ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย. ห่วงใยผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หากเป็นหวัด เจ็บคอ ขอได้อย่าซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เองเพราะอาจได้รับอันตรายจากการใช้ยาโดยไม่จำเป็น และทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยา เพราะโรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยาปฏิชีวนะใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น พร้อมแนะ วิธีการเบื้องต้นในแยกแยะระหว่างอาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อไวรัส กับอาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วยเป็นโรคหวัดได้ง่าย โดยจะมีอาการเจ็บคอ น้ำมูกไหลไอ มีเสมหะ หรืออาจมีไข้ร่วมด้วย และเมื่อมีอาการเหล่านี้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าจะต้องกินยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ประชาชนควรมีความรู้ก่อนว่าอาการหวัดเจ็บคอที่เป็นนั้นมีสาเหตุจากอะไรเนื่องจากส่วนใหญ่ของหวัดเจ็บคอ (ร้อยละ 80) มักเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ มีเพียงส่วนน้อย(ร้อยละ 20) ที่อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ หากประชาชนไม่รู้ข้อเท็จจริงนี้และกินยาปฏิชีวนะทุกครั้งที่เป็นหวัดเจ็บคอ เขาจะได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นบ่อยถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว

วิธีการเบื้องต้นในการแยกแยะระหว่างการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย คือ หากเป็นหวัดเจ็บคอจากเชื้อไวรัส มักมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะ เสียงแหบ คันคอ เจ็บคอ หรืออาจมีไข้ร่วมด้วย อาจนานประมาณ 7-14 วัน อาการจะมากสุดในช่วงวันที่ 3–5 หลังจากนั้นอาการโดยรวมจะค่อยๆ ดีขึ้น น้ำมูกจะน้อยลง

และข้นขึ้นบางทีอาจมีสีออกเหลืองโดยเฉพาะช่วงเช้า แต่อาการไออาจอยู่นานกว่า 2 สัปดาห์ งานวิจัยชี้ชัดว่ายาปฏิชีวนะไม่ช่วยให้อาการไอและหวัดหายเร็วขึ้นแต่อย่างใด การรักษาที่ดีที่สุด คือ การพักผ่อนและดื่มน้ำอุ่นเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานมาต่อสู้กับเชื้อไวรัส และอาจปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการหวัด ไอ คัดจมูก หรือเจ็บคอ

ส่วนอาการเจ็บคอที่อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (ซึ่งพบน้อย) มักมีอาการอย่างน้อย 3 ใน 4 ข้อนี้ร่วมกัน คือ (1) ไม่ไอ (2) มีไข้ (3) ต่อมทอนซิลมีจุดขาวหรือเป็นหนอง (4) ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรโตกดเจ็บ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสำรวจต่อมน้ำเหลืองของตนเองโดยการคลำบริเวณใต้ขากรรไกรเพื่อดูว่าต่อมน้ำเหลืองบริเวณนี้โตหรือกดเจ็บหรือไม่ และสามารถดูต่อมทอนซิลของตนเองโดยการอ้าปากและส่องกระจกดูที่ต่อมทอนซิลว่ามีจุดขาวหรือเป็นหนองหรือไม่ หากมีอาการ 3 ใน 4 ข้อ หรือมีอาการครบทั้ง 4 ข้อดังกล่าวควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวย้ำว่า ก่อนกินยาปฏิชีวนะทุกครั้งต้องมั่นใจว่าโรคที่เป็นมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะโดยไม่รู้ว่าป่วยด้วยโรคติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ โดยสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรซ้ำทุกครั้งเพื่อความมั่นใจ และขอเตือนประชาชนอย่าซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง อย่าใช้ยา ปฏิชีวนะตามที่ คนอื่นแนะนำ และอย่าแบ่งยาปฏิชีวนะของตนเองให้แก่ผู้อื่น เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ เนื่องจากยาปฏิชีวนะมีหลายชนิด เช่น เพนนิซิลลิน อะม็อกซิซิลลิน เตตร้าซัยคลิน อิริทโทรมัยซิน โคทรัยม็อกซาโซล เป็นต้น และแต่ละชนิดใช้กับเชื้อแบคทีเรียต่างกัน และที่สำคัญ เราไม่รู้ว่าเขาแพ้ยาหรือไม่ หรือมีโรคประจำตัวอะไร อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการปราบปราม และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป