ปลัดสธ.ติดตามแผนพัฒนาบริการ (Service Plan) จังหวัดพัทลุง ชมมีการบริหารจัดการร่วมกันในโรงพยาบาลทุกระดับ ทั้งคน เงิน ของ ทำให้ใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า และมีการตั้งกลุ่มไลน์โรคต่างๆ ทำให้จัดบริการได้รวดเร็ว มีคุณภาพและสอดคล้องกับพื้นที่
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.57 ที่โรงพยาบาลพัทลุง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเยี่ยมติดตามการพัฒนาบริการ (Service Plan) ว่า แนวคิดเรื่องการพัฒนาบริการของกระทรวงสาธารณสุข จุดมุ่งหมายสำคัญคือให้สถานบริการในสังกัดในแต่ละพื้นที่มีการบริหารจัดการร่วมกัน ทั้งงบประมาณ บุคลากร และครุภัณฑ์อุปกรณ์การแพทย์ โดยนำกรอบแนวทางการพัฒนาที่วางไว้ไปคิดวางแผนร่วมกันให้เหมาะสมสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาจนถึงขณะนี้ประมาณ 2 ปี ต้องถือว่านโยบายพัฒนาบริการเป็นอีกสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุข เพราะเกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชนในหลายพื้นที่
โดยที่โรงพยาบาลพัทลุงซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 445 เตียง มีความก้าวหน้าในการพัฒนาบริการตามนโยบายทั้ง 10 สาขา โดยเฉพาะหลักการสำคัญเรื่องการบริหารจัดการร่วม พบว่า มีการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกับโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการจัดบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยมีแพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลพัทลุงเป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีการส่งทีมศัลยแพทย์ พยาบาลวิสัญญี ไปตรวจและผ่าตัดที่โรงพยาบาลชุมชน มีการใช้เครื่องมือการแพทย์ที่มีราคาแพงร่วมกัน เช่น เครื่องตรวจจอประสาทตา เป็นต้น
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาตามแนวทางดังกล่าว ทำให้จังหวัดพัทลุงสามารถขยายบริการที่เดิมมีเฉพาะในโรงพยาบาลจังหวัดไปถึงโรงพยาบาลชุมชนได้ ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลควนขนุนซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ สามารถให้ยาเคมีบำบัดและส่งต่อข้อมูลให้โรงพยาบาลชุมชนต่างๆ ดูแลผู้ป่วยหลังเคมีบำบัด มีการผ่าตัดคลอด และมีบริการล้างไตด้วยเครื่องไตเทียม โดยในปี 2558 มีแผนขยายบริการดูแลรักษาผู้ป่วยทารกแรกเกิด ขณะที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ (ปัญญานันทะภิกขุ) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนน้องใหม่ของจังหวัดพัทลุง ก็จะได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์กายภาพบำบัดด้วย นอกจากนี้ ยังมีการตั้งกลุ่มไลน์โรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ จิตเวช เพื่อส่งต่อข้อมูลอาการผู้ป่วย ภาพการตรวจคลื่นหัวใจ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ในการขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้บริการผู้ป่วยได้รวดเร็วและมีคุณภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ แผนพัฒนาบริการ 10 สาขา ประกอบด้วย โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคมะเร็ง, อุบัติเหตุ, ทารกแรกเกิด, สุขภาพจิตและจิตเวช, บริการ 5 สาขาหลัก, บริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิและสุขภาพองค์รวม ทันตกรรม, ตาและไต และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
- 21 views