ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เผยแพร่กรอบความเห็นร่วมปฏิรูปประเทศไทยด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ความยาวทั้งสิ้น 47 หน้า โดยเป็นการรวบรวมสภาพปัญหา กรอบความคิดเห็นร่วมของประชาชน รวมถึงงานวิชาการ ก่อนนำมา “ร่อนตะแกรง” จนได้เป็น“พิมพ์เขียว” ฉบับสมบูรณ์

เฉพาะประเด็น “สาธารณสุข” แบ่งออกเป็น 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ระบบสาธารณสุข 2.ระบบการคลังสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพ

โฟกัสไปที่ “ระบบสาธารณสุข” ประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ทิศทางนโยบาย “สร้างนำซ่อม” หรือกระจายอำนาจตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เรื่อง "การปรับโครงสร้างทางอำนาจ" รวมถึงให้โรงพยาบาลปรับเป็นองค์การมหาชน เฉกเช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว

ทั้งนี้ การปฏิรูป “ระบบสาธารณสุข” สามารถแยกย่อยได้อีก 6 หัวข้อ ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงนโยบายด้านสาธารณสุข 2.การพัฒนากฎหมาย สร้างระบบธรรมาภิบาล และกลไกการเฝ้าระวังตรวจสอบถ่วงดุล 3.การปรับโครงสร้างและจัดเขตบริการสุขภาพ 4.การพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพ 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ 6.การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุขร่วมกัน

สำหรับ การปรับปรุงนโยบายด้านสาธารณสุข กระตุ้นให้มีนโยบายเป็นระบบสุขภาพเชิงรุก ที่มุ่งส่งเสริมสุขภาพดีของประชาชน ควบคู่กับการมีหลักประกันที่อุ่นใจในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เอื้ออาทร โดยยึดหลัก “สร้างนำซ่อม” เริ่มตั้งแต่การมีนโยบายเร่งปรับปรุงระบบโครงสร้างและกลไกการจัดการ เพื่อให้เกิดความพอเพียง ความปลอดภัย และความมั่นคงของระบบอาหาร โดยมีความเป็นเอกภาพ

สร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อม และการทำงานเพื่อลดผลกระทบจากขยะ สารพิษ มลภาวะทางอากาศและน้ำ และความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ โดยการเร่งทบทวนและปรับปรุงกลไกนโยบาย กฎหมาย และการจัดการ นอกจากนี้ต้องเร่งรัดการปรับระบบการควบคุมป้องกันโรค ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ทั้งในกลุ่มโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ

สร้างระบบการควบคุมป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ โดยให้มีเครือข่ายครอบคลุมกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในด้านระบบการเฝ้าระวัง การสืบสวนสอบสวนโรค ขีดความสามารถทางห้องปฏิบัติการ การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง การเสริมประสิทธิภาพทางการวิจัย และพัฒนาเพื่อการควบคุมป้องกันโรค ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของสังคมทุกระดับ

พัฒนารูปแบบ และกลไกที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา และลดผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากการอพยพย้ายถิ่นฐาน แรงงานข้ามชาติ การคมนาคม และการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เทคโนโลยีใหม่ๆ และผลกระทบจากการค้าเสรี รวมถึงส่งเสริมนวัตกรรม และมาตรการทางสังคม เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ และควบคุมป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม โดยเฉพาะอุบัติเหตุ โรคเอดส์ มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิต และยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง

เร่งรัดมาตรการการส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ โดยครอบคลุมทั้งการสร้างนโยบายสาธารณะที่ดี การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อสุขภาพ การเสริมสร้างกิจกรรม สุขภาพในชุมชน การพัฒนาทักษะสุขภาพ และการปรับระบบบริการสุขภาพ พัฒนากลไกด้านนโยบาย และแผนในระดับมหภาค เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะที่ดี (Healthy Public Policies) และสามารถตรวจสอบทิศทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมให้เกื้อกูลต่อการมีสุขภาพดีของประชาชน

ระดมความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ ในสังคม ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการร่วมกันสร้างเสริมสิ่งแวดล้อม ที่เกื้อกูลต่อการมีสุขภาพดี สร้างกิจกรรม และเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพ และร่วมกันพัฒนาทักษะสุขภาพในสังคมทุกระดับ จัดให้มีบริการสาธารณสุขที่หลากหลาย มีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนทั่วไป และกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์และ/หรือชาวไทยภูเขา ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ

รวมทั้งจัดงบประมาณหรือระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืนและเพียงพอให้กับสถานพยาบาลทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ และความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้อย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มประชากรไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม รวมทั้งบุคคลชาวไทยที่ยังมิได้มีการพิสูจน์สถานะซึ่งไม่มีตัวเลขประจำตัว 13 หลัก ที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ โดยยึดถือมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 ว่าด้วย ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลทั้งนี้จะต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้บริการสาธารณสุขในทุกระดับ ทั้งระบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการและให้เจ้าหน้าที่มีทัศนคติที่ดีต่อผู้รับบริการปรับปรุงประสิทธิภาพและการบริหาร

จัดการระบบประกันสุขภาพโดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานและกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ร่วมการจัดทำแผนปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกระยะ 5 ปี และมีการทบทวนการทำงานทุก 1 ปี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มประสิทธิภาพระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ โดยมีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมและกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน

หัวข้อต่อมาคือ การพัฒนากฎหมาย สร้างระบบธรรมาภิบาล และกลไกการเฝ้าระวังตรวจสอบถ่วงดุล ปรับมาตรการทางด้านกฎหมาย และมาตรการการเงิน การคลังด้านสุขภาพ ให้เป็นไปอย่างเอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการมีสุขภาพดี และการควบคุมป้องกันโรค

เร่งรัดมาตรการเพื่อความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างระบบการเฝ้าระวัง และการติดตามตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพควบคู่กับการเสริมพลังอำนาจให้แก่ผู้บริโภค และการสร้างระบบจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายอย่างเป็นธรรม

พัฒนาระบบธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการด้านยา และเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา เช่น วัสดุทันตกรรม วัสดุวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงวัสดุสำนักงานสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุล (Watch and Voice) โดยมีทั้งกลไกประชาคมสาธารณสุข และกลไก (สภา) ที่ปรึกษาสาธารณสุขอาวุโส

ในส่วนของ การปรับโครงสร้างและจัดเขตบริการสุขภาพ เน้นการกระจายอำนาจให้โรงพยาบาล ยึดโยงกับพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยกระจายอำนาจตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เรื่อง "การปรับโครงสร้างทางอำนาจ" ในกรณีของสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขจะไม่มีอำนาจบริหารโรงพยาบาลโดยตรง แต่โรงพยาบาลจะปรับเป็นองค์กรมหาชน ดังเช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว หรือขึ้นอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับเปลี่ยนสถานบริการของรัฐให้เป็นระบบการบริหารจัดการที่คล่องตัว (Public Autonomous Management Unit) และให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานบริการประชาชนให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งประเทศ และลดภารกิจการบริหารจัดการของรัฐบาลกลางลง

ทั้งนี้ ให้การอุดหนุนทางการเงินที่เป็นธรรมตามภาระที่สถานบริการแบกรับอยู่ตามปัจจัย ลักษณะการกระจายประชากรและภูมิประเทศพิจารณาปรับให้รวมเป็นเขตบริการสุขภาพ เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกัน และให้จัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมทุกเขตพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อสามารถให้บริการสุขภาพที่ครอบคลุมและทั่วถึง เร่งปรับปรุงระบบโครงสร้าง และกลไกการจัดการ เพื่อให้เกิดความพอเพียงความปลอดภัย และความมั่นคงของระบบอาหาร โดยมีความเป็นเอกภาพ ทั้งในด้านนโยบาย การบริหารจัดการ และการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ

ส่งเสริมความเข้มแข็งของ “จุดจัดการสุขภาพ” ในระดับต่างๆ ให้มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยเน้นให้มีการจัดทำแผนงานเชิงบูรณาการกับหน่วยงานหลักพัฒนาระบบข้อมูล การกำกับติดตาม และ การประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ได้แก่ เขตสุขภาพ (เขตตรวจราชการเดิม) และ เขตจังหวัด/อำเภอ/ตำบล

หัวข้อต่อมาคือ การพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพ ต้องดำเนินการให้มีแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan)โดยมีระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี มุ่งพัฒนาระบบบริการทุกระดับ ตั้งแต่ระดับ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาความเชี่ยวชาญระดับสูง สร้างระบบที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั้งภายในจังหวัด ภายในเขต และเป็นเครือข่ายระดับประเทศ เพื่อให้มีแผนแม่บทในการพัฒนาระบบบริการ ใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สำนักงบประมาณต่อไป

การสร้างระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ กล่าวคือเป็นระบบบริการสุขภาพแบบบูรณาการ (Integrated Health Care System) ที่มีหลักการ และคุณสมบัติสำคัญ คือให้บริการที่ครอบคลุมทั้งคุณภาพเชิงสังคม และเชิงเทคนิคบริการ และครอบคลุมบริการที่จำเป็นทั้งหมด ไม่มีความซ้ำซ้อนของบทบาทสถานพยาบาลในระดับต่างๆ มีความเชื่อมโยงระหว่างสถานพยาบาลแต่ละระดับ เป็นการเชื่อมโยงทั้งการส่งต่อผู้ป่วย และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้ป่วย โครงสร้างระบบสุขภาพ มีองค์ประกอบที่สำคัญประกอบด้วย บริการปฐมภูมิ บริการทุติยภูมิ บริการตติยภูมิ บริการระดับศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง และระบบส่งต่อ

