ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

21 พ.ย.57 จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับความเชื่อทางศาสนาบางประการ ซึ่งร้อยละ 90 ของประชากรเป็นชาวมุสลิม และรูปแบบการประกอบอาชีพของคนพื้นที่ปัตตานีที่เดินทางไปรับจ้างกรีดยางที่ประเทศมาเลเซีย ได้ส่งผลต่อปัญหาการบริการสาธารณสุขในพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มโรคที่สามารถป้องกันได้ ทั้งจากการให้วัคซีน และการส่งเสริมสุขภาพในด้านอื่น แต่ด้วยความเป็นพื้นที่พิเศษกลับไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้ในแต่ละปี ที่จ.ปัตตานี้ จะมีประชาชนที่ต้องสูญเสียชีวิตไปโดยไม่จำเป็น เช่น มีเด็กที่เสียชีวิตจากโรคคอตีบ เพราะไม่ได้รับวัคซีน มีอัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์สูงกว่าพื้นที่อื่น อันเนื่องมาจากความยากลำบากของการเดินทางมาฝากครรภ์ และนี่เป็นคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่รัฐไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ขณะที่ฝั่งของสธ.ในพื้นที่ก็พยายามที่จะให้บริการได้มากที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่

นพ.บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาสาธารณสุขที่ปัตตานีมีความจำเพาะต่างจากพื้นที่อื่น ปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่หากเกิดในพื้นที่อื่นๆ จะแก้ไขได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์หรือความครอบคลุมการฉีดวัคซีนให้กับเด็ก แต่ด้วยข้อจำกัด 3 ปัจจัยข้างต้นได้ส่งผลต่อการทำงานบริการสุขภาพ โดยเฉพาะสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำงานสาธารณสุขเชิงรุก

ตัวอย่างปัญหาที่เห็นชัดเจนคือการให้วัคซีนในเด็ก ปัตตานีมีปัญหาความไม่ครอบคลุมการให้วัคซีนเด็กมานาน จึงพบผู้ป่วยโรคพื้นๆ ทั่วไปที่ป้องกันได้โดยวัคซีนและในพื้นที่อื่นไม่รายงานผู้ป่วยแล้ว ได้แก่ โรคคอตีบ ต้องบอกว่า ที่ปัตตานีมีรายงานเด็กที่เสียชีวิตจากโรคคอตีบทุกปี เฉลี่ยปีละ 3-4 ราย สาเหตุเกิดจากการบริการวัคซีนที่ไม่ครอบคลุมเด็กทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิด สาเหตุจากความเชื่อ กลัวลูกจะมีไข้ทำให้พ่อแม่ไปทำงานไม่ได้ ขณะที่ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่สามารถรุกลงพื้นที่ชักชวนฉีดวัคซีนได้ จึงนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

เช่นเดียวกับการฝากครรภ์ที่พบว่าอัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ จ.ปัตตานี ค่อนข้างสูง ปี 2556 มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตถึง 21 ราย หรือคิดเป็น 52.08 รายต่อแสนการเกิดมีชีพ ถือเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าเฉลี่ยจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตต้องไม่เกิน 15 รายต่อแสนการเกิดมีชีพ โดยการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์มี 2 สาเหตุหลักคือ เกิดจากภาวะความเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัวของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นอยู่ก่อน รวมถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ น้ำคร่ำไหลเข้ากระแสเลือดซึ่งไม่แตกต่างจากพื้นที่ทั่วไป และปัญหาการฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ สาเหตุจากความลำบากของการเดินทางมาฝากครรภ์อย่างต่อเนื่อง และความเชื่อ ความอาย รวมไปถึงการประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยางที่ประเทศมาเลเซีย ทำให้มาฝากครรภ์ตอนอายุครรภ์มากหรือใกล้คลอด   

