ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ASTVผู้จัดการรายวัน - ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ยื่น "หมอรัชตะ" ตรวจสอบ "หมอประชุมพร" ทุจริตเวลาราชการ เบิกค่าอยู่เวรทุกวัน ทั้งที่มีกิจธุระเดินทางไปประชุม ด้าน "หมอประชุมพร" พร้อมให้ตรวจสอบ ก่อนแจง รพ.สุรินทร์มีพยาธิแพทย์ 3 คน แต่งานตรวจชิ้นเนื้อมีมากถึง 1 หมื่นชิ้นต่อปี จึงอยู่เวรทุกวัน ไม่มีวันหยุด เพื่อคนไข้รู้ผลตรวจเร็ว รักษาเร็ว เผยไปราชการ กลับมาชดใช้เวรเพิ่มเป็น 2 เท่า

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เดินทางมายื่นหนังสือต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการทุจริตของ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ พยาธิแพทย์ประจำโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) สุรินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งขณะนี้ สธ.มีแนวการดำเนินงานเป็นกระทรวงสีขาว คือการสร้างธรรมาภิบาล และปราบการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะเรื่องของการโกงเวลาราชการ

ทั้งนี้ นางปรียนันท์ กล่าวว่า ตนได้รับข้อมูลจากกลุ่มคนรัก รพศ.สุรินทร์ว่า พญ. ประชุมพร ปฏิบัติหน้าที่ส่อไปในทางทุจริต ทั้งที่เป็นผู้หนึ่งที่อยู่เคียงข้าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ในฐานะเป็นแกนนำประชาคมสาธารณสุข ออกมาประกาศว่าจะเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการทุจริตในกระทรวงฯ แต่กลับปฏิบัติหน้าที่ที่ส่อไปในทางทุจริต จึงขอให้ทาง ศ.นพ.รัชตะ ตรวจสอบเรื่องนี้ นั่นคือ ประเด็นการรับเงินค่าอยู่เวรของ พญ. ประชุมพร ย้อนหลังไปเพียง 2 เดือน จากการตรวจสอบพบหลักฐานการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเป็นประจำทุกวัน ทั้งในวันราชการและวันหยุด คือ ทำงานอยู่เวรทั้งวันธรรมดา ตั้งแต่ 16.00-24.00 น. ทุกวัน และวันหยุดก็ทำงานอยู่เวรตั้งแต่ 08.00-16.00 น. ทุกวันหยุด  ไม่มีวันหยุด เบิกค่าอยู่เวร เวรละ 1,100 บาททุกวัน แต่ความเป็นจริงก็ทราบว่า พญ. ประชุมพรมีประชุมงาน เดินทางมา กทม.ด้วย

"นอกจากการเบิกค่าตอบแทนแล้ว ยังมีการเบิกเบี้ยเลี้ยงการเดินทางไปประชุมด้วย เป็นการเบิกเงินซ้ำซ้อน เป็นการทุจริตต่อหน้าที่อย่างชัดแจ้ง จึงอยากให้มีการตรวจสอบย้อนหลัง 5 ปี จะพบว่ามีอะไรผิดปกติทั้งนี้ หลักฐานทั้งหมดได้ยื่นให้ รมว.สาธารณสุขแล้ว และได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)" นางปรียนันท์ กล่าว

ด้าน พญ.ประชุมพร กล่าวว่า พร้อมที่จะให้มีการเข้ามาตรวจสอบ ส่วนจะฟ้องกลับหรือไม่นั้นต้องขอดูเอกสารหลักฐานที่มีการ กล่าวหาก่อน สำหรับประเด็นการเบิกค่าอยู่เวร ทุกวันนั้น ต้องขอชี้แจงว่า ปัจจุบัน รพ.สุรินทร์มีพยาธิแพทย์เพียง 3 คน แต่มีชิ้นเนื้อต้องทำการตรวจประมาณ 10,000 ชิ้นต่อปี จึงต้องมีการทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด โดยการทำงานจะแบ่งเป็น 3 ส่วนงาน ได้แก่ ตัดชิ้นเนื้อ อ่านผล และงานเซลล์วิทยา โดยแต่ละวันแพทย์แต่ละคนจะรับผิดชอบงานคนละส่วน แล้วการอยู่เวรวันถัดไปจะสลับส่วนงานกัน เช่น วันจันทร์ตนอยู่เวรตัดชิ้นเนื้อ วันอังคารก็จะอยู่เวรอ่านชิ้นเนื้อ เป็นต้น แพทย์แต่ละท่านจึงมีเวรทุกวัน แต่หากใครต้องไปราชการหรือมีธุระก็จะฝากงานในส่วนที่รับผิดชอบไว้กับแพทย์ท่านอื่น เมื่อกลับมาก็ทำงานในส่วนของตนตามที่อยู่เวรและทำงานเพิ่มในส่วนของแพทย์ที่ฝากงานไว้เมื่อวันก่อนด้วย

พญ.ประชุมพร กล่าวอีกว่า ส่วนการอยู่เวรนอกเวลาราชการ เพราะกระบวนการตรวจชิ้นเนื้อบางส่วนจะเสร็จสิ้นหรือเริ่มต้นในช่วงนอกเวลาราชการ เช่น ชิ้นเนื้อที่ส่งมาจากงานศัลยศาสตร์ ซึ่งบางครั้งผ่าตัดเสร็จหลัง 5 โมง เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผลการตรวจชิ้นเนื้อของคนไข้ทราบผลโดยเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยต่อไป ถ้าทราบผลตรวจชิ้นเนื้อเร็ว ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาตามแนวทางโดยเร็ว ที่สำคัญ รพ.สุรินทร์ไม่ได้ตรวจชิ้นเนื้อเฉพาะคนไข้ของ รพ.สุรินทร์เท่านั้น แต่ต้องตรวจของ รพ. ประจำอำเภอ และรพ.ประจำจังหวัดใกล้เคียงด้วย และจากการประเมินการประกันคุณภาพโรงพยาบาลตั้งแต่ปี 2545-ปัจจุบัน งานชิ้นเนื้อของ รพ.สุรินทร์ได้คะแนนเต็มมาตลอด โดยการันตีทราบผลใน 2-3 วันหากเป็นชิ้นเนื้อเล็ก และ 5 วันสำหรับชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ ซึ่งถือว่ามีความเร็วเป็นระดับต้นของประเทศ

"การร้องเรียนในครั้งนี้ไม่เข้าใจว่าประธานเครือข่ายผู้เสียหายฯ เดือดร้อนเรื่องอะไร จากการที่หมอตัดหรืออ่านชิ้นเนื้อให้ทุกวันและนอกเวลาด้วย ซึ่งจะเป็นผลดีกับคนไข้ โดยมองว่าอาจเป็นเพราะต้องการดิสเครดิตหมอให้ได้รับความเสียหาย เพราะที่ผ่านมาหมอออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขค่อนข้างมาก อาจทำให้บางคน หรือบางกลุ่มไม่พอใจได้" พญ.ประชุมพร กล่าวและว่า ตนอยากให้ นางปรียนันท์ ตรวจสอบการทำงานของแพทย์บางชมรมที่แว่วว่าบางคนเป็น ผอ.โรงพยาบาลชุมชน แต่เข้าทำงานที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 1-2 วันเท่านั้น เฉลี่ยต่อเดือนทำงานไม่ถึง 15 วัน ซึ่งตามระเบียบของ สธ.ไม่สามารถเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เงินประจำตำแหน่งได้ แต่มีการเบิกประจำทุกเดือน ถามว่าแบบนี้ทุจริตเวลาหรือไม่ ขณะที่กรณีของตนได้อยู่เวรจริง ทำงานจริง เพราะงานพยาธิแพทย์ไม่มีใครสามารถทำแทนได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พญ. ประชุมพร เคยยื่นเรื่องฟ้องร้องประธานเครือข่ายผู้เสียหายฯจากกรณีที่กล่าวหาว่าแพทย์ในประเทศไทย ทำให้มีคนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์มากถึง 60,000 ราย

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 22 ตุลาคม 2557