ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขให้แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนในไทยกว่า 1 ล้านคน ทุกคนต้องตรวจและประกันสุขภาพ พร้อมนำร่องจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จและตั้งโรงเรียนอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว ที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสร้าง อสต.ใหม่ และเพิ่มความรู้แก่ อสต.รายเก่า ให้มีประสิทธิภาพ สามารถดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ชุมชนได้

29 พ.ย.57 ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมสถานบริการในสังกัดและติดตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคในแรงงานต่างด้าวพร้อมทั้งเดินทางไปตรวจเยี่ยมชุมชนต่างด้าวบ้านกำพร้าและโรงเรียนอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกำพร้า

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่าวด้าวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 มีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนทั้งประเทศจำนวน 1,154,008 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวพม่ามากที่สุดจำนวน 647,483 คน กัมพูชา 381593 คน และ ลาว 124,903 คน ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายการจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ โดยให้แรงงานต่างด้าว ที่ทำงานในประเทศไทยทั้งหมด รวมทั้งครอบครัวและผู้ติดตาม มาขึ้นทะเบียนรายงานตัวต่อกระทรวงมหาดไทย และได้เอกสารประจำตัว คือ ทร.38/1 มีเลข 13 หลัก ส่วนผู้ที่ทำงานในประเทศไทยให้ขออนุญาตทำงานกับกระทรวงแรงงาน โดยให้กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพทุกปี

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 70/2557 เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ให้ กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักและปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงแรงงานกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง โดยเร่งรัดพัฒนาระบบการเข้าถึงสุขภาพและพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพสำหรับประชาชนในระบบปกติ และประชาชนที่มีความต้องการบริการรูปแบบพิเศษ เช่น ประชาชนในพื้นที่พิเศษ แรงงานต่างด้าวและการสร้างเสริมสุขภาพของแรงงานนอกระบบ โดยดำเนินการใน 4 ด้าน คือ 1.ตรวจสุขภาพ 2.ให้บริการรักษาพยาบาล 3.บริการสร้างเสริมสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรค และ4.การเฝ้าระวังโรค โดยให้ดำเนินการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวทุกคน

ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่นำร่องในการจดทำทะเบียนประวัติคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ปัจจุบันมีแรงงานพลัดถิ่น 459,444 คน และมีต่างด้าวเข้ามาขายแรงงานจำนวน 270,377 คน โดยทำการขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน270,377คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1แรงงานต่างด้าวประเภทมีวีซ่า จำนวน 168,067 คน กลุ่มที่ 2 ขึ้นทะเบียนใหม่ตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จำนวน 98,302 คน และกลุ่มที่ 3 คือแรงงานที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ตาม หรือชนกลุ่มน้อยชายขอบ จำนวน 4,008 คน

ในจำนวนดังกล่าวมีแรงงานต่างด้าวที่มีหลักประกันสุขภาพแบบประกันสังคม จำนวน 80,308คน คิดเป็นร้อยละ 29.70 มีประกันสุขภาพแรงงานของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 98,302 คิดเป็นร้อยละ 36.36 และยังมีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพอีก จำนวน 91,767 คน คิดเป็นร้อยละ 33.94 ?การไม่มีหลักประกันสุขภาพส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรคในชุมชนต่างด้าว

จากการตรวจสุขภาพประชากรต่างด้าว ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ จังหวัดสมุทรสาคร ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 31 ตุลาคม 2557 มีแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามเข้ารับบริการทั้งสิ้นจำนวน 98,302 คน พบป่วยด้วยโรคซิฟิลิส จำนวน 61 คน,วัณโรคปอด 28 คน และมีพยาธิโรคเท้าช้าง จำนวน 21คน ซึ่งจะต้องควบคุม ป้องกันโรคติดต่อที่แฝงมากับแรงงานต่างด้าว ไม่ให้แพร่ระบาดมาสู่คนไทย สำหรับวัณโรคนั้นนอกจากพบขณะตรวจสุขภาพประจำปีแล้วยังพบผู้ป่วยต่างด้าวเข้ารับการรักษาระหว่างปี จำนวน 259 คน เป็นผู้ป่วยประเภทเสมหะมีเชื้อโรควัณโรค จำนวน 104คน มีแนวโน้มสูงขึ้น

เนื่องจากการให้บริการสาธารณสุขในประชากรต่างด้าว มีข้อจำกัด ด้านการสื่อสาร และจำนวนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) มีจำนวนน้อย แต่ประชากรต่างด้าวมีจำนวนมาก จังหวัดสมุทรสาครจึงสร้างเครือข่ายในการดำเนินงานสาธารณสุขสำหรับประชากรต่างด้าว หรืออาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว(อสต.) และเปิดโรงเรียนอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวขึ้นในปี 2555ภายใต้หลักสูตรการเรียนที่ชัดเจนและได้มาตรฐาน เพื่อสร้าง อสต.ใหม่ และฟื้นฟูให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ อสต.รายเก่า ให้มีความรู้ มีประสิทธิภาพ สามารถดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ชุมชน สภาพแวดล้อมและสังคมโดยรวมได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาครมี อสต.ทั้งหมด จำนวน 1,000 คน แต่เนื่องจาก มีการย้ายที่อยู่และย้ายเปลี่ยนงาน จึงทำให้ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาครมี อสต. ที่ปฏิบัติงานจริง จำนวน 455 คน