ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด นพ.จักรกฤษณ์ ผู้ตรวจสธ. ผิดวินัยร้ายแรง สมัยเป็นสาธารณสุขนิเทศก์ เขต 6 ปี 52 เรี่ยไรเงินรพ.กว่า 3.6 ล้านบาท ใน 4 จว. ชุมพร สุราษ นครศรีธรรมราช พัทลุง จัดซื้อรถตู้โฟล์คสวาเกน ให้รัฐมนตรีวิทยา แก้วภราดัย ไว้ใช้งานในระหว่างลงพื้นที่ เผยส่งรายงานให้ปลัดสธ.ทราบแล้ว และอยู่ระหว่างส่งรายงานไปอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล เผยเป็นผลพวงจากการเปิดโปงงาบงบไทยเข้มแข็งของชมรมแพทย์ชนบท จนต้องมีการตั้งคณะกรรมการชุดหมอบรรลุลงพื้นที่ตรวจสอบ และมีผู้รายงานเรื่องนี้เพิ่มเข้ามา

22 ส.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่เรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด โดยระบุว่า จากผลการพิจารณาของคณะกรรมการป.ป.ช. เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.57 และได้มีการปรับปรุงข้อมูลเมื่อวันที่ 19 ส.ค.57 ต่อกรณีผู้ถูกกล่าวหา คือ

นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์

1.นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ตำแหน่งปัจจุบัน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตบริการสุขภาพที่ 4 (นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง) ขณะดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ กระทรวงสาธารณสุข(เมื่อปี 2552 ยุคที่มีนายวิทยา แก้วภราดัย พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรมว.สธ.) และ 2.นางสาวอัญชลี ภุมมา ขณะดำรงตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ จากข้อกล่าวหา ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เรี่ยไรเงินจากโรงพยาบาลในเขตตรวจราชการที่ 6 รวม 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และจังหวัดพัทลุง บริจาคเงินรวม 3,601,020 บาท เพื่อซื้อรถตู้โฟล์คสวาเกน ให้รัฐมนตรีไว้ใช้งานในระหว่างลงพื้นที่

ซึ่งผลการพิจารณาของคณะกรรมการป.ป.ช. ระบุว่า การกระทำของนพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาลและไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานอาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 85(1),(4) มาตรา 85(7) ประกอบมาตรา 82(2) และมาตรา 85(7) ประกอบมาตรา 83 (3)

และมีมูลความผิดอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 157

โดยให้กันนางอัญชลี ภุมมา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไว้เป็นพยาน ตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ.2554

ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยและไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับนพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้วแต่กรณี

สำหรับการดำเนินการของคระกรรมการป.ป.ช.นั้น ขณะนี้ 1.ได้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย กับนพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ แล้ว 2.อยู่ระหว่างดำเนินการส่งรายงาน เอกสาร ไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตพิจารณาพิพากษาคดีกับนพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์                                                                                                                                                                             

ทั้งนี้จากรายงานเปิดปมงาบงบใครเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นรายงานที่ฝ่ายวิชาการ ชมรมแพทย์ชนบท

รวบรวมและประมวลข้อเท็จจริงจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะรายงานการสอบสวนของคณะกรรมสอบสวนข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 227/2552 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2552 (ที่มีนพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน) และมีการแถลงต่อสาธารณะไปแล้ว มาประมวลใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เห็นถึงกลไกในกระบวนการเตรียมทุจริตงบไทยเข้มแข็งก้อนโตนั้น ในส่วนข้อกล่าวหาของนพ.จักรกฤษณ์นั้น ได้ระบุว่า 

คณะกรรมการยังได้รับข้อมูลจากตู้ ป.ณ.ฝ. 25 ที่คณะกรรมการได้เปิดไว้เพื่อรับข้อมูลทางไปรษณีย์ มีผู้ให้เบาะแสว่า นพ.จักรกฤษณ์  ภูมิสวัสดิ์ สาธารณสุขนิเทศก์เขตดังกล่าว ยังได้ขอร้องแกมบังคับให้โรงพยาบาล 4 แห่ง คือ ชุมพร  สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช  และพัทลุง  ให้จ่ายเงินเพื่อซื้อรถตู้ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน 1 คัน สำหรับบริการรัฐมนตรีวิทยา แก้วภราดัย  ซึ่งโรงพยาบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง ชุมพร และสุราษฎร์ธานี มีการโอนเงินจากโรงพยาบาลต่างๆ แห่งละ 4 แสน – 1.5  ล้านบาท เข้าบัญชีแม่บ้านสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีจริง และโอนเงินต่อไปที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม จัดซื้อรถยนต์ตู้โฟล์คสวาเกนจากบริษัทไทยยานยนตร์  เซลส์  แอนด์  เซอร์วิส  จำกัด ต่อมานพ.จักรกฤษณ์ ได้รับแต่งตั้งเลื่อนฐานะจากสาธารณสุขนิเทศก์ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมพ.ศ. 2552 ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าวได้ระบุในตอนท้ายว่า เรื่องนี้ควรต้องมีการตั้งกรรมการสอบสวนโดยละเอียดและเสนอ ป.ป.ช.ต่อไป