ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.โพสต์ทูเดย์ -"ถ้าถามว่าผมปลุกระดมข้าราชการใช่ไหม ผมก็ยอมรับว่าปลุก เพื่อให้ข้าราชการแสดงตนเป็นข้าราชการ ไม่ให้การเมืองเข้ามาครอบงำ" เป็นคำสรุปรวบยอดต่อจุดยืนของปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ซึ่งได้เปิดใจตอบทุกคำถามเกี่ยวกับข้อสงสัยในหลายๆ ประเด็นที่กำลังตกอยู่ในความสนใจของแวดวงสาธารณสุข

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์

หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงรายนี้โดดเด่นตั้งแต่ได้ประกาศตัวร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับมวลชนกลุ่ม กปปส.ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทั่งได้รับนกหวีดทองคำจากกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ เชิดชูความหาญกล้า

กระทั่งรัฐบาลเพื่อไทยถูกยึดอำนาจเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลทหาร ระยะแรกๆ ปลัดณรงค์อยู่ในแคนดิเดตรัฐมนตรีสาธารณสุข แต่แล้วก็ไม่ได้เป็นไปตามคาดการณ์

ในทางตรงกันข้าม เมื่อได้ "สองหมอ" รัฐมนตรีใหม่มาคุมกระทรวงสาธารณสุข กลายเป็นว่า นพ.ณรงค์ ดูจะเล่นดนตรีคนละคีย์กับฝ่ายการเมือง ขณะเดียวกันก็เดินหน้าผลักดันนโยบายของตัวเอง ไม่ว่า "เขตสุขภาพ" ที่มีเสียงค้านอยู่บ้าง การเดินหน้าปฏิรูประบบการเงินการคลังที่เปิดหน้าชนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผู้รับผิดชอบโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทองมาหลายยก

กระทั่งบัดนี้ทั้งสองหน่วยงานก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการบริหารงบประมาณบัตรทอง

คนในแวดวงหมอเริ่มเห็นภาพปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆว่าบนความไม่ลงรอยต่างก็มีขุมกำลังหนุนหลัง ฟากปลัดมี "ประชาคมสาธารณสุข" รายล้อม ขณะที่รัฐมนตรีทั้งสองมีองค์กรตระกูล ส. และชมรมแพทย์ชนบท ฯลฯคอยหนุนหลัง

ทั้งหมดนี้เป็นทั้งข้อสังเกต ข้อสงสัย กระทั่งอาจเป็นกระแสที่ยังไม่ได้รับคำยืนยัน "โพสต์ทูเดย์" จึงนำบทสัมภาษณ์พิเศษจากปากปลัดกระทรวงนกหวีดทองคำมาอธิบายข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา

"ผมไม่รู้จริงๆ เรื่องที่มีขบวนการต่อต้าน หรือมีอะไรอยู่เบื้องหลัง... (ยิ้ม) แต่สิ่งที่ผมจะทำ เป็นสิ่งที่ผมพูดมาตั้งแต่สอบเป็นปลัดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทั้งสี่เรื่อง คือ 1.ปฏิรูประบบการเงินการคลัง 2.สร้างเขตสุขภาพ 3.สร้างระบบธรรมาภิบาล และ 4.จัดระบบกำลังคน แต่คุณอาจจะรู้อะไรทางลึกมากกว่าผม" หมอณรงค์ตอบคำถามถึงจุดมุ่งหมายในการทำงาน

ปลัด สธ.อธิบายการเกิดขึ้นของประชาคมสาธารณสุข ที่ถูกมองว่าเป็น "องครักษ์พิทักษ์ปลัด" ว่า

เกิดขึ้นในช่วงที่กลุ่มคน สธ.ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลชุดที่แล้วเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับการชุมนุมของ กปปส.พอดี และเมื่อมีคนมาถามกลับว่าในเมื่อหมอไม่เอารัฐบาลโกง แล้วหมอล่ะโกงไหม จึงถึงเวลาที่ต้องย้อนกลับมาถามตัวเอง

"เขาก็ถามว่าหมอโกงเวลาราชการไหม หมอมาตรวจคนไข้สายโกงไหม เอาเวลาหลวงไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนโกงหรือไม่ เราก็เลยต้องคุยกันทั้งเรื่องระเบียบจัดซื้อ จริยธรรมในการรับของ หรือการจัดซื้อร่วม และกลไกตรวจสอบถ่วงดุล จนฟอร์มกันชัด 53 ชมรม ว่าจะทำอะไร แล้วมากำหนดนามธรรมให้เป็นรูปธรรม" นพ.ณรงค์ เล่าเบื้องหลัง

ปลัด สธ. บอกว่า หลังจากสร้างระบบกวาดบ้านตัวเองเรียบร้อย ก็ถึงเวลาสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบข้าราชการ สธ. เพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้อย่างในอดีต โดยอาศัยช่วงเวลาที่ไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ปฏิรูปตัวเองให้เป็นต้นแบบของระบบราชการ

"เรากำลังพูดกันเรื่องความถูกต้อง เรากำลังบอกว่าถ้าแต่งตั้งโยกย้ายอย่างนี้ อีกหน่อยถ้าคุณมายุ่ง จะแต่งตั้งใครต้องวิ่งไปหาคนนี้ เราก็ไม่ยอม หรือถ้าผู้ใหญ่จะฝากคนนี้ให้เป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นายแพทย์ สสจ.) เราก็จะบอกว่า ถ้าจะขึ้นเป็น สสจ. ต้องมีระบบแบบนี้ ไปเสียบเข้ามาข้างๆ ผมก็ไม่ยอม การเมืองจะมาวุ่นวายในอำนาจของข้าราชการไม่ได้ ถ้ารับไม่ได้ คุณก็เปลี่ยนปลัดเท่านั้นเอง ซึ่งก็เป็นอำนาจของรัฐมนตรีอยู่แล้ว

"คำถามคือจะปฏิรูประบบราชการหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็เห็นอยู่ว่ารัฐมนตรีครอบปลัดได้ ผมอาจจะต่างจากคนอื่น แต่สิ่งที่ผมเผชิญตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ผมถูกอัดตลอด ตอนนี้ก็ถึงเวลาคิดแล้วว่า ถ้าจะปกป้องข้าราชการกันเองควรทำอย่างไร

"ถ้าถามว่าผมปลุกระดมข้าราชการใช่ไหม ผมก็ยอมรับว่าปลุก เพื่อให้ข้าราชการแสดงตนเป็นข้าราชการ ไม่ให้การเมืองเข้ามาครอบงำ ถ้าจะบอกว่าปลุกก็ปลุก แต่ปลุกเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ไม่ให้มีใครทำลายระบบราชการเหมือนที่ผ่านมา หลังจากนี้เรื่องแต่งตั้งโยกย้ายแบบตั้งอะไรมา ก็ยอมหมดไม่ได้แล้ว หลังจากนี้นักการเมืองเข้ามายุ่งไม่ได้อีกแล้ว" อุดมการณ์และความตั้งใจชัดๆ ของ นพ.ณรงค์

ถามย้ำว่า ประชาคมสาธารณสุขที่รวมตัวกันเพื่อหวังพิทักษ์ปลัดเพียงคนเดียวหรือไม่ นพ.ณรงค์ อธิบายว่า การรวมตัวของ 53 ชมรมในระบบสุขภาพ หรือการรวมตัวของผู้นำ 5 ชมรมผู้บริหาร อาทิ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ชมรมหมออนามัย และชมรมสาธารณสุขอำเภอไม่สามารถสั่งได้ทั้งหมด

"ทุกคนต่างก็มีความคิดของตัวเอง หากวันไหนชมรมเหล่านี้เห็นว่าตัวปลัดทำไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิที่จะถูกประชาคมสาธารณสุขเอาเรื่องได้เหมือนกัน"

ขณะที่ความสัมพันธ์กับรัฐมนตรีทั้งสอง ปลัดณรงค์บอกว่า ไม่ได้มีข้อขัดแย้งอะไร สามารถทำงานกันได้อย่างราบรื่น โดยนโยบายทั้ง 10 ข้อของรัฐมนตรี เขาก็นำมาแปรรูปสู่การปฏิบัติ รวมถึงตั้งคณะกรรมการดูแลตามระบบ ส่วนเรื่อง "ความขัดแย้ง" จนถึงขั้นจะปลดปลัดออกจากตำแหน่งนั้น เป็นเรื่องที่มีบางกลุ่มพยายามสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์บางอย่างมากกว่า

ถามเชิงกระเซ้า...เคยก้มดูขาเก้าอี้ตัวเองว่าถูกเลื่อยบ้างหรือไม่ คุณหมอหัวเราะลั่นก่อนจะบอกว่า "ก็ไม่มีนะ" พร้อมอธิบายต่อ "เท่าที่ผมฟังมา ก็คิดว่ามันอาจจะมีกระบวนการที่จะสร้างความขัดแย้งอยู่จริง แต่ไม่ได้กระทบอะไรผม”

"คนที่อยู่กับผมก็รู้ว่าผมทำอะไรบ้าง แต่ผมก็ถามตัวเองกลับว่าสิ่งที่เราคิดเป็นสิ่งที่ควรทำไหม ทุกคนก็เห็นตรงกันว่าควรทำ ส่วนถ้าถามว่าเหนื่อยไหม ก็ต้องตอบว่าเหนื่อยแหงๆ" คุณหมอตอบอย่างอารมณ์ดี

"วันนี้ผมถือว่าได้ทำตามหน้าที่ข้าราชการประจำส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไร ผมก็เฉย จะให้ผมกลับบ้านก็กลับ ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าเรื่องพวกนี้เป็นประโยชน์มันก็คงจะไม่ติดขัดอะไร แต่ถ้า 'เขา' คิดว่าไม่ใช่ก็ไม่ใช่ ผมก็พูดกับเตี่ยผมตลอด ท่านบอกว่าอยู่ได้ก็อยู่ ถ้าเขาให้ทำก็ทำ ถ้าเบื่อก็กลับบ้านเราก็เท่านั้นเอง" ปลัดณรงค์เล่าเหมือนจะทำใจรับสภาพ อาจเพราะไม่ถึงปีนับจากนี้ตัวเองก็จะเกษียณอายุราชการแล้ว

ไม่คิดดึงเงินมาไว้ที่กระทรวง

ชมรมแพทย์ชนบทและตัวแทนภาคประชาชน โจมตีว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องการรวบอำนาจ และรวบการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาไว้ในมือ ซึ่งมีเม็ดเงินอยู่กว่า 1.2 แสนล้านบาท

ปูมหลังเรื่องนี้ย้อนกลับไป 12 ปีก่อน รัฐบาลพรรคไทยรักไทยเริ่มโครงการ "30 บาทรักษาทุกโรค" และตั้ง สปสช.ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารแบ่งแยกหน้าที่กับกระทรวง โดยยึดหลักการคือการเป็น "ผู้ซื้อบริการ"ซึ่งคุมงบประมาณในระบบ และใช้งบประมาณนั้นจัดซื้อบริการ

เช่น การจัดหายารักษาโรค การจัดหาวิธีรักษาโรคร้ายแรง ขณะที่สธ.ทำหน้าที่เป็น "ผู้ให้บริการ" ผ่านโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมี สปสช.เป็นผู้ซื้อบริการรายใหญ่ที่สุด เนื่องจากมีประชาชนอยู่ในระบบมากถึง 48 ล้านคน โดยในแต่ละปีงบประมาณของ สปสช.ถูกส่งตรงลงไปยังหน่วยบริการ เพื่อให้แต่ละโรงพยาบาลบริหารจัดการเอง

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ สธ.เริ่มเห็นว่าการดำเนินงานของ สปสช.อาจมีปัญหา เนื่องจากตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน ขณะที่เจ้าหน้าที่ไปจนถึงหมอจำนวนมาก รู้สึกว่าการบริหารจัดการของสปสช.เปรียบเสมือนการ "ทำงานแลกเงิน" แทนที่จะมุ่งประโยชน์ของประชาชน

ปลัดณรงค์ เริ่มอธิบายว่า หลักการของเรามีแค่ 2 เรื่อง คือ 1.ทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์เท่าเดิม หรือมากกว่าเดิม ด้วยเป้าที่สปสช.ไปพูดกับสำนักงบประมาณว่าต้องทำอะไรบ้าง และ 2.เราอยากเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขในโรงพยาบาลของกระทรวง

"โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ขาดทุน โดยเฉพาะในเขตที่มีโรงพยาบาลชายแดน หรือโรงพยาบาลที่มีประชากรน้อย อยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ก็จำเป็นต้องมี เพราะฉะนั้นวิธีการไม่ใช่เอาเงินลงไปทุกหน่วยงานเลยโดยตรง นี่คือหลักการที่เราคิด" นพ.ณรงค์ กล่าว

ปลัด สธ. ยกตัวอย่างปัญหาขณะนี้ เช่น หากโรงพยาบาลไหนให้ยาเส้นเลือดตีบได้ สปสช.ก็ให้เงินไป แต่คนที่ไม่ทำก็ไม่ได้เงิน ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ได้รับยาเส้นเลือดตีบก็ไม่ได้อะไร ซึ่งสิ่งที่สธ.คิดขณะนี้คือการจัดบริการให้ทั่วถึงก่อน แล้วเอาเงินไปสนับสนุน

"ไม่ใช่เอาเงินไป ใครทำมากได้มาก ใครไม่ทำก็ไม่ได้ มันต้องไปคู่กับระบบบริการ แล้วเอาเงินไปหนุน เพราะฉะนั้นมีเป้าอะไรบอกมาเราจะทำให้ตามเป้า แต่วิธีจัดการต้องช่วยกันบริหาร นี่คือการบริหารจัดการร่วมกันที่เราอยากเห็น"นพ.ณรงค์ ระบุ

ถามตรงๆ การทำงานร่วมกันระหว่าง สธ. และ สปสช. ขณะนี้เป็นอย่างไร

ปลัดณรงค์ ตอบว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการวางเป้าหมายร่วมกันแม้แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ปลัด สธ.ร่วมเป็นกรรมการ และมีคณะอนุกรรมการการเงินการคลังดูแลการจัดสรรงบประมาณด้วย ก็ไม่สามารถลงรายละเอียดการบริหารจัดการเงินได้ การใช้จ่ายเงินในระบบสุขภาพจึงเกิดปัญหาอยู่

"มันก็ต้องตั้งต้นกันด้วยเป้า อะไรที่เขารับปากสำนักงบประมาณเอาไว้ก็ต้องทำตามนั้น ส่วนการจัดเงินต้องฟังคนให้บริการใช่ไหม ว่าให้ช่วยอันนี้หน่อย มันเจ๊งอยู่ ประชากรน้อยให้มาช่วยหน่อย เราต้องการแค่นี้เอง" ปลัด สธ. กล่าว

สำหรับหลักการแยกผู้ซื้อบริการ-ผู้ให้บริการ ในมุมมองของปลัดสธ. เห็นว่าคงแยกออกจากกันเด็ดขาดไม่ได้ แต่ต้องดีลกันด้วยเป้าหมายว่าพื้นที่ยังขาดอะไร และประชาชนควรจะต้องได้รับอะไรเพิ่มบ้าง โดย"ผู้ซื้อบริการ" ต้องมาบอกว่า "ประชาชนต้องได้ตามนี้" ซึ่ง "ผู้ให้บริการ" ต้องจัดบริการให้ได้ตามนั้น แต่จะบริหารจัดการอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการจะดูแลให้เป็นไปตามที่คุยกันไว้

"แต่นี่กลายเป็นว่า 'เฮ้ย...ทำอันนี้นะ ถ้าอันนี้ไม่เคลียร์ ไม่ได้เงิน'อันนี้เป็นรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งผู้ซื้อไม่ควรเข้าไป หลักการในความเห็นผมคือต้องดีลกันด้วยเป้า ถ้าผมซื้อ ผมก็ต้องดูว่าเป้าคืออะไร ทำได้ไหม ไม่ใช่ผู้ซื้อมาเอารายงาน ถามว่าถ้าผมเมกรายงานขึ้นมาคุณรู้ไหม เราต้องเปลี่ยนเป็นดีลกันด้วยเป้าแทน"ปลัดณรงค์ กล่าว

