ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ปัญหาฟันตกกระ สนับสนุนท้องถิ่นพื้นที่เสี่ยงฟลูออไรด์ในน้ำสูง ส่งตัวอย่างน้ำประปาตรวจหาฟลูออไรด์ หวังป้องกันโรคฟันตกกระให้กับประชาชนในชุมชน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยการครอบฟันกว่า 10,000 บาทต่อคนด้วย

20 พ.ย.57 ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคสูง มีผลทำให้ฟันตกกระ ว่า ฟันตกกระเป็นความผิดปกติของฟันที่เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์สูง ขณะที่ฟันกำลังสร้างในช่วงตั้งแต่เด็กแรกเกิดถึงอายุ 8 ปี โดยลักษณะของฟันตกกระจะเห็นผิวฟันมีสีขาวขุ่นเหมือนชอล์ก ในรายที่เป็นรุนแรงผิวฟัน จะเห็นเป็นสีน้ำตาล เป็นหลุมหรือกะเทาะ ไม่สามารถรักษาให้หายกลับสู่ภาวะปกติได้ การแก้ปัญหาเพื่อให้ฟันสามารถใช้งานได้คือทำครอบฟัน ส่วนใหญ่ต้องทำประมาณ 4 ซี่ต่อคน และมีราคาสูงประมาณ 8,000 – 10,000 บาทต่อคน ซึ่งสาเหตุหลักของฟันตกกระมาจากน้ำบริโภคที่มีฟลูออไรด์สูง ดังนั้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้มีน้ำที่สะอาดปลอดภัยต่อการบริโภค กรมอนามัยจึงได้กำหนดมาตรฐานปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำประปาที่มีคุณภาพดีดื่มได้ไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร และยังได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แก้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคบรรจุขวดปิดสนิทไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร จากเดิมที่อนุญาตที่ 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร

ทพ.สุธา กล่าวต่อว่า เนื่องจากปัจจุบันมีรายงานฟันตกกระเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ และผลการ เฝ้าระวังฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคชุมชนของกรมอนามัยที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2556 เก็บน้ำจาก 1,912 ตำบล ใน 18 จังหวัดกระจายทั่วประเทศ อาทิ จังหวัดนครปฐม เพชรบุรี สุพรรณบุรีและสงขลา เป็นต้น จำนวน 30,213 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 14.6 มีฟลูออไรด์เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร เกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำบริโภคของ กรมอนามัย จะทำให้เด็กที่บริโภคมีความเสี่ยงที่จะเป็นฟันตกกระ และแหล่งน้ำบริโภคของชุมชนประมาณร้อยละ 3 มีฟลูออไรด์เกิน 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งจะมีผลกระทบรุนแรงและอาจมีผลต่อกระดูก

ทพ.สุธา กล่าวต่อว่า แต่เดิมฟันตกกระพบในเขตภาคเหนือตอนบน เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และทางตะวันตกของประเทศ เช่น จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี แต่ปัจจุบันมีรายงานพบฟันตกกระรุนแรงในหลายพื้นที่ในเขตภาคกลางและภาคใต้ เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม และสงขลา เป็นต้น ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีการนำน้ำบาดาลมาผลิตเป็นประปาชุมชนมากขึ้น ต่างจากในอดีตที่ประชาชนบริโภคน้ำฝน น้ำบ่อตื้นหรือน้ำผิวดินจากแม่น้ำลำธารซึ่งมีฟลูออไรด์ต่ำ โดยพบว่าน้ำบาดาลที่นำมาทำประปาชุมชนหลายแห่งมีฟลูออไรด์สูงกว่ามาตรฐานน้ำบริโภค

"ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดฟันตกกระและผลกระทบต่อสุขภาพจากพิษของฟลูออไรด์ กรมอนามัยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์การบริหารส่วนตำบล ควรส่งน้ำประปาของหมู่บ้านหรือน้ำบริโภคในพื้นที่ที่พบปัญหาฟันตกกระและมีปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มสูงเกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร ตรวจหาปริมาณฟลูออไรด์ ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันฟันตกกระในเด็กที่เสียค่าใช้จ่ายไม่มากเพียงปีละครั้ง โดยค่าตรวจฟลูออไรด์ที่สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย มีราคาไม่เกิน 100 บาท หรือการตรวจคุณภาพน้ำดื่มเพื่อหาสารปนเปื้อนที่ไม่ปลอดภัยทุกชนิดโดยศูนย์ห้องปฏิบัติการกรมอนามัย มีค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000 บาท เท่ากับการรักษาฟันตกกระของเด็กเพียง 1 ซี่เท่านั้น ส่วนประชาชนควรเปลี่ยนมาบริโภคน้ำที่มีฟลูออไรด์ต่ำ เช่น น้ำฝน น้ำผิวดิน หรือถ้าจำเป็นให้เลือกใช้หรือบริโภคน้ำบรรจุขวดแทน” ทพ.สุธา กล่าว

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า การป้องกันฟันตนกระนับเป็นภารกิจที่กรมอนามัยต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2557 นี้ กรมอนามัยในฐานะที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนการเฝ้าระวังฟันตกกระในคนไทย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการนานาชาติ "32 nd CONFERENCE OF THE INTERNATIONAL SOCIETY FOR FLUORIDE, FLUOROSIS PREVENTION: FROM RESEARCH AT THE CELLULAR LEVEL TO MITIGATION” ระหว่างวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2557 ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จังหวัดเชียงใหม่ จึงขอเชิญผู้ที่ปฏิบัติงานศึกษาวิจัย เรื่องผลกระทบของฟลูออไรด์ต่อสุขภาพ ฟลูออไรด์ในสิ่งแวดล้อม และวิธีการควบคุมหรือแก้ไขปัญหาฟลูออไรด์สูงใน น้ำบริโภค ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมประชุมได้โดยไม่มีค่าลงทะเบียน โดยติดตามรายละเอียดได้เว็บไซต์กรมอนามัย http://www.anamai.moph.go.th/