ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายข้าราชการต้องการความยุติธรรม หนุนแนวคิดแยก สธ. ออกจาก ก.พ. พร้อมร่วมขับเคลื่อน หลังสารพัดปัญหาแก้ไม่คืบ ทั้งบรรจุตำแหน่ง ขรก. การปรับค่าตอบแทน และการลดความเหลื่อมล้ำ เหตุติดหลักเกณฑ์ ก.พ. แถมไม่เข้าใจโครงสร้าง สธ. พร้อมเดินหน้าติดตาม ก.พ. เยียวยา ขรก.ที่ได้รับผลกระทบบรรจุก่อน 11 ธ.ค. 55

นายธนภัทร ศรีชุม

15 พ.ย.57 นายธนภัทร ศรีชุม ประธานกลุ่มเครือข่ายข้าราชการต้องการความยุติธรรม (กระทรวงสาธารณสุข) กล่าวถึงความคืบหน้าการเยียวยาข้าราชการพลเรือนสามัญที่ได้รับการจ้างเป็นพนักงานราชการหรือลูกจ้างชั่วคราวมาก่อน ที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ตามที่ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ทำหนังสือไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัดเพื่อให้เยียวยาตามความเหมาะสม ในระหว่างรอการพิจารณาหลักเกณฑ์เยียวยาจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ว่า ขณะนี้การเยียวยาของแต่ละจังหวัดยังไม่ชัดเจน อยู่ระหว่างการติดตามดูว่ามีการดำเนินการอย่างไร แม้ว่าจะมีการส่งข้อมูลจากน้องๆ ในพื้นที่มาบ้างแล้ว และถ้ามีจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งดำเนินการ จังหวัดอื่นๆ ก็ควรมีการเยียวยาเช่นกัน เพราะเป็นความเดือนร้อนที่กระทบกับลูกน้อง ซึ่งแต่ละจังหวัดอาจเยียวยาได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับงบที่มีอยู่และสามารถนำมาบริหารจัดการได้ แต่ทั้งนี้ต้องขอบคุณผู้บริหาร สธ. และผู้ว่าราชการจังหวัดที่เห็นความสำคัญในการเยียวยาระหว่างรอการจัดทำหลักเกณฑ์จากทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

ส่วนความคืบหน้าการจัดทำหลักเกณฑ์การเยียวยาของทาง ก.พ.ภายหลังจากที่ได้ยื่นเรื่องไปนั้น ได้มีการพูดคุยโดย ก.พ.ขอเวลา 2 เดือนในการจัดทำหลักเกณฑ์การเยียวยา ขณะนี้พึ่งครบหนึ่งเดือนคงต้องรอดูก่อน แต่หากครบ 2 เดือนแล้วยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ พวกเราคงต้องขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี หรือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล กพ.เพื่อขอความเป็นธรรม   

นายธนภัทร กล่าวว่า จากปัญหาบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องอัตรากำลัง ค่าตอบแทน และสวัสดิการ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ซึ่งได้มีการเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากหลายวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารบุคลากรของ สธ.อาจไม่สามารถบริหารตามหลักเกณฑ์ของ ก.พ.ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ จึงมีการเสนอแนวคิดขอให้ สธ.ออกนอกระบบ ซึ่งเครือข่ายข้าราชการต้องการความยุติธรรมฯ ขอสนับสนุนแนวคิดนี้ เนื่องจากมองว่า บุคลากรใน สธ.มีความจำเพาะ นอกจากมีบุคลากรจำนวนมากแล้ว ยังมีโครงสร้างหลากหลายวิชาชีพ แบ่งเป็นหลายระดับที่กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งไม่แน่ใจว่าทาง ก.พ.จะเข้าใจบริบทเหล่านี้หรือไม่ จึงเกิดปัญหาขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายธนภัทร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้เริ่มมีการวิเคราะห์ปัญหาและอยากให้แยกออกจาก ก.พ. เพราะที่ผ่านมามีปัญหาการจัดการอย่างมาก ตั้งแต่การกำหนดไม่ให้บรรจุเป็นข้าราชการ โดยให้เป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว ทั้งนี้การเป็นข้าราชการนับเป็นความหวังของบุคลากรตั้งแต่เข้าเรียนเป็นนักเรียนทุน ที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง นำมาสู่ปัญหาสมองไหล ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า สธ.ควรที่จะแยกบริหารเองอีกว่า แต่ในการบริหารนั้นต้องมีความเสมอภาค ทุกสายวิชาชีพต้องเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งอาจเป็นรูปแบบคณะกรรมการในการจัดวางอัตรากำลังและดูแลขวัญกำลังใจบุคลากรในระบบ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อบริการประชาชนได้อย่างเต็มที่  

“ตอนนี้ไม่ว่าบรรจุตำแหน่งข้าราชการหรือการปรับค่าตอบแทนต้องขึ้นอยู่ ก.พ.ทุกเรื่อง สมควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว และขอเป็นอีกหนึ่งเสียงที่สนับสนุนแนวคิดนี้ และจากที่ได้สอบถามไปยังกลุ่มต่างๆ ในระบบสาธารณสุข ต่างเห็นด้วยอย่างมากในการขับเคลื่อนเพื่อให้ สธ.ออกนอกระบบ ก.พ. เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นแนวคิดของคนรากหญ้า ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน หากมีการเดินหน้าที่เป็นรูปธรรม ทางเครือข่ายฯ พร้อมสนับสนุน” นายธนภัทร กล่าว