ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. เผยปัญหาเด็กและสตรีในปัจจุบัน ถูกกระทำรุนแรงอยู่ในเกณฑ์น่าวิตก สถิติล่าสุดในปี 2556 พบรวม 31,966 ราย เป็นเด็ก 19,229 ราย สตรี 12,638 ราย เฉลี่ยวันละ 87 ราย รุนแรงอยู่ในอันดับที่ 36 จาก 75 ประเทศ ขณะที่ปี 2555 เฉลี่ยวันละ 56 รายกล่าวได้ว่าเพียง 1 ปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 ชี้ปัญหาอันดับ 1 ที่พบในเด็ก 10-15 ปีคือการล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนในสตรีคือการถูกทำร้ายร่างกาย เร่งขยาย “ศูนย์พึ่งได้” บริการเยียวยารักษาแผลกาย-ใจ –สังคมเบ็ดเสร็จที่จุดเดียวฟรี ลงสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ปีนี้เริ่มในจังหวัดชุมพรและระยอง แนะหากพบเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรง ไม่ว่าจากผู้ใดก็ตามให้โทรแจ้ง 1669 หรือ 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 1 สิงหาคมทุกปี เป็นวันสตรีไทย กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงปัญหาเด็กและสตรี เนื่องจากถูกกระทำรุนแรงและนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานสตรีขององค์การสหประชาชาติ ( UN Women ) รายงานว่าในปี 2556 ประเทศไทยมีเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรงสูงขึ้น ซึ่งเป็นความรุนแรงต่อคู่ของตนเอง โดยไทยอยู่ในลำดับที่ 36 จาก 75 ประเทศที่มีการกระทำรุนแรงทางกายมากที่สุด และอยู่ในลำดับที่ 7 จาก 71 ประเทศที่มีการกระทำรุนแรงทางเพศมากที่สุด ซึ่งปัญหาของการถูกกระทำรุนแรง ทั้งทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเร่งด่วน โดยเฉพาะการดูแลด้านจิตใจ เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลทางใจ โดยเฉพาะเด็ก ซึ่งยังดูแลตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งพิงการดูแลจากผู้ใหญ่ และที่ผ่านมาสังคมยังมีความเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในครอบครัว หรือเป็นเรื่องน่าอับอาย จึงทำให้ผู้ที่ถูกกระทำไม่ได้รับการดูแลแก้ไขตั้งแต่ต้น เกิดปัญหาตามมา เช่นการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์

นพ.วิชระกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้ง “ศูนย์พึ่งได้” ในโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับ เพื่อให้บริการช่วยเหลือเด็กและสตรี รวมถึงบุคคลในครอบครัว อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่ถูกกระทำรุนแรงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และทางเพศ อย่างครบวงจรเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว เป็นบริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมตั้งแต่การรักษาพยาบาล เช่นการป้องกันการตั้งครรภ์ ป้องกันการติดเชื้อต่างๆ และการประสานหน่วยงานช่วยเหลือด้านกฎหมายและด้านสวัสดิการสังคมอื่นๆ ที่จำเป็น โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ บูรณาการทำงานแบบทีมสหวิชาชีพ ปัจจุบันได้ตั้งศูนย์พึ่งได้แล้ว 829 แห่ง อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปรวม 95 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 734 แห่ง

นอกจากนี้มีแผนขยายบริการลงสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลซึ่งอยู่ใกล้ชิดชุมชนที่สุด มี 9,750 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นหน่วยรับแจ้งเหตุ คัดกรอง ส่งต่อ เชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และวางแผนดูแลป้องกันกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ 2.การกระทำรุนแรงทางเพศ รวมถึงปัญหาท้องไม่พร้อม/คุณแม่วัยใส 3.การใช้แรงงานเด็ก และ4.การค้ามนุษย์ โดยในปี 2558 นำร่องที่จังหวัดชุมพรและระยองก่อน เพื่อเป็นต้นแบบและขยายไปจังหวัดอื่นๆ ตั้งเป้าหมายให้ได้ร้อยละ 20

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ผลการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์การกระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างน่าวิตก เพียงเวลา 1 ปียอดพุ่งขึ้นร้อยละ 35 ตลอดปี 2556 ศูนย์พึ่งได้ช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง รวม 31,966 ราย เฉลี่ยวันละ 87 ราย หรือชั่วโมงละ 3 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กร้อยละ 60 สตรีร้อยละ 40 ขณะที่ในปี 2555 มีจำนวน 20,582 ราย เฉลี่ยวันละ 56 ราย โดยความรุนแรงที่เกิดในกลุ่มเด็ก พบว่าเกือบร้อยละ 90 เป็นเด็กหญิง พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 10-15 ปีคิดเป็นร้อยละ 61 รองลงมาคืออายุ 15-18 ปี คิดเป็นร้อยละ 22 โดยถูกล่วงละเมิดทางเพศมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 13,226 ราย คิดเป็นร้อยละ 69 รองลงมาเป็นการทำร้ายร่างกาย 4,256 ราย ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่นแฟน รองลงมาคือเพื่อน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากสภาพแวดล้อม ได้แก่ สื่อลามก ความใกล้ชิด และโอกาสเอื้ออำนวย เป็นต้น

ส่วนความรุนแรงในกลุ่มสตรี พบมากที่สุดอยู่ในกลุ่มอายุ 24 - 45 ปี คิดเป็นร้อยละ 74 ปัญหาอันดับ 1 ที่พบได้แก่ การทำร้ายร่างกาย 9,699 ราย คิดเป็นร้อยละ 77 รองลงมาคือถูกกระทำทางเพศ 2,226 ราย คิดเป็นร้อยละ 18 ผู้กระทำเป็นคู่สมรสมากที่สุดร้อยละ 53 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการนอกใจ หึงหวง ทะเลาะวิวาทกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันแก้ไข ป้องกัน หากประชาชนพบเห็นเหตุการณ์ผู้ถูกกระทำรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่ท่านรู้จักหรือไม่ก็ตาม โปรดแจ้ง 1669 หรือ 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง