ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขคงมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ทั้งการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค การรักษา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ คาดสถานการณ์การระบาดจะคงอยู่ต่อเนื่องไป 6-9 เดือน เผยผลการตรวจคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ 1,612 ราย ไม่พบรายใดมีไข้

วันนี้ (23 กันยายน 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค และคณะ ประชุมวอร์รูมกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาและความพร้อมด้านแพทย์และสาธารณสุขทุกจังหวัด โดยให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขยังคงมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าสถานการณ์การระบาดยังคงอยู่ไปอย่างน้อย 6-9 เดือน ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้ แม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ระบาด และมีความเสี่ยงต่ำที่จะมีการระบาดในประเทศก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท ขอให้ทุกจังหวัดตื่นตัว เตรียมพร้อมที่จะรับมืออย่างเต็มที่

องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาทั่วโลก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2557 พบผู้ป่วย5,843 ราย เสียชีวิต 2,803 ราย โดยผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งคือ 3,022 ราย อยู่ในประเทศไลบีเรีย ซึ่งขณะนี้องค์การอนามัยโลก มีความกังวลและได้ขอความร่วมมือจากนานาประเทศเพื่อให้ลดมาตรการกีดกันเรื่องการเดินทาง เนื่องจากจะทำให้การส่งความช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหา ยากลำบากขึ้น

ทางด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ไทยใช้มาตรการการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศ 3 ระดับ คือ ที่ด่านควบคุมป้องกันโรคระหว่างประเทศ ที่โรงพยาบาลภาครัฐ ภาคเอกชน และในระดับชุมชน ผลการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค ที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศตั้งแต่ 8 มิถุนายน ถึง 22 กันยายน 2557 สะสม 1,612 ราย เฉพาะวันที่ 22 กันยายน 2557 จำนวน 36 ราย ทุกรายไม่มีไข้ และจะได้ติดตามผู้เดินทางต่อเนื่องจนครบ 21 วันตามมาตรการเฝ้าระวัง ส่วนในโรงพยาบาลมีระบบรายงานข้อมูลและจัดเตรียมห้องแยกโรคในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั้ง 96 แห่ง ให้รองรับผู้ป่วยเข้าข่ายสอบสวน ผู้ป่วยสงสัย หรือผู้ป่วยยืนยันได้ ซึ่งที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเข้าข่ายสอบสวน 2 รายซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่ามาใช่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ส่วนในชุมชนได้เฝ้าระวังเข้มข้นในพื้นที่ที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่หนาแน่น

สำหรับมาตรการรักษา ได้มีการจัดอบรมแพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่ต้องดูแลผู้ป่วยทั้งโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน ให้มีความพร้อมในการดูแลหากมีผู้ป่วย ด้านห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อโรค ได้พัฒนาให้โรงพยาบาลศูนย์ทั้ง 26 แห่ง สามารถส่งต่อเลือดในการตรวจยืนยันโรคได้ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์เพิ่มอีก 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตน์ฯ และโรงพยาบาลเลิศสิน ให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้รวมทั้งประชุมโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการเก็บและส่งเลือดตรวจยืนยัน

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการฝึกซ้อมการส่งต่อผู้ป่วย การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล และการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยกรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมากๆ โดยร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม เพื่อสร้างความมั่นใจในการเตรียมรับหากสถานการณ์ขั้นรุนแรงที่สุด รวมทั้งอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ดูแลผู้ที่สังเกตอาการ ให้มีความรู้ ทักษะ การปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสโรค และได้จัดหาอุปกรณ์ป้องกันร่างกายตามแบบมาตรฐาน จำนวน 34,000 ชุด กระจายไปให้โรงพยาบาลและหน่วยงานเครือข่ายต่างๆทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาคตามแผนที่ได้กำหนดไว้ มาตรการต่างๆที่ดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานและคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก