ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะ ไทม์ ออฟ อินเดีย :  ระบบสุขภาพในประเทศอินเดีย คือภาพสะท้อนของการสาธารณสุขที่ขาดแคลนซึ่งทรัพยากรและมีผลการดำเนินงานที่ไร้ประสิทธิภาพ แม้จะมีการจัดสรรงบลงทุนและพยายามดำเนินงานตามแนวทางปฏิบัติจากองค์การอนามัยโลกทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ แต่ปัจจุบันจำนวนเตียงสำหรับรองรับคนไข้ในโรงพยาบาลก็ยังขาดแคลน คือมีน้อยกว่า 1.5 เตียงต่อประชากร 1,000 คน (แนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกระบุไว้ที่ 3.5 เตียงต่อประชากร 1,000 คน) นอกจากนี้อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรก็ต่ำ คือมีแพทย์ 1.8 คนต่อประชากรประชากร 1,000 คน (แนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกกำหนดว่าควรจะมีแพทย์  2.5 คนต่อประชากร 1,000 คน) และท่ามกลางความขาดแคลนด้านทรัพยากร ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนอินเดียกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 86 ของรายได้ (ในประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำ เฉลี่ยแล้วประชากรจะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพประมาณร้อยละ 40 ของรายได้ )

ขอบคุณภาพจาก เวบไซต์ healthspace.asia

และปัจจัยที่ตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขให้ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น ก็คือ “เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล” ซึ่งมีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุมและขาดศักยภาพ เนื่องด้วยค่าตอบแทนที่ต่ำ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน  ไม่มีความก้าวหน้าในสายอาชีพ ขาดแคลนการฝึกอบรมที่จำเป็นและนโยบายที่ไม่แน่นอน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะไม่ทำงานในสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งนั่นส่งผลให้การกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์นั้นทำได้ยากยิ่งขึ้น

ในขณะที่อุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อและโรคเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ตัวชี้วัดสุขภาพกลับล้าสมัย ปัจจุบันงบประมาณด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการเติบโตของจีดีพี แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อหัวของชาวอินเดียกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ช่องว่างหรือความแตกต่างในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานก็ยังคงมีอยู่อย่างมีนัยสำคัญ

“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” คือทางเลือกหนึ่งที่อาจแก้ปัญหาสาธารณสุขของอินเดียได้ ด้วยการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยดูแลรักษาตามมาตรฐานขั้นต่ำในการบริการสาธารณสุข  ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เริ่มใช้ครั้งแรกโดยสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1937 ซึ่งอีก 10 ปีต่อมา สหราชอาณาจักรก็ได้นำระบบนี้มาใช้ ส่วนใหญ่รัฐบาลของประเทศนั้นๆจะตั้งกองทุนประกันสุขภาพขึ้นโดยใช้งบประมาณจากภาษีอากรมาสนับสนุน แล้วเสริมด้วยการจัดเก็บภาษีเฉพาะและให้ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายเมื่อไปใช้บริการ

การมีทั้งระบบประกันสุขภาพภาคบังคับที่ใช้งบประมาณจากรัฐบาล และการให้ประชาชนมีทางเลือกในการซื้อประกันสุขภาพเช่นที่ทำในประเทศสหรัฐอเมริกาและสวิสเซอร์แลนด์ จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ทุกชีวิตจะได้รับการดูแลรักษาและขยายผลไปในวงกว้าง

รัฐบาลของประเทศอินเดียควรจะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเพื่อปฎิรูประบบสุขภาพ แม้ว่าหนทางที่จะก้าวไปสู่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นยังอีกยาวไกล เพราะต้องอาศัยทั้งการสนับสนุนจากภาคการเมืองและระบบบริการจัดการกองทุนในระยะยาวที่มั่นคง แต่การทำระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อพัฒนาการบริการด้านสาธารณสุขนั้นสามารถทำได้ โดยสร้างกรอบระเบียบข้อบังคับที่มีประสิทธิภาพและมีนโยบายที่สอดคล้องกันทั่วประเทศ สำหรับปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลน ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการบูรณาการระบบสาธารณสุขและสาธารณูปโภคในระดับหมู่บ้าน ระดับเมือง และระดับอำเภอเข้าด้วยกัน โดยคำถึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก เช่นที่ปรากฏในร่างกฎหมายประกันสุขภาพสำหรับผู้มีรายได้ต่ำในประเทศอินเดีย (The National Rural Health Mission and Rashtriya Swasthya Bima Yojana: RSBY)

ทั้งนี้ สถานพยาบาลเอกชนสามารถช่วยพัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้านสาธารณสุขในอินเดียให้ดีขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่บังคับให้สถานพยาบาลเหล่านั้นเข้ารับการประเมินเพื่อรับรองคุณภาพสถานพยาบาลภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะโรงพยาบาลเอกชนเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่สามารถผ่านการรับรองหรือยกระดับมาตรฐานในการให้บริการได้ ซึ่งก็เป็นผลมาจากความพึงพอใจของประชาชนที่มาใช้บริการนั้นอยู่ในระดับต่ำ ส่วนโรงพยาบาลที่ก่อตั้งมานานก็มักจะมีการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ   

องค์กรร่วมภาครัฐและเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นในรูปแบบต่างๆ อาจจัดสรรงบประมาณจากภาคเอกชนมาช่วยจัดเตรียมบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม ในขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้น ชาวอินเดียต้องการการดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อหรือโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต(ที่ไม่ดี)เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองรองระดับ 2 และระดับ 3

โปรแกรมประกันสุขภาพที่ดำเนินงานโดยองค์กรร่วมภาครัฐและเอกชน จะนำมาซึ่งกำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญให้แก่ภาคเอกชนและยังช่วยแก้ปัญหาด้านบุคลากรได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นโครงการอายุช เกรแฮม บาฮา วาลิ ที่เมืองไนนิตาล ซึ่งดำเนินการในรูปแบบสัญญาสัมปทาน สร้าง-ดำเนินงาน-ขนย้าย (บิลท์-โอเปอร์เรท–ทรานซเฟอร์ : รัฐลงทุนแล้วให้เอกชนดำเนินการหมดสัญญาค่อยโอนความเป็นเจ้าของให้รัฐ) ที่ดูแลรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก โครงการนี้เป็นตัวอย่างของบริการสุขภาพที่มีต้นทุนต่ำเพราะดำเนินงานบนที่ดินของรัฐบาล   

อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันระบบการประกันสุขภาพในประเทศอินเดียยังต่ำกว่ามาตรฐานมาก โดยครอบคลุมประชากรแค่ประมาณร้อยละ 25 เท่านั้น ซึ่งหากต้องการเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะต้องวางเป้าหมายในการประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชากรถึงร้อยละ 75 และประชากรส่วนที่เหลือให้เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้มีรายได้ต่ำหรือ “อาร์เอสบีวาย” ซึ่งเป็นรูปแบบการให้บริการด้านสุขภาพโดยผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเมื่อไปขอรับบริการทางการแพทย์ เพียงแค่จ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้าในจำนวนที่ต่ำมากๆ     

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องการยาที่ราคาถูกกว่านี้ ที่ผ่านมาการกำหนดราคายานำมาซึ่งความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ซึ่งบริษัทยาทั้งหลายต่างก็ถูกกดกันให้ลดราคายาลงเพื่อช่วยผู้ป่วยทั่วโลก

ระบบการกำหนดราคายาที่ไม่แน่นอนทำให้การสาธารณสุขมีความเสี่ยงสูง ที่ผ่านมามีคำสั่งควบคุมราคายาที่ได้แก้ไขราคายาถึง 348 ชนิดโดยสั่งให้ลดลงมาเท่ากับราคาเฉลี่ยของตลาดเวชภัณฑ์ และล่าสุดยังมีคำสั่งแก้ไขราคายาเพิ่มเติมอีกกว่า 100 ชนิด  ซึ่งคำสั่งดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบที่ยากจะคาดเดา คืออาจจะลดแรงจูงใจในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่หรืออาจทำให้บริษัทยาไม่นำยาใหม่มาเปิดตัวในตลาดอินเดียก็เป็นได้  

 อย่างไรก็ตาม ในขณะที่บริษัทยารู้สึกกดดันกับกำไรที่หายไป แต่เพราะการผลิตยาในประเทศของอินเดีย กว่าร้อยละ 75 ผลิตเพื่อส่งออก ถึงบริษัทจะตัดลดราคายาลง ก็ยังสามารถทำกำไรได้จากระบบสุขภาพของอินเดียซึ่งกำลังขยายตัว กำไรที่คืนสู่สังคมอาจกลายเป็นกำไรในภาคธุรกิจได้ หากตลาดมีขนาดที่ใหญ่มากพอ 

ผู้เขียน Varun Gandhi : The Times of India