“ช่วงที่มารับตำแหน่ง สสจ.ปัตตานี มีหญิงตั้งครรภ์รายหนึ่งเป็นมุสลิม มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลและต้องการฝากครรภ์กับหมอผู้หญิง แต่ที่โรงพยาบาลมีแต่สูตินรีแพทย์ที่เป็นหมอผู้ชาย ทำให้เขาไม่กลับมาฝากครรภ์อีกและเลือกคลอดเองที่บ้าน เกิดภาวะตกเลือดเสียชีวิตลง ซึ่งหากคลอดที่โรงพยาบาลแพทย์จะสามารถช่วยได้ จึงเป็นเคสที่น่าเสียดาย” สสจ.ปัตตานี กล่าว

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้มีการวางแผนเชิงรุก จัดทำ “โครงการตำบลสุขภาพ” ให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่มากที่สุด เน้นให้ความรู้สุขอนามัย ดูแลสุขภาพตนเอง การสร้างความตระหนักส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งในที่นี้รวมถึงการนำเด็กเข้ารับวัคซีน และการฝากครรภ์ระยะแรกเริ่ม เพื่อให้เป็นมาตรการกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพ

อย่างไรก็ตามด้วยอัตราการเสียชีวิตหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่สูงมาก ได้จัดทำแผนเพื่อดูแลหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและปลอดภัย เบื้องต้นจะให้ทำการฝากครรภ์ยังหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดก่อน อาจเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แล้วจึงส่งต่อยังโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เพื่อรับการตรวจร่างกายพร้อมประเมินภาวะครรภ์ หากไม่มีปัญหาก็จะให้ฝากครรภ์ต่อที่ รพ.สต. ได้ แต่ในกรณีพบความเสี่ยงจะทำการขึ้นทะเบียนและแจ้งให้สูตินรีแพทย์ที่ประจำอยู่โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) รับทราบ เพื่อที่จะได้เฝ้าระวังและติดตามประเมินความเสี่ยงต่อเนื่องทุกเดือน ซึ่งในช่วงใกล้คลอดจะมีการประชุมกันอีกครั้งเพื่อจำแนกว่า รายใดสามารถคลอดที่ รพช.ได้ หากรายไหนดูแล้วเป็นปัญหาจะส่งต่อ รพ.ปัตตานี ทำคลอดโดยสูตินรีแพทย์ที่เชี่ยวชาญ

ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่คลอด รพช. เพื่อรองรับภาวะความเสี่ยง ยังมีการเปิดกรุ๊ป line เพื่อสื่อสารระหว่างแพทย์ห้องคลอดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเพื่อให้คำปรึกษากรณีเกิดปัญหาระหว่างการคลอด มาตรการเหล่านี้เชื่อว่าจะช่วยลดอัตราการตายของหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ได้

นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญในพื้นที่ นพ.บรรเจิด กล่าวว่า อุบัติเหตุที่นี่ส่วนใหญ่จะเกิดจากระเบิด ปืน และอาวุธอื่นๆ มีทั้งกรณีรุนแรงและไม่รุนแรง การช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บมีปัญหามาก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันทีเพราะกลัวการระเบิดซ้ำ (second bomb) ต้องทิ้งระยะเวลาออกไป ทำให้ผู้ป่วยแม้ได้รับบาดเจ็บไม่รุนแรงก็เสียชีวิตได้ อย่างกรณีการได้รับบาดเจ็บที่หลอดเลือด หากช่วยเหลือช้าจะทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดมากจนเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้

การแก้ไขปัญหา เนื่องจากหากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บ โอกาสเกิด second bomb สูงมาก ที่ผ่านมาจึงชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการสนับสนุนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) จัดตั้งหน่วยอาสาสมัครประจำตำบลที่เป็นคนในพื้นที่เองเข้าไปรับผู้บาดเจ็บเพื่อนำส่งโรงพยาบาล ขณะนี้อยู่ระหว่างการอบรม เชื่อว่าจะช่วยผู้บาดเจ็บและลดความเสี่ยงการเสียชีวิตลงได้

