ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมช.สธ.ยันไม่มีแนวคิดให้ประชาชนร่วมจ่าย แต่เสนอ กมธ.สธ.ของ สนช.และ สปช.ให้พิจารณาว่า อยากให้มีงบประมาณเฉพาะเพื่อดูแลรพ.ที่มีประชากรน้อยหรือในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่ควรใช้งบที่รักษาประชาชนไปดูแล ทั้ง รพ.รัฐขาดงบลงทุนที่เหมาะสม ส่วนค่าแรง-ค่าตอบแทนบุคลากรไม่ได้ปรับเชิงโครงสร้าง ส่วนงบประมาณหลักประกันสุขภาพนั้นยืนยันว่ายังพอ แต่หากต้องการลดภาระภาษี เคยมีการศึกษาให้คนรวย 1% ของประเทศ จ่ายภาษีปีละ 3 หมื่นบาท หรือคนที่มีรายได้รองลงมา 10% ของประเทศ จ่ายภาษีปีละ 3,000 บาท จะทำให้มีเงินกองทุนเพิ่มมากกว่า 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี

27 พ.ย.57 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. เปิดเผยว่า รัฐบาลชุดนี้ ยังคงมีแนวคิดหลักคือเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป รวมถึงยังมีความมั่นคงในการดูแลกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้บริการประชาชน 48 ล้านคน ซึ่งที่ผ่านมาสามารถทำให้ประชาชนยากจนจากค่ารักษาพยาบาลลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีครัวเรือนที่ยากจนลดลงจากค่ารักษา 1.2 แสนครัวเรือน เหลือเพียง 3.9 หมื่นครัวเรือนเท่านั้น

ส่วนที่เสนอคณะกรรมาธิการสาธารณสุข ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น มีข้อเสนอ 2 เรื่องคือ 1.อยากให้มีงบประมาณเฉพาะในการดูแลโรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย หรือในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่ควรใช้งบประมาณในการดูแลประชาชนไปดูแล 2.ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลรัฐ ขาดงบลงทุนที่เหมาะสม และค่าแรง ค่าตอบแทนของแพทย์และบุคลากร ไม่ได้มีการปรับในเชิงโครงสร้าง จึงได้เสนอให้กรรมาธิการทั้งสองสภา ช่วยกันพิจารณา

ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องการตั้งกองทุนให้ประชาชนร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพียงแต่ได้แจ้งกับคณะกรรมาธิการว่า ได้มีการศึกษาแนวทางแก้ปัญหา ในประเด็นที่มีความกังวลว่าจะมีงบประมาณในการดูแลกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่ในอนาคต

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลล่าสุด ผลการศึกษาค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังอยู่ที่ 4% ของจีดีพี และหากจะเพิ่มในลักษณะนี้อีก 10 ปีข้างหน้า ก็พบว่า จะไม่เกิน 5% ต่อจีดีพี ซึ่งรัฐบาลยังสามารถดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลต้องการลดภาระจากภาษี ก็มีแนวคิดที่ได้ศึกษามาหลายปีแล้ว อย่างการร่วมจ่ายเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในรูปแบบของการจ่ายเงินสมทบจากภาษี เช่น การให้คนที่มีรายได้มากที่สุดของประเทศ 1% ต้องจ่ายภาษีปีละ 3 หมื่นบาท หรือให้คนที่มีรายได้ระดับรองลงมา 10% ของประเทศ จ่ายภาษีปีละ 3,000 บาท ซึ่งหากใช้หลักการนี้ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็จะมีเงินกองทุนเพิ่มมากกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นแค่แนวคิดหนึ่งที่มีการศึกษามาเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นนโยบายรัฐบาล

รมช.สธ. กล่าวอีกว่า หากจะเสนอเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบาย จะต้องมีการออกเป็นกฎหมาย และรับฟังความคิดเห็นจากทุกคนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะมีการหารือในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ถึงการสร้างหลักประกันในระยะยาว จนได้ข้อสรุปออกมา ส่วนรัฐบาลใด จะนำไปใช้อย่างไร ก็เป็นเรื่องในอนาคต