ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แฉกลับ อภ.ขอให้สปสช.ยืมยา เพราะไม่กล้ารับประกันจะผลิตยาได้ทัน  จึงไม่สามารถออกใบเสนอราคาให้สปสช.ได้ เผยตามกระบวนการถ้าสปสช.สั่งซื้อ แล้วอภ.จัดยาไม่ทันจะโดนปรับวันละหลายแสนบาทเหมือนที่อภ.โดนอยู่ ต้องใช้วิธีขอให้อภ.ยืมยาไปก่อน

20 ส.ค.57 ตามที่เกิดกรณีปัญหาการจัดส่งยาต้านไวรัสเอชไอวีระหว่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ทั้งกรณีอภ.จัดส่งยาต้านไวรัสเอชไอวีให้ สปสช.  ไม่ทัน จนเหลืออยู่ในคลังยาของกองทุนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง เพียง 2 เดือน จนเครือข่ายภาคประชาชน นำโดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย  แสดงความกังวลว่า จากการบริหารงานเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเอดส์/เอชไอวี เนื่องจากยาอาจหมด ที่สำคัญยังอาจลุกลามไปถึงผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม เนื่องจาก อภ. เสนอให้ทาง สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ไปยืมยาจาก สปสช. แบ่งกันใช้ไปก่อน

นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา

เรื่องนี้ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.)  กล่าวว่า ขณะนี้ยาไม่หมดคลัง ไม่ว่าจะในสต็อกของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ หรือกองทุนประกันสังคม เพียงแต่เป็นข้อเสนอของระดับปฏิบัติงาน ซึ่งมีการประชุมกัน โดยในส่วนของ สปส.ได้สั่งซื้อยาต้านไวรัสเอชไอวีกับทาง อภ.จำนวน  4 รายการ คือ ยาไดดาโนซีน (Didanosine) ยาซิลลาเวียร์ (ZILARVIR) ยาจีพีโอเวียร์ (GPO-VIR) และยาลามิวูดีน (Lamivudine) ซึ่งก็ยังมีอยู่ในสต็อก แต่แนะนำไปว่า หากสปส.ต้องการยาเพื่อนำไปให้ผู้ป่วยอย่างเร่งด่วนสามารถยืมจาก สปสช.ได้ในระดับโรงพยาบาล จากนั้นจึงมาเคลียร์บัญชี แต่เป็นการเสนอเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ขอย้ำว่า อภ.จะทยอยจัดส่งยาให้ได้ภายในเดือนกันยายนนี้

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ  โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงกรณีปัญหาการจัดส่งยาต้านไวรัสเอชไอวีขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) และสปสช. จนเกิดเป็นปัญหาให้ทางภาคประชาชนกังวลว่า ยาในคลังกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง จะไม่เพียงพอ และจะลุกลามไปถึงสิทธิประกันสังคม ว่า  เรื่องนี้มาจากกระบวนการจัดซื้อที่ล่าช้า แต่ได้มีการพูดคุยหารือกันตลอดในระดับผู้ปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยฝ่ายผลิต ของ อภ.แจ้งว่าจะผลิตได้ทัน อย่างไรก็ตาม ส่วนประเด็นที่สปสช.มีการทำหนังสือยืมยากับทาง อภ.นั้น ไม่ใช่เพราะคลังยาหมดแต่อย่างไร โดยในส่วนของยาต้านไวรัสฯกลุ่มลามิวูดีน(Lamivudine) ที่เหลืออยู่ในสต็อกไม่ถึงครึ่งเดือนนั้น จริงๆ แล้ว ตามกระบวนการขั้นตอนการจัดซื้อยาของสปสช. จะมีการทำแผนความต้องการยาไปยัง อภ.ล่วงหน้า 6 เดือน ซึ่งรวมทั้งยาตัวนี้ด้วย  ซึ่งหลังจากนั้น อภ.จะต้องทำใบเสนอราคามาเพื่อให้พิจารณา และสปสช.จะทำใบจัดซื้อไป

“ปรากฏว่า ตัวยาลามิวูดีนที่เหลืออยู่ในสต็อกไม่ถึงครึ่งเดือนนั้น เราได้ทำหนังสือไปยัง อภ.นานแล้ว แต่อภ.ยังไม่มีใบเสนอราคามา ซึ่งกรณีนี้ล่าสุดได้หารือและพูดคุยกันแล้วว่า จะมีการดำเนินการต่อ ซึ่งสรุปได้ว่า ปัญหาไม่ได้มาจาก อภ.หรือสปสช.ไม่หารือกัน แต่มาจากขั้นตอนที่ทำให้ช้า ซึ่งทาง สปสช.เคยเสนอต่อ อภ. รวมทั้งอดีตคณะกรรมการ อภ.ในการปรับระเบียบการจัดซื้อ แทนที่จะพิจารณาเป็นรายการยา ก็ควรพิจารณาแบบทุกรายการตลอดปีแทน เพราะ สปสช. แจ้งความต้องการยาล่วงหน้าไปทั้งปีอยู่แล้ว ซึ่งหากทำได้ก็จะลดขั้นตอนลง แต่เข้าใจว่าตอนนี้อาจยังไม่มีบอร์ด อภ.ชุดใหม่ การพิจารณาหรือตัดสินใจใดๆ จึงต้องรอก่อน” ทพ.อรรถพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนที่สปสช.ยืมยาต้านไวรัสเอชไอวีเอฟฟาไวเร็นซ์(Efavirenz)กับ อภ.มาจากปัญหาเรื่องขั้นตอนการจัดซื้อด้วยหรือไม่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ยาดังกล่าวได้สั่งซื้อจากอินเดีย แต่เกิดปัญหาทางฝั่งบริษัทต้นทาง และตรวจสอบคุณภาพไม่ได้ จึงต้องคืนกลับ และอภ.ก็ผลิตเองส่งมายัง สปสช. ซึ่งขณะนั้นต้องมีการทำใบสั่งซื้อใหม่ ทำให้ต้องใช้เวลา จึงต้องทำเรื่องยืมยา อภ.  

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว

ด้าน นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย   กล่าวว่า กรณีการยืมยาของสปสช. ยังไม่ได้สอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แต่เห็นว่าการที่อภ. เสนอให้สปส.ยืมยาจาก สปสช. นั้น  เหมาะสมหรือไม่ เพราะยังไม่มีกรอบระยะเวลาชัดเจนว่า จะส่งยาให้ สปส.เมื่อไร  ที่สำคัญต้องยอมรับว่า อภ.ผลิตยาไม่ทันจริงๆ จึงเกิดปัญหาตรงนี้ ซึ่งทั้งหมดขอยืนยันให้ผู้อำนวยการ อภ.รับผิดชอบ และขอให้บอร์ด อภ.ชุดใหม่พิจารณาความเหมาะสมตรงนี้

ด้านแหล่งข่าวรายหนึ่งเปิดเผยว่า สาเหตุที่สปสช.ต้องยืมยาเอฟฟาไวเร็นซ์(Efavirenz) จาก อภ. นั้น เป็นเพราะ อภ.ไม่มีจำนวนยาที่แน่นอน และยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมียาครบตามจำนวนที่สปสช.จะสั่งซื้อได้หรือไม่ จึงยังไม่กล้าให้ใบเสนอราคาแก่ สปสช. แต่ใช้วิธีการขอให้ สปสช. ยืมยาไปก่อน เพราะถ้าให้ สปสช.ออกใบสั่งซื้อ แล้ว อภ. ไม่มีของส่งตามกำหนด อภ.จะโดนปรับวันละเป็นแสนบาทแบบที่โดนปรับอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ที่ผ่านมา สปสช.มีงบประมาณจำนวน 400 ล้านบาทเพื่อจะซื้อยาต้านไวรัสเพิ่มจาก อภ. แต่ อภ.ไม่กล้าทำสัญญาขาย เพราะรู้ว่าไม่สามารถทำมาขายให้กับสปสช.ได้ และสปสช.เคยเสนอถึงขั้นว่าส่งยาปีหน้าก็ได้ แต่ทำสัญญาก่อนในปีนี้ ซึ่ง อภ.ก็ยังไม่กล้าทำสัญญา เท่าที่ทราบคำขอซื้อวัตถุดิบเพื่อผลิตยาก็ได้รับการพิจารณาช้ามาก ทำให้ขาดวัตถุดิบผลิตยา เพราะผอ.อภ.ไม่กล้าตัดสินใจสั่งซื้อ กลัวว่าจะเป็นการตุนของมากเกินไป จนทำให้เกิดปัญหาผลิตยาไม่ทัน

นอกจากนั้นยังได้กล่าวถึงโผรายชื่อบอร์ดอภ.ชุดใหม่ที่ออกมานั้น เป็นรายชื่อจริง แต่ยกเว้นรายชื่อของดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ เนื่องจากอายุเกิน