นพ.บรรเจิด กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีของผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วไป พื้นที่ปกติประชาชนสามารถโทร 1669 ได้ แต่ที่ปัตตานี ซึ่งชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทั้งยังอยู่ในสถานการณ์ไม่สงบ รถพยาบาลจึงไม่สามารถเข้าไปนำส่งผู้ป่วยได้ ตรงนี้ได้ประสานกับทางเจ้ากรมแพทย์ทหารบก เพื่อขอให้หน่วยทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) หรืออาสาสมัครกู้ชีพที่จัดตั้งขึ้น ช่วยนำส่งผู้ป่วยออกจากพื้นที่ส่งโรงพยาบาลหรือรถฉุกเฉินที่จะจอดรอยังพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรับส่งต่อผู้ป่วย

นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต

ด้าน นพ.นิรันดร์ วิชเศรษฐสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมายอ จ.ปัตตานี กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น การรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลและหน่วยบริการไม่เป็นปัญหา เพราะมีเจ้าหน้าที่อนามัยประจำครอบคลุมทุก รพ.สต. แต่มีปัญหาในด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเฉพาะการออกเยี่ยมบ้านที่ไม่สามารถทำได้ปกติอย่างพื้นที่ทั่วไป ต้องเพิ่มความระมัดระวังต่อเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น จึงมีการปรับรูปแบบการลงพื้นที่ ซึ่งที่นี่จะไม่มีการจัดตารางลงพื้นที่ใน 13 ตำบลเหมือนที่อื่นๆ ทั้งยังต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางเสมอ นอกจากนี้ยังต้องเน้นประสานความร่วมมือกับ อสม.อย่างใกล้ชิด โดยก่อนการลงพื้นที่แต่ละครั้งต้องมีการตรวจสอบและแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และ อสม.ทราบก่อน เพื่อขอความร่วมมือ เรียกว่าต้องอาศัยความไว้ใจซึ่งกันและกันในการทำงาน

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ในส่วนของจำนวนบุคลากรโดยเฉพาะพยาบาลขณะนี้มีจำนวนเพียงพอ เป็นผลจากโครงการผลิตพยาบาลที่ส่งคนในพื้นที่ไปเรียน แต่ในส่วนของแพทย์ ที่ รพ.มายอยังมีปัญหาการขาดแคลนต่อเนื่อง โดยมีแพทย์ประจำเพียงแค่ 3-4 คนเท่านั้น ขณะที่ รพช.ขนาด 30 เตียงเท่ากัน ในพื้นที่อื่นๆ ปัจจุบันจะมีแพทย์ประจำ 7-8 คน แล้ว และหากเป็น รพช.ที่ตั้งอยู่ใกล้เขตกรุงเทพ บางแห่งจะมีแพทย์อยู่ถึง 10 คน ทำให้สถานการณ์แพทย์ที่นี่ค่อนข้างตึง ภาระงานหนัก เนื่องจากต้องออกตรวจทั้งผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ประจำคลินิก และอยู่เวร ทั้งนี้สาเหตุสำคัญมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ รวมไปถึงความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ส่งผลกระทบต่องานบริการ ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน 

ที่ผ่านมาแม้ว่าส่วนกลางจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหา โดยมีการส่งแพทย์จบใหม่หมุนเวียนลงมาประจำ แต่หลังจากใช้ทุนครบ 1 ปี จะขอย้ายออกไปอยู่ รพ.ที่ปลอดภัยกว่า เรียนต่อ หรือแม้แต่ในโครงการสนับสนุนทุนคนในพื้นที่เพื่อเรียนแพทย์เพื่อให้กลับมาทำงานในพื้นที่ก็ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากนักเรียนที่เข้าเรียนโครงการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในอำเภอเมืองเพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีการศึกษาที่ดีกว่า และเมื่อเรียนจบก็เลือกที่จะอยู่ในอำเภอเมือง ไม่มาที่ อ.มายอ ทำให้ รพ.มายอยังประสบปัญหาขาดแคลนต่อเนื่อง ซึ่งแนวทางแก้ไขนอกจากสร้างแรงจูงใจเพิ่มให้อยู่ในพื้นที่แล้ว ยังต้องเพิ่มในเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพให้กับแพทย์ทำงานใน รพช.เช่นเดียวกับแพทย์เฉพาะทาง