ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าประเด็นร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับคสช.อย่างสูง กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ต้องออกมาย้ำผ่านหน้าจอทีวีเมื่อวันที่18 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า 30 บาทยังมีอยู่ คสช.ไม่เคยออกประกาศให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น

นับเป็นท่าทีอย่างเป็นทางการครั้งแรกของคสช.ที่มีต่อประเด็นด้านระบบสาธารณสุข ซึ่งแน่นอนว่าเพื่อต้องการดับกระแสลุกลามของข่าวสารที่แพร่ในโลกออนไลน์ที่ว่าจะมีการล้ม 30 บาท เพื่อล้างมรดกจากระบอบทักษิณ

ประเด็น 30 บาท เป็นประเด็นอ่อนไหวมาทุกยุคทุกสมัย ช่วงรัฐประหารปี 2549 ก็หวั่นวิตกว่า 30 บาทจะถูกยกเลิก แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ยกเลิก แต่ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงสโลแกนเพื่อหวังลบภาพความทรงจำว่านโยบายนี้เป็นคุณูปการของทักษิณ

ความเคลื่อนไหวในการพยายามสร้างแบรนด์และลบแบรนด์ 30 บาทรักษาทุกโรคในช่วงเกือบ 10 ปีมานี้ ได้สะท้อนแล้วว่า ไม่ว่าใครขึ้นมามีอำนาจ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะไม่มีวันถูกล้ม ยุบ หรือยกเลิกอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี จากการเปิดหลักฐานรายงานการประชุมเมื่อวันที่31 พ.ค. 2557 ระหว่างพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็พบว่ามีความพยายามผลักดันให้มีประเด็นร่วมจ่ายขึ้นจริง และเป็นไปในลักษณะหวังมัดมือชกรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา จนมีการยกตัวอย่างว่าอาจจะต้องร่วมจ่าย 30-50%

เรื่องร้อนๆมีต้นตอมาจากห้องประชุมแห่งนี้ กระทั่งต่อมากลุ่มเอ็นจีโอด้านสุขภาพได้ออกมาคัดค้านแนวคิดนี้ เมื่อวันที่10 ก.ค. และต่อมาก็กลายเป็นกระแสแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ว่ามีความพยายามจะล้ม 30 บาทเพราะเป็นมรดกประชานิยมทักษิณ

เดือดร้อนถึงฝ่าย สธ.ต้องออกมาดับความร้อนแรงด้วยข่าวแจกจากฝ่ายสารนิเทศ ในวันที่12 ก.ค. โดยยืนยันจากคำสัมภาษณ์ของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ว่าไม่มีข้อเสนอเรื่องร่วมจ่ายในการประชุมเมื่อวันที่30 พ.ค. และไม่คิดล้มสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นท่าทีออกสื่ออย่างเป็นทางการครั้งแรกของปลัด สธ.ที่พูดถึงสปสช. ซึ่งคนในวงการสาธารณสุขรับรู้อยู่แล้วว่า สธ.และ สปสช.กำลังงัดข้อกันอยู่

อย่างไรก็ตาม ข่าวแจกของท่านปลัด สธ.ไม่สามารถดับกระแสล้มระบบบัตรทองได้ด้วยเหตุผล 2 ประการ

ประการแรก ประเด็นเรื่องนี้ลุกลามไปไกลเร็ว และแรงมาก ไม่ได้อยู่ที่ประเด็นร่วมจ่ายหรือไม่ แต่อยู่ที่อัตราร่วมจ่าย 30-50% ที่ออกมาจากปากของ ผบ.ทร.

ความจริงประเด็นร่วมจ่ายไม่ใช่เรื่องใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลายฝ่ายล้วนพูดถึงเรื่องนี้มานานแล้วเพราะทุกคนรู้ดีว่าต้องร่วมจ่าย จะตีความเรื่องร่วมจ่ายแบบไหนเท่านั้น แต่ไม่ใช่จ่าย 30-50% ตามที่ ผบ.ทร.พูดแน่ ถ้าให้ประชาชนร่วมจ่ายขนาดนั้น คิดง่ายๆ สมมติว่าผ่าตัดหัวใจ 2 แสนบาทประชาชนร่วมจ่าย 6 หมื่นถึง1 แสน แค่คิดก็สยองแล้ว แบบนี้คงไม่ใช่หลักประกันสุขภาพ

คำพูดของ ผบ.ทร.ในที่ประชุมวันนั้นจะมีเจตนาอย่างไรไม่มีใครรู้ได้ ท่านอาจจะพูดในฐานะประธานที่ประชุม เพื่อให้ฝ่ายราชการไปหาวิธีการ หรือไปช่วยกันคิดว่าจะมีการร่วมจ่ายกันแค่ไหนอย่างไรก็เป็นไปได้ แต่ที่แน่ๆ ต้องไม่ลืมว่า หัวใจของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือ การคุ้มครองประชาชนไม่ให้ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย และไม่ใช่แค่คุ้มครองอย่างเดียว เมื่อเจ็บป่วยแล้วยังต้องได้รับการรักษาโดยที่ต้องไม่รอคิวรักษาจนตายไปก่อน

นี่ต่างหากคือหัวใจของหลักประกันสุขภาพเพียงแต่คนที่รู้ไม่พยายามอธิบาย โดยเฉพาะคนในที่ประชุมวันนั้นอย่างปลัดณรงค์ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. และอธิบดีทั้งหลายที่รับรู้นโยบายเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเพราะข้าราชการเหล่านี้อาจจะหงอ ไม่กล้าต่อล้อต่อเถียงกับฝ่ายกองทัพ

คนที่ควรถูกตำหนิ หนีไม่พ้นเลขาธิการ สปสช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ หน่วยงานเจ้าของเรื่องบัตรทองและอยู่ในที่ประชุมด้วยควรได้อธิบายต่อรองหัวหน้า คสช. ว่านโยบายที่ถูกต้องสำหรับการร่วมจ่ายคืออัตราใด และควรดำเนินการอย่างไร ซึ่งเป็นการอธิบายเพื่อทำหน้าที่แทนประชาชนจำนวนมากที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้

ฉะนั้น หากปลัด สธ.อ้างว่า มีการเล่นการเมืองในเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่การเล่นการเมืองของกลุ่มแพทย์ชนบท และภาคประชาชน แต่เป็นเกมการเมืองของฝั่ง สธ.ที่งัดข้ออยู่กับ สปสช. ซึ่ง สปสช.ก็พร้อมเล่นการเมืองตอบเพื่อปกป้องสถานะตัวเองแต่ก็ให้น้ำหนักมากกว่าจะยืดอกปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่ควรได้รับ

หากผู้บริหาร สปสช.จะปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ก็คงต้องอธิบายได้เป็นฉากๆ ว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นคนจนได้ประโยชน์อย่างไร ภาระงบประมาณที่จำเป็นต้องเพิ่มค่ารายหัวมีความจำเป็นอย่างไร ควรต้องเร่งผลักดันสุขภาพมาตรฐานเดียวหรือไม่ จะพิจารณาการร่วมจ่ายที่เหมาะสมอย่างไร ฯลฯ

หากไม่มีคำตอบที่กระจ่างในเรื่องนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะถูกตั้งคำถาม หรือทำให้บางฝ่ายใช้ช่วงจังหวะนี้จ้องล้ม 30 บาท หรือผลักดันการร่วมจ่ายด้วยตัวเลขเท่านั้นเท่านี้

ดังนั้น หากจะสานต่อรากฐานที่ชาญฉลาดของคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ต่อไป สปสช.ก็ต้องขับเคลื่อนในเชิงรุกเพราะเป็นหน้าที่ และเป็นเจ้าของหลักประกันสุขภาพซึ่งเป็นจุดแข็งที่สธ.ไม่มี และต้องทำให้ปลอดการเมือง

การดับร้อนของหัวหน้า คสช. ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ เมื่อวันที่18 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยคำยืนยันว่า 30 บาทยังอยู่ จึงสะท้อนว่ามีการเล่นการเมืองในองค์กรด้านสุขภาพจริง

