ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คกก. 3 กองทุน เร่งผลักดันจัดตั้ง “ศูนย์จัดการข้อมูลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ” กลไกกลางลดความเหลื่อมล้ำรักษาพยาบาล ทำหน้าที่เบิกจ่าย ตรวจสอบ รวมถึงประมวลผลข้อมูล ตั้งเป้าหมายแล้วเสร็จปี 58 พร้อมเผยความคืบหน้า อยู่ระหว่างประชาพิจารณ์ร่าง กม.เพื่อรองรับ

16 ธ.ค.57 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวภายหลังการประชุม “คณะกรรมการประสานความร่วมมือระหว่างกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข” ครั้งที่ 15 (2/2557) ว่า ในที่ประชุมมีวาระนำเสนอ National Data Clearing House และข้อสังเกตต่อร่างพระราชกฤษฎีการจัดตั้งศูนย์การจัดการข้อมูลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น ก่อนนำเสนอต่อ ครม.เพื่อขอความเห็นชอบต่อ ครม. ทั้งนี้การจัดตั้งศูนย์จัดการข้อมูลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของ 3 หน่วยงานที่ดูแลกองทุนรักษาพยาบาล ทั้งระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากจะมีหน่วยงานกลางในการทำหน้าที่เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับหน่วยบริการที่เป็นระบบเดียวกัน รวมไปถึงการตรวจสอบ ซึ่งช่วยลดความซ้ำซ้อนให้กับหน่วยบริการ ทั้งยังเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองต่างๆ

นพ.วินัย กล่าวว่า นอกจากนี้ศูนย์จัดการข้อมูลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ยังทำหน้าที่ประมวลข้อมูลต่างๆ ทั้งในด้านการเบิกจ่ายชดเชยให้กับหน่วยบริการ ข้อมูลภาวะการเจ็บป่วยของประชาชน รวมถึงยังเป็นหน่วยงานที่กำหนดสิทธิประโยชน์กลางในด้านการรักษาพยาบาลของ 3 กองทุน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ปัจจุบันยังเป็นปัญหา ทั้งนี้หลักการดำเนินงานจะใช้รูปแบบเดียวกับ National Institute for Health and Disability Insurance (NIHDI) ของประเทศเบลเยี่ยม โดยจะมีการนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย   

“เรื่องนี้ ดร.อัมมาร สยามวาลา ประธานกรรมการประสานงานกองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ได้ให้ความสนใจอย่างมาก และเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังด้วยตนเอง เนื่องจากปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำในระบบรักษาพยาบาล 3 กองทุนอยู่มาก ขณะเดียวกันตาม มาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้รวมกองทุน ผ่านมา 10 ปีแล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากแต่ละกองทุนต่างมีการบริหารที่เป็นอิสระ จึงน่าจะใช้กลไกกลางซึ่งมีความเป็นไปได้มากกว่าในการลดความเหลื่อมล้ำการรักษาพยาบาล” เลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า ส่วนงบดำเนินงานของศูนย์จัดการข้อมูลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ นี้รัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุน

นพ.วินัย กล่าวว่า ภายหลังการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งตั้งเป้าให้แล้วเสร็จในปี 2558 บทบาทบอร์ดที่ดูแลกองทุนรักษาพยาบาลจะต้องเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง แต่ทั้งนี้จะยังคงทำหน้าที่ในการดูแลและคุ้มครองสิทธิของผู้มีสิทธิในระบบเพื่อให้เข้าถึงบริการ รวมไปถึงการกำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษที่นอกเหนือจากสิทธิรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานให้กับผู้มีสิทธิในระบบตนเอง อย่างเช่น การเบิกจ่ายห้องพิเศษ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์จัดการข้อมูลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ การยุบรวม 3 กองทุนยังจำเป็นหรือไม่ นพ.วินัย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย การยุบรวม 3 กองทุนเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับประเทศไทย ดังนั้นจึงควรใช้วิธีการรวบบริหารจัดการมากกว่า โดยให้ร่วมกันกำหนดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล เกณฑ์การเบิกจ่าย ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มมีการบูรณาการร่วมกันแล้ว อย่างการดูแลผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยไต เป็นต้น

ทั้งนี้แนวคิดการจัดตั้งศูนย์จัดการข้อมูลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ได้ริเริ่มขึ้นในสมัย นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ เป็น รมว.สาธารณสุข เพื่อให้มีหน่วยงานกลางในการทำหน้าที่รับข้อมูลและตรวจสอบการเบิกจ่าย และได้มอบให้ทางกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ แต่เรื่องได้ชะลอออกไป จนกระทั่งได้มีการหยิบยกขึ้นมาผลักดันอีกครั้ง