ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้าราชการหวั่นถูกลิดรอนสิทธิเบิกจ่ายยาซ้ำรอยเดิม วอน คสช. ให้ความเป็นธรรม

พล.ต.หญิง พูลศรี เปาวรัตน์ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิข้าราชการกล่าวถึงกรณีมีการเลื่อนคำสั่งจากกรมบัญชีกลางเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับแนวทางการกำหนดอัตราการเบิกจ่ายค่ายา โดยมีการกำหนดอัตราการเบิกจ่ายค่ายาคือ ยาชื่อสามัญ (Generic Name) ที่ให้สูงถึง 200% และยาต้นแบบ (Original) ให้กำหนดเบิกจ่ายตามราคากลาง แต่หากสถานพยาบาลสามารถหาซื้อได้ต่ำกว่าราคากลาง ให้สามารถคิดกำไรส่วนเพิ่มได้ไม่เกิน 3% ทำให้ทุกภาคส่วนตื่นตระหนกและหวั่นเกรงกับผลกระทบที่จะเกิดตามมาว่า ทางชมรมได้รับหนังสือชี้แจงจากกระทรวงการคลังลงวันที่ 25 มี.ค.57 โดยอ้างว่าสวัสดิการรักษาพยาบาลเป็นเพียงการแบ่งเบาภาระของผู้มีสิทธิ์เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้รับการช่วยเหลือเต็มจำนวนที่ได้มีการจ่ายไปจริง ทำให้ตนรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสิทธิที่อาจถูกลิดรอน เนื่องจากสวัสดิการดังกล่าวเป็นพันธะสัญญาต่อข้าราชการที่ควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

"จากการพิจารณาร่วมกันของกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งข้าราชการ โรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ในการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุข ส.ส. และ ส.ว. มีความเห็นร่วมกันว่าถ้ามีการกำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายาที่บังคับแพทย์ในการจ่ายยาโดยมุ่งเน้นที่ยาราคาต่ำเพื่อประหยัดงบประมาณเป็นเกณฑ์ แทนที่จะพิจารณาในเรื่องประสิทธิผล คุณภาพและความปลอดภัยของยาที่ใช้ จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการให้การรักษา และหากต้องรักษาตามความจำเป็นแล้วเป็นอัตราใหม่โรงพยาบาลก็อยู่ไม่ได้ จึงอยากวอนกรมบัญชีกลางและทาง คสช.ให้ช่วยยกเลิกนโยบายและแนวคิดดังกล่าว เพราะจะไม่เกิดความเป็นธรรมต่อชีวิตของแต่ละบุคคล และอาจมีผลเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในอนาคตจากผลการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ และกรมบัญชีกลางควรจัดให้มีกลไกให้ทุกภาคส่วนดำเนินงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้เกิดการรักษาอย่างสมเหตุผลจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวมากกว่า" พล.ต.หญิง พูลศรี กล่าว

พล.ต.หญิง พูลศรี ยังกล่าวว่า ตามที่กรมบัญชีกลางได้มอบหมายให้สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เชิญชมรมฯ ไปให้ความคิดเห็นและข้อเสนอในมุมมองของผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลต่อทางเลือกอัตราเบิกจ่ายค่ายาผู้ป่วยนอกในวันที่ 12 ก.ย.57 นั้น ชมรมฯ หวังว่าจะมีการนำข้อคิดเห็นของตัวแทนข้าราชการไปปรับทางเลือกอัตราเบิกจ่ายฯ ให้เหมาะสมอย่างแท้จริงก่อนที่จะมีการนำไปประกาศใช้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการพิจารณา และควรมีการหารือกับทางโรงพยาบาลและแพทย์ผู้รักษาด้วยเช่นกันเพื่อให้มีแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งทางชมรมฯ พร้อมที่จะเป็นตัวแทนในการเสนอแนะ และประสานงานกับส่วนงานข้าราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย