ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ เครือข่ายห้องปฏิบัติการด้านสุขภาพคน และสุขภาพสัตว์ พัฒนาศักยภาพ "ระบบการตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรคสัตว์สู่คนทางห้องปฏิบัติการ" ให้มีความพร้อมในการเฝ้าระวัง ตรวจจับและรองรับการระบาดของโรคและภัยสุขภาพ เน้น 5 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคแอนแทรกซ์ โรคฉี่หนู กาฬโรค โรคติดเชื้อไวรัสเวสไนล์ และไวรัสเดงกี่

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรคสัตว์สู่คนทางห้องปฏิบัติการ" ว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่า 61% ของโรคติดเชื้อในคนเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และ 75% ของโรคอุบัติใหม่ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ดังนั้นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังและพร้อมตรวจจับให้ได้ทันเวลาตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation 2005) หรือ IHR การจัดการอบรมครั้งนี้สืบเนื่องจากในปี พ.ศ.2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้รับทุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ภายใต้โครงการ IDENTIFY ผ่านองค์การอนามัยโลก ให้จัดตั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ตามแนวทาง IHR ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 64 ห้องปฏิบัติการ และในปีนี้ (พ.ศ.2557) ได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการเครือข่ายและเชื่อมโยงเครือข่ายห้องปฏิบัติการด้านสุขภาพคนกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการด้านสุขภาพสัตว์

นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทั้ง 2 เครือข่าย คือเครือข่ายห้องปฏิบัติการด้านสุขภาพคนและเครือข่ายห้องปฏิบัติการด้านสุขภาพสัตว์ ได้มาอบรมร่วมกัน ซึ่งจะได้สร้างความคุ้นเคยแลกเปลี่ยนข้อมูล และเป็นการพัฒนาศักยภาพให้มีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีมากกว่า 200 ชนิด เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พาราสิต และรา เป็นต้น

ในการอบรมนี้ได้เลือกโรคสำคัญ 5 โรคได้แก่ โรคแอนแทรกซ์ กาฬโรค และโรคติดเชื้อไวรัสเวสไนล์ซึ่งเป็นโรคที่ยังไม่พบหรือเคยพบในอดีต และโรคที่พบเป็นประจำทุกปี เช่น ไข้เลือดออกและโรคฉี่หนูเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ด้านการตรวจวิเคราะห์ และด้านการประสานเครือข่าย เพื่อให้การเฝ้าระวังโรคมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

นพ.อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า กฎอนามัยระหว่างประเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและภัยสุขภาพข้ามประเทศ รวมทั้งหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อการคมนาคมและการค้าระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยได้ลงนามดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศไปแล้ว ดังนั้นห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ต้องได้รับการพัฒนาให้สามารถเฝ้าระวัง ตรวจจับและรองรับการระบาดของโรคและภัยสุขภาพได้การจัดตั้งเครือข่ายจึงเป็นแนวทาง ในการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการที่ชัดเจนและเป็นไปตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นไปตามยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ.2556-2559 และยุทธศาสตร์พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกันรักษาและควบคุมโรคภายใต้แนวคิด "สุขภาพหนึ่งเดียว"