...แต่ต้องไม่ใช่เอาประชาชนเป็นตัวประกัน

ประการที่สอง ท่ามกลางสภาพการบริการสาธารณสุขที่ผู้ป่วยยังต้องรอคิวนาน ภาพความแออัด มีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล สภาพแบบนี้ย่อมไม่เอื้อให้ประชาชนในระบบบัตรทองร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพราะความจริงทุกวันนี้ประชาชนก็ร่วมจ่ายผ่านการจ่ายภาษีอยู่แล้วเพียงแต่การปรับปรุงการให้บริการยังไม่ดีพอแต่กลับคิดแก้ปัญหาโดยโทษประชาชนว่าเข้าใช้บริการมาก เพราะเห็นว่าฟรี ทำให้มีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี

วิธีคิดเช่นนี้ทำให้ปัญหาไปกันใหญ่ เพราะเท่ากับเป็นการดูถูกประชาชนผู้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้ง 48 ล้านคน เนื่องจากไม่มีใครอยากเจ็บป่วย ไม่มีใครอยากไปเข้าคิวหาหมอตั้งแต่ตีห้า และกว่าจะได้พบหมอเอาเวลา 9 โมงเช้า หนำซ้ำเตียงผู้ป่วยไม่พอ จนมีผู้ป่วยต้องระหกระเหินล้นมาถึงระเบียง

สภาพการณ์เช่นนี้จึงไม่เอื้ออำนวยให้ สปสช.ผลักดันให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย โดยเฉพาะคนระดับปลัดกระทรวงยิ่งต้องตระหนักถึงสภาวะเช่นนี้อย่างมาก เพราะเป็นที่มาผลักดันการทำเรื่องเขตสุขภาพก็เพื่อต้องการแก้ปัญหาเหล่านี้ จนเป็นที่มาของสโลแกนที่ว่า "ได้พบหมอ รอไม่นาน ระบบยาเดียวกัน" ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและควรให้การสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม เขตสุขภาพตามนโยบายของอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขคนที่แล้ว เริ่มมาแล้วเกือบ 2 ปี แต่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรม ผู้ป่วยยังรอคิวนาน มีความแออัดในหลายๆ โรงพยาบาล ซึ่งปลัดณรงค์ย่อมเข้าใจดีเพราะเป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการผลักดันนโยบายนี้ แต่กลับไม่มีความคืบหน้า แม้จะมีความตั้งใจและขยันทำงานก็ตาม

ยังไม่รวมเรื่องอื่นๆที่หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงหมอยังแก้ปัญหาที่คาราคาซังอยู่อีกหลายเรื่องตั้งแต่เรื่องการบรรจุข้าราชการ ก็ยังไม่ราบรื่น การบรรจุรอบสอง แทนที่จะเป็นของขวัญให้บรรดาลูกจ้าง กลับมีแต่เสียงโวยว่าไม่เป็นธรรม พกส.ที่คุยว่าจะแก้ปัญหาให้ลูกจ้างสายสนับสนุน ก็กลายเป็นแค่ฝันค้าง

ล่าสุดกับเรื่องร้อนๆในการจัดสรรงบให้แต่ละเขต ถูกชมรมแพทย์ชนบทออกมาแฉว่าทำไมมีแต่เขต 10 ที่ได้งบมากกว่า 100 ล้านบาท อยู่เขตเดียว บางเขตได้หลักสิบล้าน และอีกหลายเขตกลับไม่ได้รับ ซึ่งนี้ระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาลโวยวายมาสักพักแล้วเพียงแต่ไม่มีข่าวปรากฏ

ล่าสุดในการประชุมเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประกันสุขภาพ สำนักปลัด สธ. ตอบคำถามประเด็นนี้ว่า ขอให้ใช้หลักรัฐศาสตร์แก้ปัญหาไม่ใช่หลักคณิตศาสตร์ ฟังแล้วบอกได้คำเดียวว่า"เงิบ" ที่เรื่องเงินเรื่องทองกลับใช้หลักรัฐศาสตร์มาแก้

ดังนั้น ภาพลักษณ์ของปลัดณรงค์ที่คนมองว่าเป็นคนดี มีความขยัน และตั้งใจทำงาน แต่หลายคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมหลายๆปัญหากลับไม่ได้รับการแก้ไข หรือเพราะวิธีการบริหารจัดการภายในมีปัญหาที่มองไม่เห็น คงต้องช่วยกันสืบเสาะว่าต้นตอมาจากเรื่องใดบุคคลใด บริวารมีปัญหาหรือไม่ ทำให้กระทรวงหมอมีแต่เรื่องวุ่นวายแตกแยกแตกคอกันอย่างเช่นทุกวันนี้

โดยเฉพาะเรื่องร่วมจ่าย 30 บาท รักษาทุกโรค หากกระทรวงสาธารณสุขจะเข้ามามีบทบาทเรื่องนี้โดยที่ไม่ให้มีข้อเคลือบแคลงสงสัย คงต้องมีหลักการให้ดีกว่านี้ อย่างน้อยๆตั้งประเด็นให้ชัดว่า 12 ปีของบัตรทองที่ดำเนินการกันมา ทั้งเสียงสะท้อนดีบ้าง บ่นบ้าง ผิดพลาดบ้าง จะเริ่มต้นปรับปรุงแก้ไขที่จุดไหนก่อนจะทำอย่างไรให้ผู้ให้บริการ นั่นคือ แพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีความสุขในการทำงาน จะทำอย่างไรให้ผู้ให้บริการที่เหน็ดเหนื่อยและมีความทุกข์กันอยู่จำนวนมากได้ทำหน้าที่ให้บริการที่ทำให้ประชาชนผู้รับบริการพอใจ และไม่ลำบากใจกันอย่างที่เป็นอยู่

อย่าให้มีเสียงติฉินนินทากันได้ว่า ออกมาโอ้โลมปฏิโลมกันเป็นครั้งเป็นคราว เพื่อเอาใจพี่น้องข้าราชการและลูกจ้าง แต่เนื้อแท้แล้วไม่ได้มีเจตนารมณ์หรือเป้าประสงค์ในการแก้ปัญหาจริงๆ หากแต่เป็นเกมการช่วงชิงโอกาสในการนำ รวมทั้งจ้องแต่จะหยิบชิ้นปลามันงบประมาณกว่าแสนล้านไปดำเนินการเสียเองถ้าคิดเช่นนี้ ฟาก สปสช.ก็คงไม่ยอมและย่อมหาทางขัดขวางมากกว่าจะให้ความร่วมมือ

หากปล่อยให้สภาพการณ์เป็นไปในลักษณะนี้นานเข้า คนที่เดือดร้อนไม่ใช่ใคร แต่เป็นประชาชนผู้ที่ด้อยทั้งโอกาส ขาดทั้งกำลังทรัพย์ต้องมาแบกรับความทุกข์ เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

ดังนั้น เพื่อให้เงินภาษีที่ประชาชนต้องจ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมตกถึงมืออย่างแท้จริงและทั่วถึง คสช.ก็ต้องทำการบ้านในเรื่องนี้ให้จงหนักจะทำอย่างไรให้คนกว่า 48 ล้านคน ได้รับบริการที่เท่าเทียม เป็นธรรมและมีมาตรฐานเดียวกับระบบสุขภาพอื่นๆไม่ว่าระบบสวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม

อย่าคิดกันแค่เรื่องการร่วมจ่ายเพราะอาจแก้ปัญหาไม่ตรงจุด แต่ท้ายที่สุดอาจจะกลายเป็นการพอกปัญหาให้เพิ่มมากขึ้น แล้วคนส่วนใหญ่ของประเทศได้แต่ร้องกันระงม

ผู้เขียน : กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยอิสระ

เผยแพร่ครั้งแรก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 กรกฎาคม 2557 และวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ในชื่อ "สุขภาพประชาชนต้องมาก่อน"