ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยขยะในประเทศไทยเพิ่มขึ้นสูงถึงปีละกว่า 15 ล้านตัน ส่วนใหญ่มาจากเศษอาหารและอินทรีย์สาร โดยรีไซเคิลได้แค่ 1 ใน 4 แนะประชาชนยึดหลัก เก็บ กวาด เช็ดถู ล้าง คัดแยก พร้อมรณรงค์สัปดาห์ทำความสะอาดแห่งชาติ ปลุกกระแสสร้างความสะอาดในครัวเรือน ขยายสู่ชุมชน สร้างสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.57 นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าวสัปดาห์ทำความสะอาดแห่งชาติ ณ ชุมชนพบสุข อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ว่า ประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นกว่า 15 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเศษอาหารและอินทรีย์สารร้อยละ 64 รองลงมาคือ ขยะมูลฝอยที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ร้อยละ 30 แต่กลับมีการนำไปใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิลเพียง 3.91 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 26 หรือแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น และด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การทำงานที่เร่งรีบ ทำให้ประชาชนละเลยการดูแลที่พักอาศัยให้เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องการสุขาภิบาลขั้นพื้นฐานในครัวเรือน เช่น ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย  การปรุงประกอบอาหารที่ถูกสุขลักษณะ น้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดเพียงพอ น้ำเสีย สัตว์และแมลงพาหะนำโรค และการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งขยะที่มีการกำจัดที่ไม่ถูกต้องนี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ขยายเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหามลพิษอากาศ ปัญหา ขยะมูลฝอย ปัญหาสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลอาหาร ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารและโรคระบบทางเดินหายใจ

นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยได้เร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555 – 2559 โดยมีเป้าหมายหลักในการลดการเจ็บป่วยเนื่องจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักการสำคัญคือ การลดและคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทางหรือตั้งแต่ครัวเรือน ส่งเสริมกลไกการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด สอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์เมืองไทย เมืองสะอาด (Clean Cities) ส่งเสริมและร่วมใจ ทำเมืองไทยให้สะอาด พร้อมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวด้วยกิจกรรมรณรงค์สัปดาห์ความสะอาดแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 21-27 พฤศจิกายน 2557 เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการทำความสะอาดบ้าน ร่วมกันจัดการสุขาภิบาลที่พักอาศัยและปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบ้านโดย 

1) เก็บสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นระเบียบ 2) กวาดหยากไย่และเศษขยะทั้งในบ้าน นอกบ้านและบริเวณโดยรอบ 3) เช็ดถูทำความสะอาดฝุ่นละอองและคราบสกปรกให้ทั่วถึงทุกซอกทุกมุม 4) ล้างทำความสะอาดห้องน้ำห้องส้วมอย่างสม่ำเสมอ และ 5) คัดแยกขยะอย่างถูกสุขลักษณะ ได้แก่ ขยะรีไซเคิล เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก สามารถนำไปจำหน่ายได้ ขยะอันตราย เช่น ขวดน้ำยาทำความสะอาด ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ให้นำไปทิ้งในสถานที่ที่ราชการกำหนดเพื่อรอการนำไปกำจัดอย่างปลอดภัย และขยะทั่วไป ให้เก็บรวบรวมใส่ถุงที่ไม่ฉีกขาด ไม่รั่วซึม มัดปากถุงให้แน่นและทิ้งลงถังขยะ

“ทั้งนี้ การพัฒนาชุมชนให้สะอาด รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดี เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมให้ประสบผลสำเร็จนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในบ้าน และขยายผลไปสู่การพัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชน สร้างจิตสำนึกสาธารณะให้ร่วมกันรับผิดชอบ แก้ไขปัญหา และพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด