ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ เผยผลสำเร็จ Service plan - เขตบริการสุขภาพ สธ. ไม่ถึง 2 ปี เห็นผล ดันศักยภาพ รพ.ตติยภูมิดูแลผู้ป่วยซับซ้อนเพิ่ม ทั้งผ่าตัดสมอง หัวใจ และรักษามะเร็ง เหตุช่วยกระจายผู้ป่วยโรคทั่วไปรับบริการยัง รพ.ลูกข่ายแทน ระบุเฉพาะกรณี “ผ่าตัดไส้ติ่ง” ลดลงถึง 700 รายต่อปี แถมลดส่งต่อผู้ป่วยซับซ้อนเข้ารักษายังโรงเรียนแพทย์ ขณะที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จ.สกลนคร เร่งพัฒนาเปิดบริการครบ 5 สาขาหลัก รองรับผู้ป่วยทั่วไปจาก รพ.สกลนคร และ รพ.อุดรธานี เพิ่ม ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการ 

18 ก.ย. 57 ช่วงระยะเวลา 2 ปี ของการดำเนินนโยบายเขตสุขภาพ หน่วยบริการแต่ละระดับในหลายพื้นที่เริ่มปรากฎประสิทธิผลที่มาจากการการรวมบริหารจัดการระดับเขตภายใต้หลักการแบบไร้รอยต่อ (Seamless) รวมไปถึงการจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan)

โรงพยาบาลนครพิงค์ เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตเมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งภารกิจของโรงพยาบาลระดับตติยภูมิคือ ต้องเป็นโรงพยาบาลระดับเชี่ยวชาญ รักษาโรคยากและซับซ้อน เป็นหน่วยบริการที่คอยสนับสนุนการบริการของโรงพยาบาลระดับรองลงมา แต่ที่ผ่านมากลับไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่เจ็บป่วยเล็กน้อยด้วยโรคทั่วไป ต่างมุ่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ส่งผลให้ผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยด้วยโรคที่ซับซ้อนต้องการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไม่ถึงการรักษา

นพ.วิรัช พันธ์พานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีการดำเนินนโยบายเขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบริหาร ซึ่งแต่เดิมแต่ละหน่วยบริการจะบริหารจัดการเองภายในหน่วยบริการ ทั้งในด้านการบริหารจัดการและงบประมาณ รวมไปถึงการลงทุนต่างๆ ทำให้ประสบปัญหาทั้งในด้านงบประมาณที่ไม่พอเพียงและความคุ้มค่าในการลงทุน แน่นอนสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการบริหารผู้ป่วย แต่ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำเขตบริการสุขภาพ ที่เป็นการรวมบริหารจัดการระดับเขต 4-8 จังหวัด โดยเฉพาะการทำ Service plan ที่จัดทำเป็นระดับขั้นของขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยบริการแต่ละระดับ รวมไปถึงการวางระบบส่งต่อ เน้นการบริหารจัดการแบบไร้รอยต่อ ไม่เพียงแต่ส่งผลให้หน่วยบริการมีประสิทธิภาพในการบริการเพิ่มขึ้น แต่ยังช่วยลดความแออัด ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ภายใต้งบประมาณที่จำกัด

“รูปแบบเขตบริการสุขภาพจะเหมือนกับล้อเกวียน ตรงกระดุมล้อที่อยู่ตรงกลาง จะเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ส่วนระดับรองลงมาเป็น รพ.ทุติยภูมิจะอยู่โดยรอบออกมา ขณะที่อยู่ปลายสุดจะเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ การรักษาจะไล่ระดับเช่นกัน ผู้ป่วยเล็กน้อยจะรักษายังหน่วยบริการปฐมภูมิ ส่วนที่มีอาการหนักมากขึ้นจะรักษายังหน่วยบริการทุติยภูมิ ส่วนที่ป่วยด้วยโรครักษายากและซับซ้อนจะส่งรักษายังหน่วยบริการตติยภูมิ”

นพ.วิรัช กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 1 ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน โดยจะมี รพ.ตติยภูมิ 3 แห่ง ที่รับดูแลผู้ป่วยโรคซับซ้อน คือ รพ.นครพิงค์ รพ.ลำปาง และ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งตามแผนจะดูแลกลุ่มผู้ป่วย อาทิ โรคหัวใจ อุบัติเหตุ มะเร็ง และเด็กอ่อนที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นต้น โดยในส่วนของ รพ.นครพิงค์ จะรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเตียงผู้ป่วย 673 เตียง มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครบทุกสาขา มีเจ้าหน้ากว่า 120 คน ทำหน้าที่รับส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.ขนาดเล็กโดยรอบ อย่างที่ รพ.ฝาง และ รพ.จอมทอง ที่ตั้งอยู่ทิศเหนือ ซึ่งเป็น รพ.ขนาดกลางมีเตียงผู้ป่วย 200 เตียง มีแพทย์สาขาหลักประจำอยู่ ได้แก่ สูติกรรม ศัลยกรรม กุมารเวช โสต ศอ และนาสิก และด้านยูโร เป็นต้น

