ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พยาบาลประจำ รพ.สต.โคกหล่าม จ.ศรีสะเกษ ประสบผลสำเร็จในการป้องกันปัญหาแม่วัยรุ่น โดยพัฒนาระบบบริการ ตั้งคลินิกวัยใสในรพ.สต. เปิดเฟซบุ๊ค ไลน์ และโทรปรึกษาสายตรง ตลอด 24 ชั่วโมง ให้ความรู้เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ เพศศึกษา แก่วัยรุ่นในโรงเรียนมัธยมศึกษา ประถมศึกษา และพ่อแม่ในชุมชน สร้างสัมพันธภาพระหว่าง รร. ชุมชน รพ.สต.เสมือนบ้านหลังเดียวกัน พบได้ผลดีในรอบ 1 ปี ต.โคกหล่ามไม่มีแม่วัยใส วัยรุ่นท้องซ้ำ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2555 มีวัยรุ่นตั้งครรภ์ 7 คน ในจำนวนนี้ 1 คนอายุเพียง 13 ปี

นายสมบูรณ์ แนวมั่น พยาบาลวิชาชีพประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โคกหล่าม อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ให้สัมภาษณ์ว่าได้ทำศึกษาวิจัย เรื่อง ช่วยน้องไม่ท้องซ้ำ นำบริการวัยใส เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นในต.โคกหล่าม เนื่องจากข้อมูลในปี 2555 ที่ตำบลโคกหล่ามซึ่งมีประชากร 4,048 คน เป็นวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี 147 คน พบว่ามีวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปีตั้งครรภ์ 7 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุ 13 ปีกำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 1 คน จึงได้ทำการศึกษาชุมชนเพื่อหาสาเหตุพบว่า เกิดจากขาดความรู้เรื่องเพศศึกษาและอนามัยเจริญพันธุ์ การคบเพื่อนต่างเพศแบบคู่รัก และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

ผู้วิจัยจึงได้ร่วมกับทีมงานพัฒนาระบบบริการของรพ.สต.โคกหล่าม เพื่อแก้ไขและป้องกันวัยรุ่นตั้งครรภ์รายใหม่ และป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ โดยปรับปรุงระบบการจัดบริการของรพ.สต. ให้บริการวัยรุ่นแบบวันสตอป เซอร์วิส(One Stop Services) รวดเร็วทันใจ ทั้งในคลินิกรับฝากครรภ์ การจัดระบบการให้คำปรึกษาและเครือข่ายการส่งต่อ ไปยังโรงพยาบาลอุทุมพรพิสัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร ในปี 2555 ได้จัดตั้งคลินิกวัยใส สายใยเพื่อวัยรุ่น ให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว พร้อมเปิดบริการปรึกษาวัยรุ่นทางเฟสบุ๊คชื่อส้มจี๊ดสุดหวานเจี๊ยบ และทางโทรศัพท์มือถือของผู้วิจัยตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน ได้จัดโครงการให้ความรู้เรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ เพศศึกษา ปัญหาจากการตั้งครรภ์ และการคลอดที่ไม่พึงประสงค์ การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการวางแผนครอบครัว เน้นหนักใน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มวัยรุ่นหญิงในตำบลโคกหล่ามจำนวน 68 คน 2.กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง 120 คน และ3.กลุ่มวัยรุ่นหญิง ในตำบลโคกหล่ามที่มีความเสี่ยงเกิดปัญหาในโรงเรียนมัธยมศึกษา 1 แห่ง และประถมศึกษา 3 แห่ง รวม 120 คน ผลการดำเนินการในปี 2556 มีวัยรุ่นรับบริการที่คลินิกวัยใส 35 ราย โทรสอบถามปัญหา 14 ราย ปัญหาที่ปรึกษามากที่สุดคือมีเพศสัมพันธ์แล้วกลัวท้อง กลัวติดโรค และการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน เนื่องจากวัยรุ่นจะไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันหรือคุมกำเนิดอื่นๆ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ แต่จะนิยมกินยาคุมกำเนิดฉุกเฉินหลังมีเพศสัมพันธ์

ผู้วิจัยกล่าวต่อไปว่า จากการติดตามประเมินผลภายหลังดำเนินการแก้ไขปัญหา ทั้งการจัดกิจกรรม ให้ความรู้ความเข้าใจ ในกลุ่มวัยรุ่น ผู้ปกครอง รวมทั้งครูที่โรงเรียน ทำให้เกิดเครือข่ายและการพัฒนาระบบบริการให้วัยรุ่นเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกขึ้น โดยพบว่าวัยรุ่นตำบลโคกหล่ามมีความรู้ความเข้าใจเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์และเพศศึกษาดีขึ้น อัตราการตั้งครรภ์ในวัยเรียนลดลง โดยในปี 2557 ไม่มีหญิงในตำบลโคกหล่ามตั้งครรภ์ เมื่ออายุ 15-19 ปี และไม่มีหญิงวัยรุ่นตั้งครรภ์ซ้ำ รวมทั้งเกิดความเข้มแข็งเครือข่ายในการทำงานแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รพ.สต. กับภาคีต่างๆได้แก่ผู้บริหารโรงเรียน ครูอนามัย แกนนำนักเรียน สภาเด็กและเยาวชน ผู้นำชุมชน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และมีระบบการดูแลเด็กที่มีปัญหาระหว่างโรงเรียน ชุมชน กับคลินิกวัยใสมากขึ้นเปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังเดียวกัน ส่งผลให้วัยรุ่นและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง