ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมายเหตุ บทความเป็นดังกล่าวเป็นโฆษณาแฝงที่เผยแพร่ในนสพ.สยามรัฐ วันที่ 30 ก.ค.57 ในชื่อ การปฏิรูปเขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขเรื่องดีดีที่ต้องการความเข้าใจ รายละเอียดตามไฟล์แนบด้านล่าง สำนักข่าว Health Focus เห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจจึงนำมาเผยแพร่ต่อ 

หลังจากมีการดำเนินการตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เกิดผลดีหลายประการ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ลดข้อจำกัดและผลกระทบทางการเงินของผู้ป่วย รัฐบาลเกือบทุกสมัยเพิ่มงบประมาณเข้ามาสู่ระบบสุขภาพจนกระทั่งสัดส่วนเพิ่มเป็น 14% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ยังพบว่าปัญหาในการจัดบริการและการบริหารการเงินการคลังสุขภาพยังมีอยู่

ปัญหาสำคัญคือ ยังคงมีความเหลื่อมล้ำในการได้รับบริการทั้งระหว่างระบบประกันที่ต่างกันของทั้ง 3 กองทุน (หลักประกันสุขภาพ,ประกันสังคม, ข้าราชการ) และระหว่างพื้นที่ ระบบบริการสุขภาพที่วางไว้จากส่วนกลาง (กระทรวงสาธารณสุข) แล้วตรงไปจังหวัดซึ่งมีขนาดแตกต่างกันมาก เช่น ประชากรที่โคราชต่างจากระนอง 10 เท่า ทำให้ไม่สามารถจัดบริการให้มีความเท่าเทียมกันได้

นอกจากนี้ขนาดของจังหวัดก็ไม่เหมาะกับการออกแบบบริการที่สามารถครอบคลุมตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงการบริการเฉพาะทางขั้นสูง การบริหารการเงินการคลังยิ่งพบปัญหาว่าแม้เงินในภาพรวมของประเทศจะมีพอ แต่ข้อมูลสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลพบว่ามีหลายแห่งมีปัญหาและการปรับเกลี่ยในจังหวัดก็ไม่เพียงพอจะแก้ปัญหาได้ส่งผลให้ไม่สามารถสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง

เขตสุขภาพ หมายถึง การจัดวางระบบสุขภาพที่ประกอบด้วยเครือข่ายบริการสุขภาพจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกัน 4-8 จังหวัดมีประชากรประมาณ 5 ล้านคน มีการวางระบบส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลในเขต ลดปัญหาการปฏิเสธคนไข้และพัฒนาให้ทุกเขตมีขีดความสามารถมากขึ้น เพื่อจะได้ลดการต้องส่งคนไข้เข้ามากรุงเทพฯ มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านบุคลากร เช่น แพทย์เฉพาะทางบางสาขาที่ไม่อาจมีได้ทุกจังหวัด รวมถึงครุภัณฑ์ทางการแพทย์อาคารสถานที่ เมื่อมีการบริหารจัดการร่วมกันในภาพเขตก็จะสามารถลดต้นทุน เช่น การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ร่วมซึ่งพิสูจน์แล้วว่าจากการดำเนินการในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาสามารถลดต้นทุนได้อย่างชัดเจน การจัดสรรงบประมาณก็สามารถทำให้เป็นธรรมมากขึ้นโดยดูตามส่วนขาดของแต่ละเขตที่ใช้แผนบริการสุขภาพเป็นแนวทางการพัฒนา

เมื่อมีการบริหารจัดการเครือข่ายบริการในรูปของเขตสุขภาพ โดยมีสำนักงานสาธารณสุขเขตซึ่งจะได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลาง ก็จะทำให้การดำเนินการที่พ้นจากระดับจังหวัด ซึ่งเคยต้องส่งมาให้กระทรวงสั่งการสามารถจัดการให้สิ้นสุดได้ที่ระดับเขต และไม่มีตรงไหนไปก้าวล่วงการบริหารงานของจังหวัด มองอย่างไรก็เป็นการกระจายอำนาจ ไม่ใช่การรวบอำนาจอย่างที่บางฝ่ายเข้าใจคลาดเคลื่อน

และที่สำคัญระบบที่ออกแบบไว้นั้นคณะกรรมการเขตสุขภาพซึ่งมีบทบาทหน้าที่เป็นคณะกรรมการนโยบายในเขตสุขภาพก็ประกอบด้วยทุกภาคส่วน โดยประธานคณะกรรมการมาจากการคัดเลือกกันเองในระหว่างกรรมการ ไม่ได้กำหนดให้เป็นคนของกระทรวงสาธารณสุข และมีผู้แทนผู้ซื้อบริการ 3 คนจาก 3 กองทุน ผู้แทนผู้รับบริการ 9 คน ผู้แทนผู้กำกับดูแลประเมินผล 5 คน ผู้แทนผู้ให้บริการ 7 คนซึ่งมีผู้แทนโรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดและโรงพยาบาลเอกชน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขเขตเป็นเลขา นี่หมายถึงการเปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะภาคประชาชนที่มีถึง 9 คน

และในข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขนั้นการจัดตั้งสำนักงานสาธารณสุขเขต ก็ใช้การปรับเกลี่ยตำแหน่งในกระทรวงสาธารณสุขเอง ไม่ได้ขอตำแหน่งเพิ่มให้เป็นภาระกับประเทศ ในระดับอำเภอซึ่งเป็นจุดคานงัดสำคัญก็ยังใช้ระบบสุขภาพอำเภอ (District Health System) ที่หลายฝ่ายก็เห็นพ้องกันในการดำเนินการ 

นอกจากนั้นกระบวนการควบคุมกำกับที่กระทรวงยังคงทำหน้าที่นี้อยู่ตามกฎหมายก็จะถูกพัฒนาให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นทั้งระบบตรวจราชการการควบคุมกำกับ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และในอนาคตเมื่อสถานการณ์เหมาะสม กระทรวงสาธารณสุขก็จะลดบทบาทการเป็นผู้จัดบริการโดยตรงมาทำหน้าที่วางนโยบายระดับชาติและกำกับดูแลแต่เพียงอย่างเดียว

กระทรวงสาธารณสุขมีความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพื่อให้เกิดบริการที่มีทั้งคุณภาพและความครอบคลุมมากขึ้นกับประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำและใช้เงินงบประมาณและทรัพยากรของประเทศให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด มีปัญหากับโรงพยาบาลน้อยที่สุด ความตั้งใจเหล่านี้ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การให้ความเห็นเพื่อการปรับปรุงเป็นเรื่องที่กระทรวงยินดีรับฟังหากมีความปรารถนาดีและมีเป้าหมายเดียวกันคือ ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข