สภาการพยาบาลปรับหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลรับมือภาวะสังคมผู้สูงอายุ อัปเกรดความรู้ด้านโรคเรื้อรัง - การดูแลคนแก่ ประสานงานร่วมกับพยาบาลวิชาชีพทำงานส่งเสริมสุขภาพในระดับชุมชน ตั้งเป้าผลิต 16,000 คนใน 2 ปี

       

รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง

รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล เปิดเผยว่า จากแนวโน้มสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุกว่า 16% ของประชากรทั้งหมด และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับอัตราการเกิดที่ต่ำลง ทำให้ในอนาคตปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ซึ่งในส่วนของสภาการพยาบาลเองตระหนักและเห็นความจำเป็นในการดูแลสุขภาพของประชากรกลุ่มดังกล่าว ตั้งแต่การป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุที่ต้องการการพึ่งพิง ด้วยเหตุนี้ยุทธศาสตร์ของสภาการพยาบาลจะเน้นการผลิตบุคลากรที่มีความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในสถานบริการและในชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในเมืองไทยจะพักอาศัยอยู่ที่บ้านเป็นหลัก
       
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สภาการพยาบาลได้วางแผนหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อผลิตบุคลากรเพื่อรองรับแนวโน้มดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างการจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับงานด้านชุมชนสำหรับพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล เพื่อผลิตบุคลากรออกไปดูแลสุขภาพประชากรสูงอายุในทุกพื้นที่ ซึ่งในส่วนของพยาบาลวิชาชีพจะเพิ่มความรู้เกี่ยวกับชุมชนในฐานะการเป็นผู้จัดการวางแผนดูแลสุขภาพ ขณะที่หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลจะเป็นอีกส่วนสำคัญ เพราะจะต้องเป็นผู้ลงไปปฏิบัติงานในระดับชุมชน ในรูปแบบการทำงานที่มีพยาบาลวิชาชีพประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นผู้จัดการแผนงานดูแลผู้สูงอายุ และมีผู้ช่วยพยาบาลเป็นทีมงานออกไปทำงานในพื้นที่ ทั้งนี้ หลักสูตรการเรียนการสอนผู้ช่วยพยาบาลเดิมนั้น จะเน้นการผลิตบุคลากรเพื่อช่วยพยาบาลทำงานในสถานประกอบการหรือโรงพยาบาลต่างๆเป็นหลัก แต่ต่อไปนี้ต้องร่างหลักสูตรให้ทันสมัยมากขึ้นเพื่อเตรียมบุคคลากรเพื่อออกไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้านและในชุมชน
       
“การเรียนการสอนของผู้ช่วยพยาบาลต่อไป ต้องเพิ่มความรู้เกี่ยวกับชุมชน โรคเรื้อรัง และการดูแลผู้สูงอายุ เพราะหลายคนต้องการการพึ่งพิง หลายคนเป็นโรคเรื้อรัง ไม่ใช่แค่แค่เรื่องการป้อนข้าวป้อนน้ำ แต่ภาวะสุขภาพที่เขาต้องการมีมากกว่านั้น บางคนต้องการการรักษาการรักษาต่อเนื่องจากโรงพยาบาล ซึ่งผู้ช่วยพยาบาลเหล่านี้จะต้องมีความรู้ที่มากกว่าผู้ดูแลทั่วไปซึ่งอาจจะอบรมมาเพียง 3-6 เดือน แต่ผู้ช่วยพยาบาลจะเรียนในหลักสูตร 1 ปี ก็จะมีความรู้ที่ลึกและกว้างกว่า และจะทำให้การดูแลมีคุณภาพมากขึ้น” รศ.ดร.ทัศนา กล่าวและว่า สำหรับอัตราจำนวนคนที่เพียงพอต่อความต้องการนั้น นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีตำบลกว่า 8,000 แห่ง ซึ่งหากต้องการให้มีผู้ช่วยพยาบาลลงไปดูแลครบทุกหมู่บ้านจะต้องมีตำบลละ 10 คน แต่ในระยะเริ่มต้นอาจจะเริ่มที่ตำบลละ 2-4 คน รวมเป็น 16,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้สภาการพยาบาล และโรงเรียนพยาบาลกว่า 80 แห่งทั่วประเทศ สามารถผลิตบุคลากรให้ครบได้ภายใน 2 ปี และเพิ่มได้อีกตามความต้องการในอนาคต
       
นายกสภาการพยาบาล กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีหลายๆ ตำบลที่ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและการดูแลผู้สูงอายุก็เป็น 1 ในแผนงานที่ต้องทำอยู่แล้ว ดังนั้น การผลิตผู้ช่วยพยาบาลจะตอบสนองตรงกับความต้องการบุคลากรของหน่วยงานเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม อยากเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนผู้ช่วยพยาบาลที่ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่มากขึ้น โดยการบรรจุให้เป็นข้าราชการ เพราะจะช่วยดึงดูดคนให้มาทำงานได้มากขึ้น รวมทั้งควรบรรจุพยาบาลวิชาชีพที่ยังไม่มีสถานะเป็นข้าราชการ ให้บรรจุเป็นข้าราชการให้หมดโดยเร็ว