ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อุปนายกสภาการพยาบาล” ชี้ ควรปรับหลักเกณฑ์พิจารณาความก้าวหน้า “พยาบาลวิชาชีพ” แทนการสลายระดับ รพ. เน้นเปิดโอกาสพยาบาลใน รพช.ทุกแห่งก้าวขึ้นซี 8 ได้ เผยรพช.กว่า 700 แห่ง มีพยาบาลซี 8 ไม่ถึงครึ่ง พร้อมเสนอลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ ให้ทุกวิชาชีพก้าวขึ้นตำแหน่งสูงได้ ไม่ต้องยุบรวม   

ดร.กฤษดา แสวงดี 

24 ต.ค.57 ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 กล่าวถึงกรณีข้อเสนอที่ให้สลายการแบ่งระดับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำความก้าวหน้าวิชาชีพ ว่า เมื่อพูดถึงความก้าวหน้าในวิชาชีพพยาบาล ที่ผ่านมาจะใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจากปริมาณงานและคุณภาพ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนด ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งและซีที่สูงขึ้นของข้าราชการทั่วไป แต่ข้อเท็จจริงของการทำงานในวิชาชีพพยาบาลนั้นจะมีความแตกต่าง เพราะในกรณีที่ รพช.แม้ว่าจะมีปริมาณงานน้อยกว่า รพศ./รพท. เพราะด้วยจำนวนผู้ป่วยไม่มาก แต่พยาบาลเหล่านี้ยังต้องทำงานคุณภาพที่อาจเป็นงานยากและท้าทาย อย่างเช่นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพียงแต่ต้องปรับเกณฑ์สัดส่วนพิจารณาระหว่างปริมาณงานและคุณภาพที่เหมาะสม เน้นการใช้ความรู้ความสามารถ ไม่ใช่ใช้เกณฑ์เดียวในการวัดทั้งใน รพช. และ รพศ./รพท.

ทั้งนี้ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขมีการจัดแบ่งระดับโรงพยาบาลนั้น เห็นว่าเป็นการแบ่งเพื่อเป็นการจัดระบบบริการเป็นระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ที่รวมถึงการลงทุน โดยดูว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งควรมีขีดความสามารถระดับใด ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการและลดความแออัดการเข้ารับบริการ โดยโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่ต้องกระจายทรัพยากรลงไปมาก ให้มีบทบาทในงานปฐมภูมิทำงานด้านการส่งเสริมป้องกัน ขณะที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่เน้นการรักษาโรคซับซ้อน ทั้งนี้ให้เกิดการดูแลประชาชนที่ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า ใน รพช.มีกรอบกำลังคนที่กำหนดให้มีพยาบาลซี 8 เพียงตำแหน่งเดียว ต่างจาก รพศ./รพท. ที่กำหนดให้มีจำนวนพยาบาลซี 8 หลายตำแหน่ง ที่เป็นการจำกัดความก้าวหน้าพยาบาลได้ ดร.กฤษดา กล่าวว่า ปัจจุบัน รพช.ที่มีอยู่กว่า 700 แห่ง ไม่ได้มีอัตราพยาบาลซี 8 ครบทุกแห่ง มี รพช.ไม่ถึงครึ่งที่มีตำแหน่งนี้ให้กับพยาบาล ต้องบอกว่า ตรงนี้เป็นความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพ นอกจากในกลุ่มพยาบาลวิชาชีพด้วยกันที่ทำงานใน รพช.เหมือนกัน แต่โอกาสในการก้าวขึ้นซี 8 ยังแตกต่างกัน ทั้งยังเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพเพราะเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพแพทย์แล้ว ปรากฎว่า แพทย์ไม่ว่าอยู่ในโรงพยาบาลระดับใด แม้แต่ รพช.ขนาด 10 เตียงก็สามารถขึ้นสู่ซี 9 ได้เช่นกัน ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมสิทธิเหล่านี้จึงให้เฉพาะแพทย์เท่านั้น ทั้งที่ต่างก็ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในการประกอบวิชาชีพเช่นกัน

“ความเหลื่อมล้ำในวิชาชีพ ต้องถามว่าทำไมแพทย์ใช้เกณฑ์เดียวกันในการก้าวขึ้นซี 9 ได้ โดยในการประเมินแพทย์ที่ทำงานใน รพช.กลับเห็นคุณค่างานส่งเสริมป้องกัน แต่กับพยาบาลหรือวิชาชีพอื่นๆ กลับไม่ได้รับตรงนี้ ดังนั้นหากไม่ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์นี้พยาบาลที่ทำงานใน รพช.ก็ไม่สามารถขึ้นซี 8 ได้” อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 กล่าว

ดร.กฤษดา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเพิ่มอัตราตำแหน่งซี 8 โดยในส่วนของพยาบาลและวิชาชีพอื่นๆ นั้น ทาง ก.พ.กำหนดให้ต้องมีการยุบรวมตำแหน่งซีเล็กๆ อย่าง ซี 3 และ ซี 4 เพื่อให้ได้อัตราเงินเดือนที่เท่ากับซี 8 ที่กำหนดเพิ่ม ขณะที่แพทย์ได้รับตำแหน่งซี 9 เลยโดยไม่ต้องยุบรวมตำแหน่ง ตรงนี้นอกจากไม่เป็นธรรมแล้ว ยังส่งผลต่ออัตรากำลังที่อาจทำให้เกิดความขาดแคลน รวมไปถึงยังทำให้โอกาสในการบรรจุเป็นข้าราชการของกลุ่มลูกจ้างวิชาชีพชั่วคราวในระบบลดลง ซึ่งเรื่องนี้ที่ผ่านมาทางพยาบาลวิชาชีพได้เคยรวมตัวไปยื่นต่อทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมในระบบ ซึ่งต่อมาได้หารือกับทางกระทรวงสาธารณสุข และ ก.พ. ทำให้มีการเพิ่มตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพระดับซี 8 ใน รพช.อีก 81 ตำแหน่ง 

“ที่ผ่านมามี รพช.ที่มีกรอบอัตราเงินเดือนเพียงพอที่จะเพิ่มตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพระดับซี 8 เพียงแค่กว่า 300 แห่งเท่านั้น และเมื่อบวกกับอีก 81 ตำแหน่ง ที่ได้จากการเรียกร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษย์ชน ยังมีพยาบาลที่ทำงานใน รพช.อีกกว่าครึ่งที่ไม่ได้รับโอกาสในการก้าวขึ้นระดับซี 8 เพราะติดตำแหน่งที่ถูกจำกัด ทั้งนี้คนเหล่านี้ต่างก็มีความสามารถที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งได้ ดังนั้นจึงขอเสนอให้ลดความเหลื่อมล้ำ โดยให้ทุกวิชาชีพเข้าสู่ตำแหน่ได้โดยไม่ต้องยุบรวมตำแหน่งอื่นๆ เช่นเดียวกับวิชาชีพแพทย์” ดร.กฤษดา กล่าว