ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : ท่าทีล่าสุดของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ระบายความอัดอั้นตันใจต่อหน้าผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลอีกหลายร้อยคน ย่อมสะท้อนนัยสำคัญว่าสงครามระหว่าง สธ.และ สปสช.ไม่ใช่สงครามประสาทที่พูดกันวงเล็กๆ แสดงออกอย่างลับๆ อีกต่อไป หากแต่คือการตัดสินใจกระโดดออกมานำศึกอยู่แถวหน้าใส่นวมเตรียมขึ้นชกกับ สปสช.อย่างชัดเจน

อันที่จริงในประวัติศาสตร์ของระบบสุขภาพนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำข้าราชการจะแสดงอาการโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง สปสช. ที่เป็นผู้กุมเงินก้อนใหญ่สุดในระบบสุขภาพ เพราะในช่วงแรกๆ ของโครงการ "30 บาทรักษาทุกโรค" ก็เคยมีปลัดกระทรวงรวมหมอใส่ชุดดำต้านโครงสร้างนี้ทั่วประเทศมาแล้ว เล่นกันแรงถึงขนาดที่ว่าเรียก นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้คิดค้นโครงการว่าเป็น "คอมมิวนิสต์"

แต่บริบทหลายอย่างวันนั้นกับวันนี้ต่างกันสิ้นเชิง เพราะเงินตั้งต้นของโครงการ 30 บาทเมื่อ 12 ปีที่แล้ว อยู่ที่หัวละ 1,200 บาท/คน/ปีแต่ขณะนี้พุ่งสูงถึง 2,851 บาท/คน/ปี ขณะเดียวกันคุณภาพการรักษาพยาบาลก็ไม่ได้แย่อย่างที่หลายคนประเมินตอนแรกว่า "30 บาท"จะทำให้ตายทุกโรค

นอกจากนี้ 12 ปีที่ผ่านมา โครงการ 30 บาท เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับองค์กรตระกูล ส. ที่ผลิดอกออกใบภายใต้ร่มเงาของนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสและเครือข่ายลูกศิษย์ใกล้ชิด ทำให้อำนาจหลายอย่างค่อยๆหายไปจาก สธ.ตามไปด้วย

เป็นต้นว่า อำนาจการเป็น "ผู้ซื้อบริการ" ที่สธ.เคยจัดซื้อยา เครื่องมือแพทย์ หรือการบริการบางอย่างด้วยตัวเอง กลายเป็นอยู่กับสปสช.เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ หรืออำนาจการดูแลระบบ "ส่งเสริมป้องกันโรค" ก็ไปอยู่กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สปสช. คงเหลือแต่เพียงการเป็นเถ้าแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ ภารกิจด้านควบคุมโรค การทำงานวิชาการ และการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานเท่านั้น

ขณะที่ สปสช.แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปก็ยิ่งเพิ่มความไม่พอใจให้กับผู้บริหารและข้าราชการกระทรวง เพราะระบบการทำงานของ สปสช.ในฐานะผู้ซื้อ ตั้งโจทย์การใช้เงินเบิกจ่ายที่ยุ่งยากซับซ้อน ทำให้คนใน สธ.รู้สึก "รำคาญ"กับ สปสช.ที่ทำตัวเป็น "คุณพ่อรู้ดี" เข้ามายุ่มย่ามกับกระทรวงหลายเรื่อง

หมอณรงค์เข้าใจดีว่าหากปลุกวาทกรรมเรื่องความจุกจิกของกองทุน 30 บาทขึ้นมาจะสามารถเรียกแขกเข้ามาร่วมถล่ม สปสช.ได้อีกไม่น้อย ยิ่งปลุกศักดิ์ศรีความเป็นข้าราชการใส่ชุดสีกากีขึ้นมา ก็ยิ่งสร้างความฮึกเหิมให้พลังของฝ่ายตัวเอง

ยิ่ง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ.ปล่อยให้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ก็ทำให้ปลัด สธ. เผยแพร่แนวคิดนี้พร้อมกับรวบรวมพลังออกเป็นวงกว้างตามไปด้วย

แม้ขณะนี้ศึกภายในวงการหมอยังจำกัดวงอยู่ระหว่าง สธ. และ สปสช.เท่านั้น แต่คนในรู้ดีว่านี่คือสงครามตัวแทนระหว่างปลัด สธ.และทีมที่ปรึกษารัฐมนตรี สธ. ซึ่งมีองค์กรตระกูลส.สนับสนุน

สงครามตัวแทนยกแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักงาน สปสช. เขต 12 ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ยะลา และสงขลานำพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแม้แต่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ออกมาชูป้ายโจมตี สปสช. ว่าเป็น "สอ ปอ สอ พลอ"เป็นตัวการทำให้โรงพยาบาลขาดทุน เจ้าหน้าที่เกิดความทุกข์

แม้จะมีการยืนยันจากทุกฝ่ายรวมถึงหมอณรงค์ว่าไม่เคยสั่งการให้ชุมนุมต้าน สปสช. แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีหลักฐานเป็นหนังสือสั่งการว่าผู้ใหญ่ในจังหวัด ได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ สธ.ใน จ.ปัตตานี นำคนมาร่วม "แลกเปลี่ยนเรียนรู้"กับ สปสช.จริง รวมไปถึงมีกระแสข่าวว่าเตรียมสั่งการให้ขึ้นป้ายต้าน สปสช.ในโรงพยาบาลและ สสจ.ทั่วประเทศอีกด้วย

ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามอย่าง สปสช.และทีมรัฐมนตรียังคงเมาหมัดถือคติตั้งรับเพียงอย่างเดียว โดยยึดหลัก "สุนทรียสนทนา" เจรจาร่วมกับ สธ.

ตรงกันข้ามกับฝ่ายปลัดเดินสายปลุกระดมปลุกศักดิ์ศรีความเป็นข้าราชการ ผู้ไม่ยอมให้สปสช.ถูกกดขี่ต่อไป รวมทั้งผลิตเพื่อนร่วมอุดมการณ์ขยายสงครามกับ สปสช.ให้เป็นณรงค์ 1 ณรงค์ 2 ต่อไป

กระทั่งทริปลงใต้ครั้งแรกในวันนี้ของหมอรัชตะและทีมงาน ที่ จ.สงขลา และปัตตานีปลัดณรงค์ฯ ก็ตัดสินใจแคนเซิลแยกกันเดินคนละทางชัดเจน

คำถามสำคัญขณะนี้ของคนใน สธ.ก็คือว่าเพราะเหตุใดเก้าอี้ปลัด สธ.ยังมั่นคง ทั้งที่มีความขัดแย้งกับฝ่ายการเมืองมากขนาดนี้

ประการแรก หากฝ่ายการเมืองตัดสินใจเชือดปลัด สธ. ก็อาจเจอกับพายุลูกใหม่ คือพายุข้าราชการถาโถมก่อม็อบต้านตัวรัฐมนตรีโดยตรงทำให้การนั่งบริหารงานที่กระทรวงประสบปัญหาตั้งแต่ 2 เดือนแรก

เหตุผลอีกหนึ่งข้อ ต้องไม่ลืมว่าในยุคที่ปลัดณรงค์ตัดสินใจเป่านกหวีดร่วมกับกำนันสุเทพเขาได้สร้างเครือข่ายจำนวนหนึ่งกับบรรดาบิ๊กข้าราชการและบิ๊กทหาร ซึ่งบัดนี้เติบใหญ่ไปเป็นรัฐมนตรี และหลายคนก็มีบทบาทสำคัญอยู่ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ในขณะนี้ ทำให้หมอณรงค์มั่นใจมากว่าเก้าอี้ของเขามีความมั่นคง ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวรุนแรงเพียงใด

หากจังหวะเคลื่อนครั้งนี้ของหมอณรงค์ประสบความสำเร็จ ตัวจักรสำคัญอย่างประชาคมสาธารณสุขก็เตรียมขยายจากหลักสิบเป็นหลักร้อยและหลักพัน เมื่อข้าราชการจับมือกันบี้ สปสช.มากเข้า ในที่สุดก็อาจถึงเวลาต้องยอมโอนอ่อนคืนอำนาจและคืนเงินบางส่วนกลับไปยังกระทรวงหมอในที่สุด ทำลายระบบผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการที่ตั้งใจให้ถ่วงดุลกันไปมาในที่สุด

แต่ถ้าเลือกสู้ ศึกนี้ก็ไม่จบง่ายๆ เช่นกันเพราะเดิมพันครั้งนี้ ไม่รัฐมนตรีก็ปลัดทั้งสองฝ่ายต่างมีกำลังไม่ย่อหย่อนไปกว่ากัน ไม่ว่าจะสู้ด้วยวิธีใดก็เจ็บตัว สะบักสะบอมด้วยกันทั้งคู่

เป็นอีกหนึ่งบทเรียนว่า ใครมานั่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงหมอก็ไม่ง่ายทั้งนั้น เพราะทั้งข้าราชการและบุคคลเบื้องหลังพร้อมจะงัดทุกสรรพกำลังออกมาฟาดฟันฝ่ายการเมืองให้แผลเหวอะหวะได้ทุกเมื่อ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 24 ตุลาคม 2557