ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เปิดเผยว่า รัฐบาลอินเดียได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า  บุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเทศที่จำหน่ายในอินเดียตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2558  ต้องพิมพ์ภาพคำเตือนขนาด 85% ของพื้นที่ซองบุหรี่ทั้งสองข้าง  จากกฎหมายปัจจุบันที่ภาพคำเตือนมีขนาด 40% และพิมพ์อยู่เพียงด้านเดียวของซองบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือเฉลี่ยข้างละ 20% ซึ่งทำให้อินเดียที่เดิมมีภาพคำเตือนขนาดใหญ่ลำดับที่ 136 ของโลก พุ่งขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งเท่ากับประเทศไทย  ทั้งนี้กฎหมายกำหนดว่าส่วนที่เป็นรูปภาพต้องมีขนาด 60% และส่วนที่เป็นข้อความคำเตือนมีขนาด 20% โดยในส่วนที่เป็นข้อความคำเตือนนั้น  จะต้องพิมพ์ด้วยภาษาเดียวกันกับที่ใช้กับชื่อยี่ห้อบุหรี่ในแต่ละท้องถิ่น  ซึ่งหากเป็นภาษาอังกฤษต้องมีภาษาอินเดียด้วย โดยต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนภาพทุก 12 เดือน  และให้เวลาสองเดือนสำหรับสินค้าค้างสต็อกที่จะขายในตลาดได้ ในแต่ละครั้งที่มีการเปลี่ยนภาพคำเตือน  ที่สำคัญคือกฎหมายกำหนดขนาดภาพคำเตือนขนาดเล็กที่สุดว่ามีความกว้าง 3.5 ซม.  และยาว 4.0 ซม. เป็นอย่างน้อยสำหรับซองบุหรี่มาตรฐาน ทำให้สินค้ายาสูบที่ซองมีขนาดเล็กกว่าซองบุหรี่ซิกาแรตขนาดมาตรฐาน ต้องขยายขนาดซองเพิ่มขึ้น  ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด  ขณะที่ซองบุหรี่ที่มีขนาดภาพคำเตือนขนาดใหญ่ขึ้น ภาพคำเตือนต้องมีขนาดสัดส่วน 85% ของพื้นที่ซองที่ใหญ่ขึ้น

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า รัฐบาลอินเดียได้ออกประกาศนี้อย่างสายฟ้าแลบ  ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดของประเทศไทยได้ยกคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ประกาศภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ขนาด 85% กระทรวงสาธารณสุขไทย เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้บริษัทบุหรี่ต้องพิมพ์ภาพคำเตือนขนาด 85% ทั้งนี้กระบวนการออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุขอินเดียได้กระทำอย่างลับสุดยอด ไม่ให้บริษัทบุหรี่รับรู้เพื่อป้องกันการขัดขวางของบริษัทบุหรี่  จนมีการเปิดเผยข่าวดังกล่าว หลังจากประกาศฉบับดังกล่าวลงประกาศเป็นกฎหมายอย่างสมบูรณ์โดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข  นายฮาร์ช วาด์ฮาน  ซึ่งเป็นศัลยแพทย์หูคอจมูกที่ต้องรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำคอจากการใช้ยาสูบมากมาย  เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ทั้งนี้อินเดียมีผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาสูบปีละหนึ่งล้านคน  โดยร้อยละ 12 ของชายและร้อยละ 0.9 ของหญิงอินเดียเสียชีวิตจากการใช้ยาสูบ  และข้อมูล พ.ศ.2552  พบว่า  อินเดียมีผู้ใช้ยาสูบทั้งสิ้น 229  ล้านคน โดยเป็นยาสูบชนิดมีควัน 131 ล้านคน และยาสูบชนิดเคี้ยว 98 ล้านคน