ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทีมเภสัชกร-สหวิชาชีพ ประจำโรงพยาบาลชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ โชว์ผลงานทางวิชาการ 5 เทคนิคขั้นตอน ช่วยให้ผู้ป่วยโรคหืด คุมอาการหอบหืดได้เอง และได้ผล และปลอดภัย ส่งผลให้ผู้ป่วยร้อยละ 70 ไม่ต้องไปพ่นยาที่โรงพยาบาล และลดอัตราการนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ถึงร้อยละ 92

ภญ.ภัทรจิตรา สมานชาติ

ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2557 ณ ศูนย์ประชุมและสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระว่างวันที่ 10-12 กันยายน 2557 ภญ.ภัทรจิตรา สมานชาติ ประจำโรงพยาบาลชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้นำเสนอผลงานวิชาการ ด้านสาขาเภสัชกรรมเรื่อง “เขย่าอม กดพร้อมดูด กลั้นแล้วกลั้ว” เป็นเทคนิคการปฏิบัติตัวในการพ่นยาป้องกันหอบหืด และยาขยายหลอดลมขณะเกิดอาการ ช่วยให้ผู้ป่วยรู้เทคนิคในการใช้ยาพ่นเองอย่างปลอดภัย ลดอัตราการมาโรงพยาบาล และการนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพิ่มคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น

ภญ.ภัทรจิตรา ให้สัมภาษณ์ว่า การนำเสนอวิชาการในเรื่องนี้ เนื่องจากในรอบ 3 ปีมานี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา โรงพยาบาลชำนิ มีผู้ป่วยโรคหืด มารับบริการในคลินิกโรคหืด 76 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคน อายุเฉลี่ย 41 ปี เป็นหญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง และเกษตรกร ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่ไปพบแพทย์ตามนัด เนื่องจากไม่สะดวกในการเดินทาง และไม่ใส่ใจการดูแลตัวเอง เมื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกไปเยี่ยมบ้านก็ไม่พบ และจากการศึกษาการใช้ยาพ่นขยายหลอดลมเองที่บ้านเมื่อเกิดอาการเฉียบพลัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังใช้ยาพ่นไม่ถูกวิธีเช่น ผู้ป่วยมักจะไมกลั้นลมหายใจ ไม่บ้วนปาก ไม่กลั้วคลอ พ่นยาติดกันหลายครั้งโดยไม่เว้นช่วง ทำให้การรักษาไม่ได้ผล เนื่องจากละอองยาไม่เข้าที่หลอดลม ทำให้เกิดผลเสีย และเสี่ยงเสียชีวิตได้สูง

ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหอบหืด ให้สามารถพ่นยาได้ถูกวิธี และสามารถดูแลตัวเองได้ในภาวะฉุกเฉิน ที่เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน ทีมเภสัชกรได้ร่วมกับทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาลชำนิ คิดค้นเทคนิค 5 ขั้นตอนให้ผู้ป่วยโรคหืดสามารถนำไปใช้ได้ คือ “เขย่าอม กดพร้อมดูด กลั้นแล้วกลั้ว”โดยมี 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ให้เขย่าตัวยาพ่น เพื่อให้ยากระจายทั่วกระบอกยา 2.ให้ผู้ป่วยใช้ริมฝีปากอมปากหลอดพ่นยาให้สนิท 3.ให้ผู้ป่วยสูดยา ไปพร้อมๆกันกับการกดกระบอกยา เพื่อให้ละอองยา กระจายลงไปสู่หลอดลมได้อย่างเต็มที่ 4.ให้กลั้นลมหายใจสักระยะ และ5.กลั้วยาที่พ่นเข้าไป เพื่อให้ละอองยาได้ไหลลงสู่หลอดลมได้อย่างเต็มที่ โดยการสอนผู้ป่วยจะสอนตัวต่อตัว และให้ฝึกทำต่อหน้าทุกครั้งที่มารับบริการ

ภญ.ภัทรจิตรากล่าวต่อว่า ผลการดำเนินการในรอบ 3 ปีนี้ พบว่าได้ผลดี ผู้ป่วยที่ได้รับยาพ่น สามารถนำไปพ่นยาเองได้อย่างถูกต้อง สามารถควบคุมอาการได้ผลดี ไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ถึงร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคหืดทั้งหมด สามารถลดปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาได้จาก 47 ครั้งเหลือเพียง 11 ครั้ง ทำให้ลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ ถึงร้อยละ 92 และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง