ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากแนวคิดการบริหารรูปแบบ “เขตบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข” ที่ได้รับการผลักดันและดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนเริ่มปรากฎผลทั้งในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลในหลายพื้นที่ ซึ่งสธ.ระบุว่าไม่เพียงแต่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง ยังช่วยลดภาระการบริหารจัดการของหน่วยบริการ ทั้งในด้านงบประมาณ บุคลากร รวมถึงการบริหารจัดการ และการบริการ ที่นับเป็นรูปแบบการบริหารที่น่าสนใจและติดตาม

สำนักข่าว Health Focus ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้บริหารซึ่งรับหน้าที่ผลักดันโนยบายเขตบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้เล่าถึงที่มาของนโยบายเขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ว่า แนวคิดการจัดตั้งเขตบริการสุขภาพไม่ได้พึ่งเกิดขึ้น แต่มีมาตั้งแต่อดีต โดย นพ.วิฑูร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะนั้นเห็นว่าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นอกจากทำหน้าที่ตรวจราชการแล้ว ควรทำหน้าที่เป็นตัวแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขในการบริหารในพื้นที่เขตตรวจราชการด้วย โดยเขตสุขภาพในช่วงเริ่มต้นเป็นการกำหนดพื้นที่ตามสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่อมาในปี 2545 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขึ้น และมีการแบ่งพื้นที่เขตสุขภาพในการบริหารเพื่อให้สอดคล้องกับกระทรวงสาธารณสุข

นพ.วชิระ กล่าวว่า ต่อมาราวปี 2550 ทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำการปรับเขตตรวจราชการ โดยแยกเป็น 18 เขต ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดปัญหา เพราะทำให้เขตตรวจราชการและเขตสุขภาพไม่สอดคล้องกัน ส่งผลต่อการบริหารจัดการในระบบบริการรักษาพยาบาล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือพื้นที่ภาคใต้ เพราะจากการแบ่งเขตตรวจราชการใหม่นั้น ส่งผลให้พื้นที่เขตฝั่งจังหวัดอันดามัน ที่นอกจากมีปัญหาจำนวนประชากรน้อย ที่ส่งผลต่อการกระจายงบเหมาจ่ายรายหัวแล้ว ยังเป็นพื้นที่ไม่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุน อีกทั้งเมื่อมีการจัดแบ่งเขตยังส่งผลให้การส่งต่อผู้ป่วยมีปัญหา ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ เกิดความยากลำบากในการเข้าถึงการรักษาที่จำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการบริการจัดการในรูปแบบใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 เขต และ 2 พวงบริการ   

“ที่ยกตัวอย่างพื้นที่ภาคใต้เนื่องจากเป็นพื้นที่เริ่มต้นเขตบริการก่อน และผมได้ลงไปบริหารจัดการต่อเนื่องจาก นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการในพื้นที่ภาคใต้ขณะนั้น โดยเราเห็นว่า ถ้าเป็นจังหวัดที่มีเขตติดต่อกันการรวมบริหารจัดการน่าจะดีกว่า เพราะหากแยกบริหารเป็นรายจังหวัด ในการพัฒนาจะต้องลงทุนสูงมาก ทั้งทรัพยากร งบประมาณ และบุคลากร ที่ผ่านมาจึงได้มีการแยกเป็น 2 พวงบริการ โดยลงทุนที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลหาดใหญ่ เพื่อให้เป็นเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิในการับส่งต่อผู้ป่วยจากจังหวัดต่างๆ โดยรอบ ไม่ต้องมีเส้นกันจังหวัด”  

นพ.วชิระ กล่าวว่า สรุปการบริหารเขตสุขภาพระยะแรกในพื้นที่ภาคใต้ เป็นการบริหารโดยยึดหลักการ 1.การจัดบริการรักษาพยาบาลแบบไร้รอยต่อ ด้วยการจัดทำเป็นเครือข่ายการบริการที่ครอบคลุมทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ 2.การกระจายทรัพยากรในการลงทุน โดยให้มีการวางแผนร่วมกัน เพื่อดูความคุ้มค่าในการบริการ เน้นให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา 3.หน่วยบริการสามารถพึ่งพาตนเองภายในเขตบริการสุขภาพ สามารถดูแลประชากรได้อย่างทั่วถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนสูง 4.สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเขต เหล่านี้นำมาสู่การจัดทำแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Services Plan)

“การจัดทำเขตบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข นอกจากผลักดันจากในกระทรวงแล้ว ยังร่วมกับทางสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ในการทำวิจัย ทั้งยังมี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้ร่วมในคณะทำงาน  ในการช่วยคิดและพัฒนาระบบสุขภาพในศตวรรษที่ 21 และได้มีการดำเนินงานเขตบริการสุขภาพอย่างเต็มรูปแบบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ต่อข้อซักถามว่า ขณะนี้เขตบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีความคืบหน้าอย่างไร นพ.วชิระ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เกิดกลไกการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมแล้ว นอกจากมีสำนักงานเขตสุขภาพในแต่ละพื้นที่แล้ว ยังมีคณะกรรมการระดับเขตเพื่อดำเนินการ เรียกว่าค่อยเป็นค่อยไป และในปีงบประมาณ 2558 นี้ การดำเนินงานเขตบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขจะคอบคลุม 5 มิติ คือ 1.การรักษาพยาบาล 2.การส่งเสริมป้องกันโรค 3.การฟื้นฟูผู้ป่วย 4.การส่งเสริมงานด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริหาร และ 5. ซึ่งเป็นงานที่จะก้าวต่อไป คือขยับการมีส่วนร่วม โดยดึงภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมขับเคลื่อนเขตสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลในส่วนของกองทัพแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้งานบริการรักษาพยาบาลครอบคลุมการดูแลประชาชนยิ่งขึ้น

