ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ลงนามยกระดับ รพช.เป็นรพท.แล้ว 20 แห่ง รองวชิระแจงเหตุต้องยกระดับ เพราะเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจของเมือง มีความเจริญขึ้น ประชากรมากขึ้น ต้องพัฒนารพ.ให้รองรับได้ ส่วนข้อกังวลจะหาแพทย์เชี่ยวชาญที่ไหน 20 รพ.ก็มีอยู่แล้วครึ่งหนึ่ง และมีผู้ที่ได้รับทุนอีก ชี้ทั่วโลกแบ่งรพ.เป็นระดับ เพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงการรักษามีคุณภาพ อาจจะมีเปลี่ยนแปลงเรื่องค่าตอบแทน เพราะต้องเปลี่ยนจากเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายมาเป็นพีฟอร์พี ซึ่งสธ.ต้องดูแล

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เปิดเผยว่า การพิจารณาขอยกฐานะโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เป็นโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สป.สธ.(สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข)นั้น เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามในฐานะผู้ปฏิบัติราชการแทนปลัด สธ. เป็นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อแจ้งผลการพิจารณาดังกล่าว ซึ่งเห็นชอบให้ยกฐานะ รพช.(โรงพยาบาลชุมชน)เป็น รพท.(โรงพยาบาลทั่วไป) จำนวน 20 แห่ง ดังนี้

1. รพ.จอมทองจ.เชียงใหม่ 2. รพ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 3. รพ.บางพลี จ.สมุทรปราการ4. รพ.บางละมุง จ.ชลบุรี 5. รพ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 6. รพ.แกลงจ.ระยอง 7. รพ.มาบตาพุด จ.ระยอง 8. รพ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว9. รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 10. รพ.สมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดินจ.สกลนคร 11. รพ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี 12. รพ.นางรอง จ.บุรีรัมย์13. รพ.เทพรัตน์นครราชสีมา จ.นครราชสีมา 14. รพ.ปากช่องนานาจ.นครราชสีมา 15. รพ.ปราสาท จ.สุรินทร์ 16. รพ.วารินชำราบจ.อุบลราชธานี 17. รพ.สมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จ.อุบลราชธานี18. รพ. 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ จ.อุบลราชธานี 19. รพ.ทุ่งสงจ.นครศรีธรรมราช และ 20. รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

โดยขอให้จังหวัดจัดเตรียมข้อมูลเพื่อจัดคนลงตามโครงสร้างโรงพยาบาลเหล่านี้ และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

"การแบ่งระดับโรงพยาบาล ให้ทุกโรงพยาบาลทำเหมือนกันทั้งหมด จะได้มีความเท่าเทียมกันทุกแห่ง ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบ ข้อเท็จจริงในระบบสุขภาพ โดยเฉพาะในประเด็นการรักษาโรคพบว่า มีโรคที่พบบ่อยๆ ในทุกพื้นที่ที่คล้ายกัน สามารถที่จะให้แพทย์ทั่วไปดูแลรักษาได้ถึง 80% มีบางส่วนที่ต้องการความเชี่ยวชาญและเครื่องมือที่เฉพาะระดับหนึ่ง และสุดท้ายจะมีกลุ่มโรคที่พบน้อย หรือโรคที่ต้องการการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อน ต้องการทั้งความเชี่ยวชาญและเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง สรุปง่ายๆ ว่าเราสามารถแบ่งโรคที่ต้องรักษาผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นโรคทั่วไปที่พบบ่อยการรักษาไม่ยุ่งยาก กลุ่มที่ 2 อาจจะเป็นโรคที่พบบ่อยแต่รักษายากขึ้นหรือโรคที่พบไม่บ่อย กลุ่มที่ 3 เป็นโรคที่รักษายากมีความยุ่งยากซับซ้อนหรือเป็นโรคที่พบน้อยต้องการความเชี่ยวชาญสูงหรือ บางโรคต้องการการศึกษาวิจัย พัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ ด้วยซ้ำไป"

