ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน -วิจัยชี้บริการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินร่วม 3 กองทุน  ไม่ชัดเจนเรื่องเก็บค่ารักษา  พบผู้ประกันตนบางรายต้องกู้เงินจ่ายให้ รพ.เอกชน  แนะรัฐบาลแก้กฎหมายห้ามเก็บเงินจากคนไข้เด็ดขาด  ชง สปส.ตั้งสายด่วน ส่งเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ประกันตนตั้งแต่เข้าจนออกจาก รพ.

นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย(สวปก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัยเรื่อง "การบริหารจัดระบบบริการทางการแพทย์กรณีฉุกเฉินตามนโยบายบริหารจัดการร่วมสามกองทุน" เปิดเผยว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกและสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการตามนโยบายรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินร่วม 3 กองทุนซึ่งใช้บริการในช่วงเดือนเมษายน 2555-มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา รวมทั้งหมดกว่า 1,000 คน โดยผลวิจัยสรุปว่า นโยบายการรักษาดังกล่าวมีการให้บริการที่รวดเร็ว รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน รวมทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนไม่มีการปฏิเสธการรักษาคนไข้ตามมาตรฐานสากล ทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น

นพ.ถาวร กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาพบว่า ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะใช้สิทธิได้ที่ใด เพราะกังวลว่าโรงพยาบาลเอกชนจะไม่รับ เนื่องจากเรื่องของค่ารักษาพยาบาลยังไม่มีการกำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนว่า ให้โรงพยาบาลที่ให้การรักษาเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานใด ทำให้เกิดความสับสนในการจัดการค่าใช้จ่าย แม้โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือไม่เก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยโดยไปเบิกจากกองทุนประกันสังคมผ่านหน่วยงานกลางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่ก็มีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งยังคงเรียกเก็บเงินค่ารักษาจากคนไข้ บางรายต้องกู้เงินมาจ่ายค่ารักษาจนเป็นหนี้สิน จึงขอเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขกฎหมายนโยบายการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อกำหนดการจัดการค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลให้ชัดเจน โดยห้าม โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ให้การรักษาเรียกเก็บเงินจากคนไข้โดยเด็ดขาด แต่ให้เรียกเก็บจากกองทุนต้นสังกัดของคนไข้แต่ละคนโดยผ่าน หน่วยงานกลางของ สปสช.

"ส่วนการจ่ายค่ารักษาให้แก่โรงพยาบาลเอกชนนั้น ควรใช้อัตราเดียวกับที่กรมบัญชีกลางจ่ายให้แก่โรงเรียนแพทย์ และจ่ายเพิ่มเติมในส่วนของค่าตอบแทนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ โดยอัตราที่จ่ายนั้นพิจารณาตามความเหมาะสม ส่วน สปส.ควรจัดให้มีสายด่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน แยกจากสายด่วนปกติและจัดให้พยาบาลซึ่งมีความรู้ด้านโรคต่างๆ มาเป็น Call Center" นพ.ถาวรกล่าว

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 18 ส.ค. 2557