ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จัดประชุมวิชาการด้านอาหารปลอดภัย นครหลวงเวียงจันทน์–หนองคาย-ขอนแก่นเพื่อสร้างเครือข่ายอาหารปลอดภัยสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2015 ตอกย้ำความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวได้บริโภคอาหารที่สะอาดปลอดภัย และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

วันนี้ (22 กันยายน 2557) นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการด้านอาหารปลอดภัย นครหลวงเวียงจันทร-หนองคาย-ขอนแก่น เพื่อเตรียมเข้าสู่เวทีอาเซียน ณ โรงแรม อัศวรรณ จังหวัดหนองคาย ว่า กรมอนามัย โดยศูนย์อนามัยที่ 6 ขอนแก่น ได้จัดทำโครงการอาหารปลอดภัยไทย-ลาว เตรียมความพร้อมสู่อาเซียน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 และต่อเนื่องในปี 2557 เพื่อให้เกิดแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือ และพัฒนาเกณฑ์ประเมินอาหารปลอดภัยไทย-ลาวแบบบูรณาการทั้ง 2 ประเทศ

โดยพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง3 ฝ่าย ภายใต้กรอบความร่วมมือ Food Safety Colabolation (FSC) การพิจารณาบูรณาการเกณฑ์ประเมินร้านอาหาร Clean Food Good Taste ฝ่ายไทย และ Safe Food Good Health ฝ่าย สปป.ลาว และได้เกณฑ์ประเมินร้านค้าอาหารแบบบูรณาการภายใต้ชื่อ แบบตรวจร้านอาหาร เวียงจันทน์-หนองคาย เพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สำหรับใช้เฉพาะพื้นที่ชายแดนหนองคาย นครหลวงเวียงจันทน์ ภายใต้เกณฑ์การประเมิน 15 ข้อ อาทิ 1) ไม่เตรียมปรุงอาหารบนพื้นและบริเวณหน้าห้องน้ำ ห้องส้วม และเตรียมปรุงอาหารบนโต๊ะที่สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร 2) อาหารสดจะต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุง หรือเก็บอาหารประเภทต่างๆ ต้องแยกเก็บเป็นสัดส่วน อาหารประเภทเนื้อสัตว์ดิบเก็บในอุณหภูมิที่ ต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส 3) เขียงและมีดต้องมีสภาพดี ไม่มีรอยแตก แยกใช้ระหว่างเนื้อสัตว์สุก เนื้อสัตว์ดิบ ผักและผลไม้ 4) มูลฝอย และน้ำเสียทุกชนิด ได้รับการกำจัดด้วยวิธีที่ถูกหลักสุขาภิบาล และ 5) ผู้สัมผัสอาหารแต่งกายสะอาด สวมเสื้อ มีแขน ผู้ปรุงต้องผูกผ้ากันเปื้อนที่สะอาด สวมหมวกหรือใช้เน็ทคลุมผม เป็นต้น

กรมอนามัยได้นำเกณฑ์ไปทดลองใช้ตรวจร้านอาหารทั้ง 2 ประเทศในพื้นที่ชายแดนหนองคาย นครหลวงเวียงจันทน์ จำนวน 8 ร้าน ได้แก่ ร้านพอนทิบ โอเปร่า ไชโย ครัวตำมั่ว ภัตตาคารแม่โขง ร้านมูนเดอะไนท์ ร้านโป๊ยเซียน และร้านกับข้าวลาว ซึ่งผลการตรวจแบคทีเรีย 40 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่พบการปนเปื้อนที่ภาชนะประเภทเขียง และการตรวจสารปนเปื้อนฟอร์มาลีน บอแรกซ์ สารกันรา ในอาหาร 45 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อน สำหรับการตรวจร้านอาหารในจังหวัดหนองคาย จำนวน 8 ร้าน ได้แก่ ร้านครัวคูณเก้า ร้านเรือนริมน้ำ ร้านเลอโขง ร้านชายโขง ร้านหลังจวน ร้านครัวสุขสันต์ ร้านข้าวต้ม และร้านเวียนนา ผลการตรวจด้านแบคทีเรีย 10 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่พบปนเปื้อนที่มือผู้ปรุง และผู้ช่วยผู้ปรุง มีดทำอาหารและเขียง

"ทั้งนี้ การตรวจด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของร้านอาหารในพื้นที่ชายแดนหนองคาย นครหลวงเวียงจันทน์ รวมทั้งร้านอาหารในจังหวัดหนองคายที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมตรวจ ไทย-ลาว ได้ให้ข้อเสนอแนะในเรื่องการใช้วัสดุ ปกคลุมเขียง การจัดวางภาชนะสะอาด การใช้อ่างล้างจาน และการใช้ถังขยะชนิดฝาเหยียบ เปิดปิดในห้องเตรียมปรุงอาหาร การล้างมือของพนักงานผู้ปรุง ผู้ช่วยปรุง ผู้เสริฟ และพื้นห้องปรุงประกอบอาหาร ซึ่งทุกร้านพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำ” นายแพทย์ณรงค์ กล่าว

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในต้อนท้ายว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2015 จะทำให้เศรษฐกิจของ แต่ละประเทศมีความเจริญก้าวหน้า จึงต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงานเฝ้าระวังในเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหาร ซึ่งกรมอนามัยได้ให้ความสำคัญ เพื่อให้ประชาชนรวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ ได้บริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ได้ตามมาตรฐาน เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินอาหาร และสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ และยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของประเทศอีกด้วย