้อยละ 50-90  เชื้อมีระยะฟักตัว 2-21 วัน  อาการของผู้ป่วยคือมีไข้สูงทันที อ่อนเพลียปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะมาก ตามด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงขึ้นตามตัว ในรายที่อาการรุนแรงหรือในบางรายที่เสียชีวิตจะมีอาการเลือดออกง่าย โดยมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลางและช็อก อวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่ 

ขณะนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่มีคำแนะนำห้ามเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง อย่างไรก็ดีในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสอีโบลา  มีข้อแนะนำดังนี้  ในกลุ่มประชาชนทั่วไป  ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่นำเข้า โดยไม่ผ่านการตรวจโรคทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย  และหลีกเลี่ยงการการรับประทานเนื้อสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่า หรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร 

ส่วนประชาชนที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคอีโบลา  ขอให้ปฏิบัติตัวดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย2. หลีกเลี่ยงการการรับประทานเนื้อสัตว์ป่า ที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวก ลิง หรือค้างคาว หรือเมนูอาหารพิสดารที่ใช้สัตว์ป่า หรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือด หรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย เนื่องจากเชื้ออาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือศพของผู้ป่วยที่เสียชีวิต 4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายและล้างมือ บ่อยๆ

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า  หากประชาชน  มีอาการป่วย เช่น มีไข้สูงเฉียบพลัน   อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว ขอให้รีบพบแพทย์ทันที   โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดโรคชนิดนี้   ขอให้แจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การดูแล ได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที   เพื่อป้องกันการเสียชีวิต

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสอีโบลา มี 5 สายพันธุ์ โดยมี 3 สายพันธุ์ที่รุนแรง ได้แก่สายพันธุ์ซูดาน สายพันธุ์ซาร์อีและสายพันธุ์บันดิบูเกียว ทำให้เกิดการระบาดในแอฟริกา อัตราการป่วยตายร้อยละ 25-90   เชื้อไวรัสชนิดนี้จะติดต่อกันได้ในช่วงหลังปรากฎอาการไข้แล้ว โดยติดทางการสัมผัสเลือด อุจจาระ หรือเหงื่อของผู้ป่วยโดยตรง หรือมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสศพผู้เสียชีวิตจากโรคนี้โดยไม่มีการป้องกัน ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร 0-2590-3159, 3538 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422