“ขณะนี้การดำเนินงานของ 12 เขตบริการสุขภาพ จากการประเมินพบว่ามีความหลากหลาย ซึ่งพบว่าแต่ละเขตยังมีความสามารถในการดำเนินงานที่แตกต่างกัน บางแห่งที่ล่าช้าเพราะต้นทุนน้อย ขาดการพัฒนาระบบบริการในพื้นที่มานาน มีข้อจำกัดในการบริหาร แต่ขณะที่บางเขตสามารถผลักดันจนเกิดเป็นผลรูปธรรมได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีต้นทุนที่ดี ประกอบกันความเข้าใจของผู้บริหารและคณะทำงาน ด้วยเหตุนี้การพัฒนาเขตบริการสุขภาพในแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ภาพรวมมองว่าได้มีการพัฒนาเขตบริการสุขภาพไปพอสมควร” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวและว่า นอกจากนี้สิ่งที่เห็นผลชัดเจน คือเกิดการจัดบริการร่วมและการเปลี่ยนวิธีคิด ซึ่งแต่เดิมจะมองว่า นี่เป็นโรงพยาบาลคุณ โรงพยาบาลผม แต่ตอนนี้ทุกคนมองโรงพยาบาลทุกแห่งเป็นโรงพยาบาลของเราที่ต้องช่วยกัน มีการแบ่งปันทรัพยากร ที่เป็นเครือข่ายระหว่างพี่น้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการจัดทำเขตบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมาได้บริหารงบประมาณอย่างไร เพราะขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขยังอยู่ระหว่างการขอให้ สปสช.จัดสรรงบไปที่เขตเพื่อบริหาร นพ.วชิระ กล่าวว่า กลยุทธ์สำคัญที่สุดคือการคิดร่วมกัน วางแผนร่วมกัน ด้วยการจัดทำแผนให้แต่ละโรงพยาบาลทำหน้าที่แม่ข่ายและลูกข่ายในแต่ละด้าน เพื่อไม่ให้เกิดภาระงานที่ซ้ำซ้อน ไม่แข่งกันโต หรือแย่งชิงงบประมาณ ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพได้

ต่อข้อซักถามว่า จากฟังข้อมูลแล้ว การบริหารจัดสรรเขตสุขภาพที่ผ่านมาไม่ต้องแตะงบประมาณ แต่ทำไมจึงมีข้อเสนอให้จัดสรรงบลงไปที่เขตบริการแทน นพ.วชิระ กล่าวว่า เราไม่ได้เสนอให้จัดสรรงบไปที่เขต ซึ่งต้องใช้คำพูดใหม่ เพราะทางกระทรวงเพียงแต่ต้องการให้เขตมีส่วนร่วมในการคิดและจัดสรรงบเท่านั้น และให้งบประมาณลงไปตามแผนที่เขตบริการสุขภาพได้ร่วมกันวางแผน เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อแผนและงบประมาณไปกันคนละทาง งานเขตบริการสุขภาพที่วางไว้ก็จะไม่บรรลุ แต่เรื่องนี้คนไม่เข้าใจหรือไม่พยายามเข้าใจ โดยเฉพาะคนที่เคยจัดเงินไปตามหลักคิดของตัวเอง ซึ่งรูปแบบที่กระทรวงเสนอก็เหมือนกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่เปิดเวทีคิดร่วมกัน พอเสร็จแล้วให้แต่ละฝ่ายแยกย้ายไปทำตามหน้าที่เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

ส่วนข้อแตกต่างระหว่างเขตบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข และเขตสุขภาพประชาชน สช. นั้น นพ.วชิระ กล่าวว่า จุดที่เหมือนกันคือการทำงานระดับเขตพื้นที่ แต่บทบาท องค์ประกอบ คณะกรรมการต่างกัน โดยรูปแบบวิธีการทำงานนั้น เน้นการใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน มองปัญหาประชาชนด้วยกัน และวางวิธีการตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาเข้าด้วยกัน เรียกว่าเป็นการรวมยุทธศาสตร์การทำงานเดียวกัน เพียงแต่ สช.ไม่ได้บริหาร โดยให้แต่ละหน่วยงานแยกไปทำตามบทบาทหน้าที่ซึ่งได้ตกลงร่วมกัน มีองค์ประกอบที่หลากหลาย ทั้งจากภาครัฐ ผู้แทนวิชาชีพ ภาคประชาน ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมคิดและตัดสินใจ แต่ สธ.ไม่ใช่แค่ร่วมคิดร่วมทำเท่านั้น แต่มีบทบาทในการบริหารและร่วมจัดบริการด้วย เพราะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตามโครงสร้าง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 นี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมขยายเขตบริการสุขภาพให้มีมิติที่กว้างขึ้น จากที่แต่เดิมทำแค่งานรักษาและฟื้นฟู แต่จากนี้จะทำในงานส่งเสริมป้อกงัน งานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค รวมไปถึงการขยับความร่วมมือไปยังกลุ่มโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลสังกัดกองทัพ เพื่อให้ครอบคลุมและให้ประชาชนถึงการรักษายิ่งขึ้น