ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ลูกจ้างชั่วคราวทั้งสายสนับสนุน-สายวิชาชีพค้าน สธ.ปรับฐานเงินเดือนสูตร 6+4% ชี้ไม่เป็นธรรม เหตุยังไม่ถึงค่าจ้างขั้นต่ำ ร้อง คสช. ขอปรับแค่ “ค่าแรงขั้นต่ำ-โอที-ค่าเสี่ยงภัย” ด้านพยาบาลลูกจ้างเผยการปรับการจ้างจากลูกจ้างชั่วคราวเป็นพกส.ก็ยังมีปัญหา เป้าหมายคือต้องการเป็นข้าราชการ ไม่อยากรับพกส.เพราะเสียสิทธิการนับอายุราชการเพื่อทำชำนาญการ ด้านรองปลัด สธ.พร้อมทำตามหากรัฐบาลมีคำสั่ง เบื้องต้นยึดตามเกณฑ์ 6% เท่ากันทุกคน แถมเพิ่มตามผลงานอีกไม่เกิน 4%

1 ก.ย.57 ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ยกเว้นสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม ทั้งนี้เพื่อหารือเรื่องค่าตอบแทนไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ข้อสรุปว่าจะมีการปรับฐานเงินเดือนของบุคลากรทุกคนในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุนในอัตราเท่ากันที่ 6% และเตรียมพิจารณาปรับเพิ่มเติมอีกในเดือน ต.ค. ไม่เกิน 4% แต่ละคนจะได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการประเมินผลงาน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ย.นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) กล่าวว่าภายหลังจากที่ สสลท.เคยเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขปรับโครงสร้างการจ้างงานลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุขใหม่ แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขตอบกลับมาว่าไม่สามารถทำให้ได้นั้น ซึ่งกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมดังนั้นวันนี้ ตนพร้อมแกนนำเครือข่ายลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 5 คน จึงได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  เพื่อขอความเป็นธรรมโดยมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ คือ 

1.ขอให้ปรับหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนมาใช้เงินจากงบประมาณกลางโดยตรงแทนการใช้เงินบำรุงโรงพยาบาล เพราะที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุขมักจะอ้างว่าไม่มีเงิน เมื่อกระทรวงอื่นๆ เพิ่มค่าจ้างแล้วเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จะเพิ่มขึ้นด้วย การจ้างงานแบบนี้ถือว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้างฯ

2.ระหว่างนี้ขอให้ คสช.ประสานมายังกระทรวงสาธารณสุขให้ปรับเงินเดือนของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขตามนโยบายค่าแรงขั้นต่ำอคือวุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีอยู่ที่ 9,000 บาท และระดับปริญญาตรี 15,000 บาท รวมถึงค่าประสบการณ์ตามปี ปีละ100 บาท 

3.ให้บรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ทั้งหมด 

4.ปรับอัตราค่าทำงานล่วงเวลาอย่างเป็นธรรม โดยขึ้น 50% จากของเดิมที่ได้รับอยู่ เพราะตอนนี้ถือว่าเป็นการจ่ายค่าล่วงเวลาภาคบังคับที่ถูกมากเพียง 300 บาทต่อเวรเท่านั้นถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ลูกจ้างมาก 

5.ขอให้พิจารณาให้ค่าเสี่ยงภัย พกส. และลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5 อำเภอเสี่ยงในจังหวัดสงขลา จากเดิมที่ให้เฉพาะข้าราชการเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากผลการประชุมล่าสุดทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีการปรับฐานเงินของบุคลากรทุกสายงานเท่ากันที่ 6% และเตรียมพิจารณาปรับเพิ่มเติมอีกในเดือน ต.ค. ไม่เกิน 4% นายโอสถกล่าวว่า ตรงนี้เป็นเพียงการเบี่ยงเบนประเด็นหลังจากที่ สสลท.จะออกมาเคลื่อนไหวมากกว่า ซึ่งต้องถามว่าการปรับเพิ่ม 6% ลูกจ้างชั่วคราวบางคนขณะนี้ได้รับค่าแรงอยู่ที่ 6,000 บาท ห่างจาก ค่าแรงขั้นต่ำอยู่มาก แม้จะปรับเพิ่มก็ยังไม่ถึงระดับค่าแรงขั้นต่ำอยู่ดี ซึ่งไม่พอในภาวะค่าครองชีพสูง เพราะฉะนั้นวันนี้เราไม่เอาหลักเกณฑ์ปรับฐานเงินเดือน 6% แต่จะเอาฐานเงินเดือนขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐ

“จากการที่เราประชุมกันเมื่อวาน มีพี่น้องจาก 50-60 จังหวัดเข้ามาประชุมที่เป็นตัวแทนก็มีมติว่าเราไม่รับหลักการตรงนี้ เพราะฉะนั้นฝ่ายทหารบอกว่าเขาจะดูแลเรื่องนี้โดยด่วน” นายโอสถ กล่าว และว่า ทั้งนี้จะมีการประชุมคณะทำงานเพื่อหารือถึงการขับเคลื่อนข้อเรียกร้องต่อไป ภายในสิ้นเดือน ก.ย.หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอาจจะมีการขับเคลื่อนเต็มกำลังโดยการนัดมาเรียกร้องต่อหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ปักหลักพักค้าง

ต่อข้อถามถึงกรณีข้อเรียกร้องของ สสลท.เรื่องการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นลูกจ้างประจำนั้นนอกเหนืออำนาจของกระทรวงสาธารณสุข ประธาน สสลท. กล่าวว่า เป็นความเข้าใจผิด ที่จริงเราขอให้เป็นพนักงานประจำที่ไม่ต้องต่อสัญญาจ้าง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินได้ แต่พอเป็นการจ้างงานแบบมีสัญญากลายเป็นการผูกมัดที่ทำให้ไม่มีความแน่นอนว่าจะได้รับการจ้างงานต่อหรือไม่ สถาบันทางการเงินก็ไม่ให้ความเชื่อถือ

นายเอกชัย ฝาใต้ กรรมการเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สนับสนุนข้อเรียกร้องของ นายโอสถ เพราะเห็นว่าแม้จะบรรจุเป็นพกส.แล้วแต่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะตามข้อเรียกร้องเดิมที่บอกว่าจะให้ค่าตอบแทนสูงกว่าข้าราชการ 1.2 เท่า นั้นไม่ได้เป็นไปตามนั้น แต่ปัจจุบันเงินเดือนน้องๆ พยาบาลยังได้รับอยู่แค่ประมาณ 12,000 บาทไม่ถึง 15,000 บาทด้วยซ้ำไป การที่กระทรวงเยียวยาให้ 6% และเดือน ต.ค.เพิ่มอีก 4% หรือคิดรวม 10% ก็เท่ากับว่าได้เพิ่มเพียงพันกว่าบาท คิดแล้วก็ยังได้รับเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาทอยู่ดี น้องๆ จึงไม่ค่อยพอใจ ดังนั้นเราจึงไม่รับหลักการเพิ่มอัตราค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข เพราะฉะนั้นจากนี้จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่จุดหลักจริงๆ ของเราคือการเป็นข้าราชการ ไม่อยากจะรับพกส. เพราะเสียสิทธิในการนับอายุราชการเพื่อทำชำนาญการ เพระไม่เข้าตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)

ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของลูกจ้างชั่วคราวที่ขอให้ปรับฐานเงินเดือนตามนโยบายค่าแรงขั้นต่ำนั้น หากทางรัฐบาลมีมติออกมาอย่างไรทาง สธ. ก็ยินดีปฏิบัติตาม แต่ระหว่างนี้จะดำเนินการปรับฐานเงินเดือนให้ตามที่มีข้อสรุปร่วมกันคือ ปรับเพิ่มให้ทุกคน ทั้งสายสนับสนุน และสายวิชาชีพในอัตรา 6% และพิจารณาปรับเพิ่มตามผลงานในช่วงต.ค.อีกครั้งไม่เกิน 4% ส่วนเรื่องการเรียกร้องให้ ก.พ.ปรับเกณฑ์ให้นับอายุงานของผู้ปฏิบัติงานระหว่างเป็นพกส. เพื่อให้ได้สิทธิในการเลื่อนขั้นเป็นระดับชำนาญการ แต่ก.พ.ก็ยังไม่อนุมัติ แต่เราทำเรื่องอุทธรณ์ไปแล้ว