นอกจากนี้ยังควรมีระบบสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ ระบบสนับสนุนทรัพยากร ระบบสนับสนุนวิชาการ และการวิจัย และระบบข้อมูลข่าวสารระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ของประเทศไทย ควรเป็นระบบบริการแบบพหุลักษณ์ กล่าวคือ เป็นการผสมผสานทั้งการแพทย์กระแสหลัก คือ การแพทย์ตะวันตก โดยที่ไม่ละเลยทอดทิ้ง การผสมผสานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาทั้งที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น และจากต่างประเทศ ได้แก่ การบริการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านไทย และแพทย์ทางเลือก เข้าร่วมจัดบริการ และให้การดูแลทางด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน รูปแบบวิธีการจัดบริการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านไทย และแพทย์ทางเลือก หมายรวมถึงบริการ และการดูแลสุขภาพ ทั้งโดยกลุ่มวิชาชีพที่ทำหน้าที่ให้บริการ หรือใช้ความรู้ความสามารถ ตามวิชาชีพของตนเอง และการดูแลตนเองในครอบครัว ชุมชน และการบริการในสถานบริการภาครัฐ และเอกชน

แพทย์แผนไทยไม่ควรใช้เพียงเสริมการรักษา (Adjuvant treatment) เพราะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย ควรมีการวิจัยพัฒนาเพื่อนำการแพทย์แผนไทยมาทดแทนด้านการรักษา (Replacement Therapy) ส่งเสริมสุขภาพโดยการสนับสนุนให้เกิด “เครือข่ายสุขภาพ” ภาคประชาชน เช่น เสริมบทบาท อสม. และอาสาสมัครอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ ให้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น

พัฒนาศักยภาพของกลไก และองค์กรทางสังคมทุกระดับ เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้านสุขภาพ ตั้งแต่สถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชนและสถานที่ทำงาน เพื่อสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ระบบการศึกษา ระบบสื่อสารมวลชน และการสร้างเครือข่ายการสื่อสาร เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกื้อกูลต่อการมีสุขภาพดี

ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อมุ่งให้เกิดสุขภาวะทั่วทั้งสังคมมุ่งส่งเสริมสนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน และขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น หมอพื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพบนหลักการพึ่งตนเองการป้องกัน/ควบคุมโรค การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ เน้นการปัจจัยทั้งมวลที่คุกคามสุขภาพ โดยอาศัยความเข้มแข็งทางวิชาการและการจัดการ ทำงานอย่างได้ผล เพื่อลดการป่วย การตาย ความพิการโดยมีแนวทางการทำงานเชื่อมโยงอย่างเป็นเครือข่ายกับชุมชน ท้องถิ่น โดยองค์กรทุกระดับต้องมีส่วนร่วม

เพิ่มความสามารถในการควบคุมปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มุ่งลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค และสนับสนุนพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ โดยใช้มาตรการทางสังคม มาตรการทางกฎหมายควบคู่กับมาตรการด้านการเงินการคลัง สุขภาพเพื่อการสร้างสุขภาพ และลดอัตราการเกิดโรคที่เกิดจากพฤติกรรมสังคมที่ไม่เหมาะสม

มุ่งสร้างการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพในเชิงรุก กำหนดให้มีหน่วยงานของรัฐที่บริหารจัดการอิสระ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางด้านสุขภาพ และเผยแพร่ต่อสาธารณะ พัฒนาระบบบริการให้ดีขึ้น ลดการรอคอย ลดการปฏิเสธการส่งต่อผู้ป่วย ขยายจุดให้บริการนอกโรงพยาบาล โดยส่งแพทย์ไปดูแลผู้ป่วยในระดับโรงพยาบาลตำบลเพิ่มขึ้น ให้ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ได้รับการฟื้นฟูสภาพในโรงพยาบาลทุกแห่งและได้รับยาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ ผลักดัน พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องในด้านการจัดการ (กำลังคน การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ฯลฯ) เพื่อให้มีความพร้อมในการเตรียมการด้านกำลังพลและเกิดความเป็นธรรมกับบุคลากรสาธารณสุขในทุกระดับ จัดทำแผนผลิต และพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ กำหนดให้มีระบบกำลังคนด้านสุขภาพ ที่สร้างความเป็นธรรม มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาล สร้างขวัญกำลังใจ โดยการปรับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และมีมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับผลกระทบ

สุดท้ายคือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุขร่วมกัน ร่วมออกแบบการทำงาน ให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทั่วถึง โดยการวิเคราะห์ทรัพยากรทั้งหมดทั้งภาครัฐและเอกชน แยกประเภท และ แบ่งสรรให้ตามลักษณะของบริการสุขภาพ ในแต่พื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน ให้ขยายมาตรการทั้งใน และนอกระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ และริเริ่มมาตรการใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งลด หรือยกเลิกมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ควรเพิ่มการลงทุนในมาตรการด้านการป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพ ทั้งการป้องกันโรคในระบบสุขภาพ และนอกระบบสุขภาพ การใช้มาตรการทางการเงินการคลังที่มีประสิทธิภาพ เช่น การขึ้นภาษีบุหรี่ และสุรา รวมทั้งการควบคุมป้องกันโรคโดยมีชุมชนเป็นหลัก โดยค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลควรให้คงที่หรือลดลง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

พิมพ์เขียวปฏิรูปสุขภาพ 2 (จบ) ‘ขรก.ใหม่ใช้บัตรทอง-ชงร่วมจ่าย’