ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิบดีกรมควบคุม ยันไม่พบอีโบลากลายพันธุ์ติดต่อผ่านลมหายใจ เผยสถานการณ์การระบาดในแอฟริกาตะวันตก ยังคงที่ ชี้กรณีพบผู้ป่วยชม. ละ 5 คนเป็นเรื่องปกติ ส่วนในไทยยังติดตามอาการผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงในช่วง 21 วัน กว่า 100 คน ไม่มีสัญญาณก่อโรค 

นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวการกลายพันธุ์ของไวรัสอีโบลาว่า สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางลมหายใจ ว่า ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่พบการกลายพันธุ์ กระแสข่าวที่ออกมาเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น ทั้งนี้ โดยปกติเชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุ์กรรมอยู่แล้ว เช่น ไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ แต่การการกลายพันธุ์ หลักๆ มี 2 อย่างคือ กลายพันธุ์แล้วรุนแรงมากขึ้น หรือกลายพันธุ์แล้วดื้อยา ส่วนมากเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเชื้อไวรัสอีโบลาไม่ค่อยพบการกลายพันธุ์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ในการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไม่เคยพบว่าเปลี่ยนรูปแบบการติดต่อแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่หรือแม้แต่เชื้อไวรัสเอชไอวี
       
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สถานการณ์การติดต่อของเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกนั้น ไม่เรียกว่าดีขึ้นแต่ถือว่าคงที่ โดยสถิติขององค์การอนามัยโลกยังพบผู้ป่วยประมาณ 6 พันกว่าคน ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 3 พันกว่าคน อัตราการป่วยและเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 60 ส่วนกรณีที่พบมีผู้ป่วยชั่วโมงละ 5 คน ในพื้นที่การระบาดนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะขณะนี้มีการตั้งศูนย์การรักษาทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้นจากเดิมที่ยังไม่มี รพ. รักษาก็จะพบผู้ป่วยนอนเสียชีวิตข้างถนน
       
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า สำหรับการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศไทยตอนนี้ถือว่าเข้มแข็ง ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ต้องใช้เวลานานถึง 6 วันในการตรวจสอบในขณะที่ของประเทศไทยเข้า รพ. เพียงวันเดียวก็สามารถตรวจทราบได้ว่ามีเชื้อไวรัสดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้นของไทยเฝ้าระวังเข้มงวดกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ทางด้านสุขภาพช่วง 21 วัน ซึ่งเป็นช่วงระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 100 กว่าราย ทั้งหมดสุขภาพแข็งแรง ไม่มีสัญญาณก่อโรค ส่วนใหญ่เป็นชาวไนจีเรีย ส่วนประเทศกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน นั้นมีแค่ 10 กว่าคนเท่านั้น ช่วงหลังมานี้ไม่ค่อยเข้ามาในประเทศไทย เพราะต้นทางมีการจำกัดการเดินทาง