"หากต้องวางแผนการจัดระบบบริการการรักษาพยาบาลแล้ว การที่จะให้โรงพยาบาลทุกแห่งรักษาโรคทั้ง 3 กลุ่มนั้น มีข้อที่ต้องคำนึงถึง 2 ประการ คือ ต้องการการลงทุนงบประมาณสูงมากและ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญในทุกโรงพยาบาลนั้น ๆ ที่สำคัญมากคือ โรคที่พบน้อยหากกระจายไปทุกโรงพยาบาลจะมีโรคนั้นให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาน้อยลง ความเชี่ยวชาญจะไม่เกิดขึ้น จะผ่าตัดไม่คล่อง โอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจะมากขึ้น เหมือนกับการทำงานที่ต้องใช้ประสบการณ์ในทุกวิชาชีพ ที่ช่วงแรกของการทำงานจะทำได้ช้า โอกาสผิดพลาดมากกว่า ขณะที่เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นจะทำได้รวดเร็วและผิดพลาดน้อย ผลงานจะดีกว่า เป็นต้น"

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันทั่วโลกจะมีการแบ่งระดับโรงพยาบาลออกเป็นกลุ่มๆ คล้ายกัน คือเป็นระดับโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ดูแลประชาชนในชุมชนนั้นๆ เฉพาะโรคทั่วไปที่พบบ่อยๆมีกระจายในทุกพื้นที่ เหมือนโรงพยาบาลชุมชนในบ้านเรา หากมีโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทั่วไป ในต่างประเทศใช้คำว่า general hospital เหมือนโรงพยาบาลทั่วไปในบ้านเรา ขนาดโรงพยาบาลก็จะใหญ่ขึ้นแต่มีจำนวนน้อยกว่า แต่รักษาโรคได้มากกว่า และสุดท้ายหากเป็นโรคที่พบน้อย ต้องการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนมาก ก็จะส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางในโรคนั้นๆ เพื่อรวมให้มีผู้ป่วยที่มากพอที่จะคุ้มค่ากับการลงทุนเครื่องมือที่มีราคาแพงและให้แพทย์ได้มีความชำนาญมากขึ้นในการดูแลรักษา ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งการทำแบบนี้สอดคล้องกับการจัดระบบบริการแบบเขตสุขภาพ ที่จัดโรงพยาบาลเป็นกลุ่ม ๆ และพัฒนาให้แต่ละกลุ่มมีความเท่าเทียมกัน โรคยาก ๆ ที่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพงและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะให้มีในทุกเขตเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้จริงและมีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำกันในทุกเขตสุขภาพ

"จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงอธิบายได้เป็นอย่างดีว่า ทำไมต้องมีการยกระดับโรงพยาบาลชุมชน 20 แห่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไปสิ่งที่ประชาชนจะได้รับในพื้นที่นั้นมีมากกว่าเดิม เมื่อเมืองเจริญขึ้นประชาชนมากขึ้น ก็ต้องมีการพัฒนาโรงพยาบาลให้รองรับ และข้อเท็จจริงว่าโรงพยาบาลเหล่านี้ก็ได้พัฒนาตนเองมาระดับหนึ่ง เมื่อมีการยกฐานะก็จะเป็นตัวหนุนเสริมการพัฒนาทั้งคนและงบประมาณต่อไปในอนาคต ส่วนที่กังวลกันว่าจะหาผู้เชี่ยวชาญที่ไหนไปอยู่ข้อเท็จจริงคือ ใน 20 รพ. ที่ยกฐานะมีผู้เชี่ยวชาญอยู่แล้วครึ่งหนึ่งและทุกวันนี้มีผู้ที่ต้องการรับทุนไปเรียนต่อมากกว่าทุนที่เปิดอยู่แล้วที่สำคัญคือ ทั้ง 20 รพ. นั้นไม่ได้เป็นเมืองเล็กที่ห่างไกล กลับกันทุกแห่งเป็นเมืองที่เจริญอยู่แล้ว ฉะนั้นได้ประโยชน์ทุกอย่างโดยเฉพาะกับประชาชน จะมีก็เพียงแต่เรื่องค่าตอบแทนของการเป็นโรงพยาบาลชุมชนกับโรงพยาบาลทั่วไปที่ต่างกัน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องดูแลในส่วนนี้ต่อไป" นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ กล่าว