ขณะที่ รพ.ฝาง และ รพ.จอมทองจะเป็น รพ.ที่รับส่งต่อจาก รพ.ระดับรองลงไปเช่นกัน อย่าง รพ.แม่อาย รพ.ไชยปราการ รพ.ฮอด  รพ.ดอยเต่า รพ.อมก๋อย และ รพ.ดอยหล่อ นอกจากนี้ยังมี รพ.สันทราย รพ.หางดง และ รพ.สันป่าตอง ซึ่งเป็น รพ. 90-120 เตียง ซึ่งอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ในอนาคตจะถูกพัฒนาให้มีแพทย์สาขาหลักเพื่อทำหน้าที่สกัดผู้ป่วยที่จะเข้าสู่ รพ.นครพิงค์ ทั้งนี้เพื่อให้ รพ.นครพิงค์ เป็น รพ.ตติยภูมิที่เหลือเพียงการรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนเท่านั้น

“ในอดีต รพ.นครพิงค์ มีคนไข้ล้นมาก เฉพาะผู้ป่วยนอกตกวันละ 2,000 คน ส่วนผู้ป่วยในมี 700 คน แต่หลังจากที่จัดทำเขตสุขภาพ เดินหน้า  Service plan ทำให้กระจายผู้ป่วยบางส่วนไปรับบริการยัง รพ.ทุติยภูมิแทน ที่เห็นชัดคือ ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบที่มีกว่า 3,000 รายต่อปี แต่เดิม รพ.นครพิงค์ต้องรับผ่าตัดประมาณร้อยละ 60-70 แต่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 40 เท่านั้น หรือลดลงถึง 700 รายต่อปี โดยกระจายผู้ป่วยไปผ่าตัดยัง รพ. 6 แห่งที่อยู่โดยรอบแทน ด้วยการเข้าไปเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลด้วยการจัดเตรียมห้องผ่าตัด เครื่องมือแพทย์ และศัลยแพทย์ นอกจากนี้ยังช่วยลดอัตราผู้ป่วยไส้ติ่งแตกจากการรอคิวผ่าตัดลงได้” ผอ.รพ.นครพิงค์ กล่าว และว่า นอกจากนี้ยังจัดทำเครือข่ายการให้คำปรึกษาการรักษาผู้ป่วยใน รพช. อาทิ สาขาออร์โธปิดิกส์ ด้วยการส่งข้อมูล ภาพอาการผู้ป่วยทางไลน์ เพิ่มศักยภาพการรักษา ทำให้ไม่ต้องส่งต่อผู้ป่วยมายัง รพ.นครพิงค์

นพ.วิรัช กล่าวว่า ขณะที่การรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนของ รพ.นครพิงค์ มีจำนวนเพิ่มขึ้น และที่เห็นเป็นรูปธรรมคือจำนวนผู้ป่วยผ่าตัดสมอง จากเดิม รพ.นครพิงค์ ต้องส่งต่อไปยัง รพ.มหาราชเชียงใหม่ หรือในกรณีเร่งด่วนต้องเชิญอาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาผ่าตัดให้ แต่ปัจจุบัน รพ.นครพิงค์ จากภาระการรักษาผู้ป่วยโรคทั่วไปที่ลดลง ทำให้ รพ.ทำหัตถการผ่าตัดสมองได้เอง โดยปี 2555 อัตราการผ่าตัดสมองอยู่ที่ 400 รายต่อปี แต่หลังจาก Service plan ในปี 2556 ยอดผ่าตัดผู้ป่วยสมองขึ้นไปอยู่ที่ 900 รายต่อปี และในปี 2557 ช่วงครึ่งปีแรก รพ.ผ่าตัดผู้ป่วยทางสมองไปแล้ว 500 ราย การจัดเขตบริการสุขภาพ สธ. จึงนับเป็นระบบประสิทธิภาพที่ช่วยประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างยิ่ง นอกจากนี้ รพ.นครพิงค์ยังเป็น รพ.แม่ข่ายเขต 1 ตอนบนที่รับส่งต่อผู้ป่วยผ่าตัดสมองจาก จ.ลำพูน และแม่ฮ่องสอน รับผิดชอบประชากร 2.3 ล้านคน รวมประชากรต่างด้าวอีก 1 ล้านคน โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม 

“เขตบริการสุขภาพ ทำให้ รพ.ระดับตติยภูมิต้องทำงานหนักเนื่องจากต้องดูแลผู้ป่วยโรคซับซ้อนที่เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น แต่นับเป็นระบบที่มีความคุ้มค่าทางภูมิศาสตร์ เพราะเป็นการลงทุนที่รวมบริหารจัดการแบบไร้รอยต่อ ด้วยการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ไม่เพียงแต่แง่การรักษา แต่รวมถึงการบำบัดฟื้นฟู ที่เชื่อมต่อเป็นระบบเดียวกัน ซึ่งเบื้องต้นเขตสุขภาพยังจำกัดเฉพาะหน่วยบริการ สธ. แต่ในอนาคตจะประสานไปยังโรงเรียนแพทย์ และ รพ.สังกัดอื่นๆ  ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด”  ผอ.รพ.นครพิงค์ กล่าว และว่า นอกจากผู้ป่วยผ่าตัดสมองแล้ว ยังมีการดูแลเด็กแรกคลอดที่ซับซ้อนและต้องลงทุนทรัพยากรค่อนข้างมาก โดย รพ.ได้เพิ่มการดูแลจาก 30 เตียง เป็น 40 เตียง ทำให้ดูแลผู้ป่วยเด็กแรกคลอดที่ส่งต่อเข้ามาเพิ่มขึ้น  

ขณะที่ “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน” จ.สกลนคร นับเป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิระดับ N1 ที่ถูกพัฒนาขึ้นตามแผนเขตบริการสุขภาพที่ 8 ด้วยการเพิ่มศักยภาพในการรักษาและดูแลผู้ป่วย นพ.วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ ผู้อำนวยการ รพ.สมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน กล่าวว่า ตามโครงสร้างเขตบริการสุขภาพ รพ.ทุติยภูมิระดับ N1 นับว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากต้องทำหน้าที่รับผ่องถ่ายผู้ป่วยที่ล้นและต้องรอคิวนานจาก รพ.ระดับตติยภูมิ ที่เป็น รพ.แม่ข่าย ซึ่งถูกกำหนดบทบาทให้รับดูแลเฉพาะผู้ป่วยโรคซับซ้อน ด้วยเหตุนี้ รพ.สมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดินจึงถูกพัฒนาให้สามารถบริการรักษาผู้ป่วยใน 5 สาขาหลัก คือ สูติกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวช และออร์โธปิดิกส์ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำทั้ง 5 สาขาดังกล่าว

“ในการจัดทำแผนเขตบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข ทางผู้บริหารได้มีการพูดคุย เพื่อกำหนดบทบาทของหน่วยบริการ และจากที่ถูกกำหนดเป็น รพ.N1 อะไรที่ทำไม่ได้ต้องพัฒนาเพื่อให้ศักยภาพ เช่น แต่เดิมผ่าคลอดไม่ได้ต้องทำให้ได้ ผ่าไส้ติ่งไม่ได้ต้องทำให้ได้ หรือขยับจากการผ่าตัดกระดูกเป็นผ่าตัดเปลี่ยนข้อ โดยจัดหาแพทย์เฉพาะทางตามสาขาหลัก เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ อบรมบุคลากร เพื่อให้เป็นหน่วยบริการทุติยภูมิในการกระจายผู้ป่วยจาก รพ.ศูนย์ ทั้ง รพ.สกลนคร รพ.อุดรธานี”

นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า นอกจากบทบาทการพัฒนาศักยภาพการบริการแล้ว รพ.สว่างแดนดินยังมีบทบาทในการร่วมพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการลูกข่ายในระดับรองลงไป ที่เป็นการเชื่อมต่อการบริหารที่เรียกว่าไร้รอยต่อภายในจังหวัด อาทิ การอบรมการให้ยาละลายลิ่มเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ การจัดเตรียมระบบกระจายยา ทันทีที่มีผู้ป่วยจะได้รับการดูแลทันท่วงที โดยจะมีการส่งต่อผู้ป่วย ส่งต่อข้อมูล เพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา รวมไปถึงการสนับสนุนเพิ่มการบริการเพื่อให้ผู้ป่วยที่จำเป็นเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น อย่างการสนับสนุนให้มีการบริการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน เป็นต้น

ทั้งนี้จากการดำเนินแผนเขตสุขภาพ ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมายอมรับว่า รพ.ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจน คือ จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อจาก รพ.โดยรอบ อัตราการครองเตียงขยับเพิ่มไปถึงร้อยสิบเปอร์เซ็น เหล่านี้มาจาก รพ.ที่ถูกพัฒนาศักยภาพให้รักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น และจากที่ รพ.มีเนื้อที่กว่าร้อยไร่ ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเตรียมที่จะเพิ่มการก่อสร้างอาคารเพื่อให้ขยายการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ลดการส่งต่อผู้ป่วยออกนอกเขต

“มองว่าทิศทางการพัฒนาเขตสุขภาพ โดยเฉพาะการจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาล เดินมาถูกทางแล้ว ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา แต่ยังเป็นการบริการที่มีคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพให้กับหน่วยบริการ มีการกำหนดบทบาทของหน่วยบริการแต่ละระดับที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามมองว่าในอนาคต เขตสุขภาพต้องทำให้ได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อบริการแบบไร้รอยต่อที่ต้องทำให้จริงจังมากขึ้น ที่ต้องควบคู่กับการสร้างความตระหนักต่อการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชน ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดโรค ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยลงได้”