ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์

นสพ.มติชน : อีกเพียง 1 ปี "นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเกษียณอายุราชการ แต่ชื่อของ นพ.ณรงค์ กลับเป็นที่สนใจในแวดวงข่าวสาธารณสุขอีกครั้งจากปมร้อนกรณีมีนโยบายปฏิรูปการบริหารงานด้านสาธารณสุขในรูปแบบ "เขตสุขภาพ" แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติในทางปฏิบัติ และบทบาทหน้าที่ระหว่าง สธ.กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขณะที่ เครือข่ายองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) ด้านสุขภาพ มองว่าที่ปลัด สธ.มีแนวคิดนี้ เพราะต้องการรวบอำนาจการบริหารไปอยู่กับ สธ.ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปถึง กลุ่มผู้ป่วยในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ล่าสุด "มติชน" มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.ณรงค์ ถึงปัญหาดังกล่าว

เพราะเหตุใดจึงต้องเป็น 'เขตสุขภาพ'

การพัฒนาเขตสุขภาพเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเรื่องนี้ต้องมองย้อนไปตั้งแต่ปี 2545 ผ่านมาจนทุกวันนี้ เป็นเวลา 12 ปี ปรากฏว่าบทบาทหน้าที่ต่างๆ ไม่มีความชัดเจน ดังนั้น จึงต้องปรับให้เข้าที่ เข้าทาง อย่างที่ผ่านมา สธ.ไม่มีกองโรงพยาบาล หรือกองสาธารณสุขภูมิภาค ที่ทำหน้าที่เป็นกองหลักสนับสนุนงานส่วนภูมิภาคเลย ทำให้ทิศทางโรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องเดินด้วยตัวเอง ประกอบกับการจัดสรรงบประมาณที่ส่งตรงโรงพยาบาลนั้น ทำให้โรงพยาบาลเหล่านี้ต้องบริหารจัดการกันเอง หลายแห่งต้องจัดจ้างลูกจ้างชั่วคราวเพิ่มเติมโดยไม่มีการควบคุม และกลายเป็นปัญหา บางแห่งมีปัญหาขาดสภาพคล่อง จากเดิมโรงพยาบาลใหญ่ช่วยโรงพยาบาลเล็กก็เริ่มน้อยลง เพราะแต่ละแห่งก็ต้องบริหารจัดการกันเอง อย่างเช่นโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะพัฒนาตนเองด้านไหนก็ทำกันเอง เช่น อยากพัฒนาเป็นโรงพยาบาลเชี่ยวชาญโรคหัวใจ ก็ส่งคนไปศึกษาไปพัฒนากันเอง โดยไม่มีทิศทาง

ถูกมองว่าเขตสุขภาพคือ รวบอำนาจ

ผมได้ชี้แจงหลายครั้งแล้วว่า "เขตสุขภาพ" จะบริหารงานผ่านคณะกรรมการเขต ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ตรวจราชการ สธ. หรือบุคลากรใน สธ. แต่จะรวมมาจากทุกภาคส่วน ทั้งคนในพื้นที่ เทศบาล โดยแต่ละเขตสุขภาพ มาจากกลุ่มจังหวัด ก็จะมีตัวแทนจากทุกจังหวัดเข้ามาร่วมเสนอความคิดเห็น ที่สำคัญจะมีการตรวจสอบการทำงานของแต่ละเขต ทั้งจากภาคประชาชน และจากส่วนกลาง โดยเฉพาะกรมวิชาการ อาทิ งานด้านควบคุมโรค กรมควบคุมโรค โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรค จะมีการประเมินผลอยู่แล้ว เช่น จังหวัด ก. ฉีดวัคซีนกี่เปอร์เซ็นต์ ผ่านประเมินหรือไม่ ที่สำคัญทุกอย่างจะจบลงที่เขตเท่านั้น โดยส่วนกลาง คือ กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นเพียงผู้มอบนโยบาย ออกเกณฑ์กลาง แต่ในระดับเขต คือ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้รู้ปัญหา อำนาจต่างๆ ก็จะไปอยู่ที่เขต ซึ่งถือเป็นการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง เพราะสุดท้ายไม่มีใครรู้ปัญหาในพื้นที่ได้ดีเท่าคนในพื้นที่

สังคมสับสนกับคำว่า 'เขตสุขภาพ'

เขตสุขภาพมีทั้งหมด 3 ส่วน ที่ต้องทำงานประสานกัน สำหรับเขตสุขภาพของ สธ. คือ การบริการประชาชน ส่วนของ สปสช.มี คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต หรือ อปสข.ทำหน้าที่ซื้อบริการ ส่วนเขตสุขภาพประชาชนนั้น ขณะนี้มีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นผู้ดูแล โดยทั้ง 3 เขตสุขภาพนี่จะต้องทำงานร่วมกัน แต่จะแยกบทบาทหน้าที่กันไป

หัวใจของเขตสุขภาพคืออะไร

การจัดบริการร่วมกัน คือ หัวใจสำคัญ ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ โดยเน้นการบริการเพื่อประโยชน์ของประชาชน เบื้องต้น เน้น 10 สาขา คือ 1.สาขาหัวใจและหลอดเลือด 2.สาขามะเร็ง 3.สาขาทารกแรกเกิด 4.สาขาอุบัติเหตุ 5.สาขาจิตเวช 6.สาขาบริการหลัก 5 สาขา ได้แก่ สูติกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม และออร์โธปิดิกส์ 7.สาขาบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และดูแลสุขภาพ องค์รวม 8.สาขาทันตกรรม 9.สาขาไตและตา และ 10.สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD)

ขณะนี้ การบริการร่วมเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว ยกตัวอย่าง การให้ยาละลายลิ่มเลือด เดิมใครทำก็เบิกเงินไป แต่ในเขตสุขภาพจะตั้งเป้าให้โรงพยาบาลชุมชน ต้องสามารถให้บริการยาละลายลิ่มเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจได้ โดยมีแพทย์เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ ฝึกอบรมแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเป็นการทำงานผ่านเครือข่าย หรือที่เรียกว่า "บริการร่วม" เพราะเมื่อโรงพยาบาลชุมชนสามารถให้บริการได้ ก็จะลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยได้ เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปรับการรักษาไกลๆ แต่สามารถรับการบริการในโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ ซึ่งการจัดการบริการร่วมนั้น ขณะนี้ 12 เขตสุขภาพ สามารถให้บริการได้ และลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดได้เหลือประมาณร้อยละ 10 จากเดิมที่อัตราเสียชีวิตพบถึงร้อยละ 20

จะยุบกองทุนย่อยใน สปสช.หรือไม่

ผมยืนยันได้ว่า เราไม่เคยพูดเรื่องนี้ และไม่เคยเสนอยุบกองทุนใดๆ ใน สปสช.ทั้งสิ้น

จัดสรรงบฯ แบบ สปสช.เป็นปัญหา

ก็ไม่ได้พูดเช่นนั้นอีก และผมว่าเราไม่ควรจุดประเด็นใดๆ จนงานไม่เดิน แต่ขณะนี้จะต้องเร่งเจรจาร่วมระหว่าง สปสช.และ สธ.ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด โดยทุกฝ่ายจะต้องยึดหลัก "ประชาชน" เป็นเป้าหมายสำคัญ

มีเวลาแค่ 1 ปี จะทำอะไรได้บ้าง

มีอยู่ 4 เรื่องที่ผมต้องเร่งทำ คือ 1.ต้องมีการบริหารจัดการผ่านเขตสุขภาพ โดยการบริหารร่วมผ่านคณะกรรมการเขต ซึ่งผมจะมอบอำนาจชัดๆ ที่เขตสุขภาพ ทั้งหมดจะจบที่การตัดสินใจในเขต ไม่ใช่ที่ส่วนกลางอย่างแน่นอน 2.เรื่องกลไกการเงินการคลัง ผมอยากแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการดีขึ้น และให้โรงพยาบาลทำงานสะดวกขึ้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่มีความสุขขึ้น 3.ธรรมาภิบาล ขณะนี้ได้จัดทำระเบียบต่างๆ และจะมีโครงการโรงพยาบาลคุณธรรมขึ้น โดยให้ทุกคนในโรงพยาบาลมานั่งคุยกันว่า จะทำเรื่องอะไรเกี่ยวกับคุณธรรม เช่น คำว่าซื่อสัตย์ จะแปลงอย่างไรให้เป็นจริง เป็นต้น

และ 4.เรื่องกำลังคน จะมีทั้งการบรรจุข้าราชการ และการพัฒนากำลังคนทั้งระบบ โดยจะมีการวางโครงสร้าง กรอบกำลังอย่างไร มีคนขาดเท่าไร และต้อง ผลิตอย่างไร ซึ่งในไตรมาสนี้จะมีแผนชัดเจน รวมทั้งการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ สาขาไหนยังขาดอยู่ นอกจากนี้ เรื่องขวัญกำลังใจ ค่าตอบแทนต่างๆ จะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ

ขวัญกำลังใจ-ค่าตอบแทนเป็นประเด็นร้อน

ถ้าเป็นประเด็นร้อน ก็อาจต้องเป็นนโยบายจากรัฐบาลลงมา เพราะเรื่องนี้ มีหลากหลายวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ส่วน จะออกมาในรูปแบบไหนก็ต้องมาหารือทุกวิชาชีพ

สุดท้าย นพ.ณรงค์ ยังฝากการบ้านถึงเพื่อน "ข้าราชการ" ทุกคนว่า ข้าราชการ เป็นกำลังหลักของประเทศ และของระบบที่ทำงานให้ประชาชน หากขาดข้าราชการ ประเทศก็เดินหน้าไม่ได้ ดังนั้น ข้าราชการจึงต้อง มีความเป็นเอกภาพ ทำงานเพื่อประชาชนเป็นสำคัญ

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 10 พฤศจิกายน 2557