ปลัด สธ. บอกอีกว่า อยากให้ไปฟัง "ความทุกข์" ของเจ้าหน้าที่ในตำบลบ้างว่าทุกข์อย่างไร และวัฒนธรรมการดูแลคนไข้ว่าเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เพราะทุกวันนี้เวลาเจ้าหน้าที่ประชุมกัน มีแต่การประชุมกันว่าจะ "สอยเงิน" อย่างไรให้ได้มากที่สุด หรือจะทำยังไงให้เก็บเงินได้ครบ และต้องใช้เวลาอยู่กับการคีย์ข้อมูล หรือบริหารเรื่องเงินวันละกี่เปอร์เซ็นต์

"ผมอยู่กับพื้นที่ตลอด ตั้งแต่เป็นผู้ตรวจฯ ผมก็เห็นว่าเรื่องนี้มันต้องปรับ ทำยังไงให้เจ้าหน้าที่มีความสุข การปรับของผมคือเจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างไม่ใช่ภาระ แต่นี่คุณใช้วิธีทำงานเพื่อประเมินว่าหยอดวัคซีนให้หรือไม่ ด้วยการดูว่าคีย์ครบไหม”

"ซึ่งแก้ง่ายนิดเดียว คุณก็ไปสำรวจดูสิว่ามันครบไหม คุณก็ไปทำอะไรก็ได้ มีเงินตั้งเยอะ ก็ไปประเมิน ไม่ใช่ผลักภาระให้เราดูทุกเรื่อง ไม่ใช่ต้องคีย์ข้อมูลทุกเม็ด คีย์แล้วคีย์อีกเพื่อให้ได้เงิน ต้องถามว่าเรายึดเป้าคือ 'ประชาชน' ได้ไหม ว่าเขาต้องได้อะไรบ้าง แล้วก็ทำตามนั้น"

ปลัดณรงค์ ยืนยันว่าไม่เคยคิดดึงเงินของ สปสช.มาไว้ที่กระทรวงเลยสักบาท และด้วยแนวทางตามกฎหมาย ไม่ว่าอย่างไรเงินก็ต้องลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง ซึ่งประชาชนที่อยู่ในระบบ 1 คน ต้องได้รับบริการจาก 2,895 บาท แต่เงินที่ลงไปยังหน่วยบริการในความคิดเขาควรเป็นเงินที่ให้หน่วยบริการใช้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย มากกว่าถูกนำไป"กั๊ก" ไว้ในกองทุนย่อย

"แต่ผมไม่ได้ให้ยุบกองทุนย่อยนะ ให้เอาเป้ามาแทน เช่น มีคนป่วยเป็นโรคฮีโมฟีเลีย 100 คน ก็บอกสิ เดี๋ยวทำให้ ก็เอาเป้ามาแค่นั้นเองประชาชนก็ต้องได้เท่านั้นเอง" ปลัดณรงค์ ย้ำ

เมื่อไรทั้งสองฝ่ายจะหารือกันจบ หมอณรงค์ บอกว่า ตามกรอบที่คุยกันไว้คือวันที่ 8 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันประชุมบอร์ด สปสช. จะต้องยุติ

ถามย้ำอีกครั้ง จะจบจริงหรือ...ปลัดณรงค์ ตอบสั้นๆ ว่า "ไม่รู้" ...

"ถามว่าจบจริงหรือไม่ ผมไม่รู้ แต่เราเจรจากันมาแบบนี้ เจรจากันด้วยดี สุดท้ายต้องคุยกันที่บอร์ดว่าคิดเพื่ออะไร คิดเพื่อประชาชนหรือเพื่ออะไร”

"ผมยืนยันอีกครั้งว่าไม่คิดจะเอาเงินมาไว้ที่กระทรวงเลยสักบาท ไม่เคยคิดว่าจะเอาเงินมาแล้วรวบ ผมจะเอาไปไว้ที่เขต ว่าเขตจะจัดยังไงเพื่อเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข แต่ตัวเงินจะไม่ไปไว้ที่เขตด้วย ไว้ที่ สปสช.แบบนี้แหละ แค่ให้เขาโอนไปเท่านั้นเอง" นพ.ณรงค์ ระบุ

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2557