ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเด็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ดูเหมือนว่าจะกลับมาเป็นประเด็นสำคัญอีกครั้ง นอกจากจะอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นประเด็นหาเสียงในการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาแล้ว ในส่วนของสภาปฏิรุปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข ก็ได้กล่าวถึงข้อเสนอหนึ่งเพื่อการปฏิรูประบบสาธารณสุขว่า ต้องมีการคุ้มครองทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้รับบริการด้วย ซึ่งก็นำไปสู่การคัดค้านของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ขณะที่ฝ่ายที่เห็นด้วยก็ยืนยันชัดเจนว่า กฎหมายนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งแพทย์และผู้ป่วย ส่วนประเด็นที่ค้านกันนั้น ขอให้ศึกษาให้ละเอียด เนื่องจากมีหลายเรื่องที่เป็นการเข้าใจผิด

จากการพุดคุยกับผู้ที่มีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขเบื้องต้น คือ ดร.รัตนสิทธิ์ ทิพย์วงศ์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อดีตนิติกร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีประเด็นและสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ที่น่าสนใจดังนี้

การเข้าร่วมยก ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข?

“ขณะกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาระบบและนโยบายสุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในปีพ.ศ. 2550 ได้รับทุนจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ทำการศึกษาเรื่อง “กลไกการชดเชยความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” โดยทำการศึกษาข้อมูลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ ขณะนั้น ทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ต่างให้ความสนใจในเรื่องนี้ และทั้ง 2 ฝ่ายได้ยกร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขขึ้น โดยสธ. มีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นผู้รับผิดชอบในการยกร่าง มี นพ.ประมวล วีรุตมเสน เป็นประธานในการยกร่าง และมี นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ, นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์, นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา รวมถึง นพ.อำนาจ กุสลานันท์ ร่วมร่างด้วย ซึ่งภายหลังได้มีการยุบรวมร่าง พ.ร.บ ทั้ง 2 ฉบับ เข้าด้วยกัน แล้วเงียบหายไป จนกระทั่ง ในปี 2553 สมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล มีการเสนอที่จะนำร่างพ.ร.บ.นี้ เข้าสู่ครม.แต่เกิดการต่อต้าน เรื่องจึงเงียบไปอีกครั้ง”

แนวคิดของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ?

“พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข เป็นกลไกก่อนจะถึงศาล เน้นที่กระบวนการเสียหายและการเยียวยาผู้เสียหาย เพื่อบรรเทาความเสียหายให้ทันการณ์ สามารถลดการฟ้องร้องเป็นคดีความในศาลได้ ไม่ได้เน้นที่ผู้กระทำผิด ผู้เสียหายจากบริการทางสาธารณสุข สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากกองทุน ซึ่งแหล่งที่มาของกองทุน มาจากการจัดสรรงบประมาณประจำปีจาก  สปสช. สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ตามสัดส่วนที่กำหนด

เราต้องการเยียวยาผู้เสียหาย ป้องกันไม่ให้มีการเอาเรื่อง ไม่ว่าจะผิดหรือไม่ผิด ทั้งยังต้องไปเสียเวลาฟ้องศาลใช้เวลาเป็น 10 ปี เกิดความทุกข์ทั้งคนฟ้องและคนถูกฟ้อง ดังนั้นหากมีการเยียวผู้เสียหายจะแก้ปัญหานี้ได้ ทั้งผู้ให้และผู้รับก็ไม่ต้องเกิดความทุกข์ ตามแนวคิดที่ว่า หากมีการชดเชยจนผู้เสียหายพึงพอใจแล้ว จะไม่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนน คือ กรณี มาตรา 41 จะพบว่า จำนวนการฟ้องร้องเกิดขึ้นหลังจากได้รับการชดเชยมีน้อยมาก ทั้งที่เป็นเพียงแค่การเยียวยาเบื้องต้นและเฉพาะหน้าเท่านั้น”

กระบวนการชดเชยความเสียหาย ?

“ในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการ 2 ชุด โดยชุดที่ 1 จะเป็นผู้พิจารณาว่า กรณีที่ผู้เสียหายเรียกร้องค่าชดเชยนั้น เข้าตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ และเป็นการกระทำหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับบริการหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการชุดที่ 1 จะมีอำนาจในการจ่ายเงินเยียวยาเฉพาะหน้าให้แก่ผู้เสียหายเบื้องต้นไปก่อน

สำหรับคณะกรรมการชุดที่ 2 จะเป็นชุดของผู้เชี่ยวชาญ ที่ประกอบไปด้วย ผู้ที่มีส่วนได้เสียหลายฝ่ายมาร่วมกันพิจารณารายละเอียดจำนวนเงินที่จะจ่ายค่าชดเชย หากเข้าเงื่อนไขแรกแล้ว ซึ่งถ้า พ.ร.บ. นี้ผ่านการรับรองแล้ว จะต้องมีการตั้งหน่วยงานเข้าบริหารจัดการ อาจจะเป็นในลักษณะของสำนักงานคุ้มครองผู้เสียหายมีสถานะเป็นองค์กรอิสระ”  

ใครได้ใครเสียภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย ?

“จากการทบทวนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์จากการรักษาพยาบาล พบว่า ความเสียหายที่เกิดจากแพทย์เป็นผู้กระทำการประมาท เลินเล่อ (Medical error) มีเพียง 3-5% อัตราความเสียหายที่เกิดจากคน 12% ซึ่งในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดจากระบบ 85% และที่เป็นเหตุสุดวิสัย 3% และจากข้อมูลนี้เอง จึงนำไปสู่เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. นี้ คือ ในการรักษาพยาบาลนั้น บางครั้งอาจเกิดความเสียหายที่เป็นเหตุสุดวิสัยขึ้นได้ ดังนั้น แพทย์หรือผู้ให้บริการไม่ควรต้องเป็นผู้ต้องแบกรับความเสียหายดังกล่าว เราไม่อยากให้แพทย์ต้องสู้คดี หรือไปขึ้นศาล แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ต้องมีการเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายด้วย เพราะตามทฤษฎีและประสบการณ์จากต่างประเทศยืนยันว่า จะมีการยุติเรื่องราวการฟ้องร้องแพทย์หรือผู้ให้บริการ เมื่อนำเข้าสู่กระบวนการนี้ อัตราของการเข้าสู่กระบวนการศาลมีน้อยมาก

และผู้เสียหายที่ได้รับการชดเชยจากกองทุนแล้ว ผู้เสียหายไม่สามารถที่จะฟ้องคดีแพ่งต่อได้ ถึงแม้ผู้เสียหายจะฟ้องศาลในคดีอาญาตามสิทธิได้ แต่ พ.ร.บ. ระบุไว้ชัดเจนว่า ศาลมีสิทธิใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาลงโทษน้อยลง หรือไม่ลงโทษก็ได้ โดยดูจากพฤติการณ์หรือการกระทำ

ผู้ถูกฟ้อง ถ้าเข้ากองทุนนี้ โอกาสฟ้องลดลง มีข้อมูลสนับสนุนจากต่างประเทศยืนยันชัดเจน แต่ของไทยที่แพทย์พากันคัดค้านรุนแรงมาก ก็เพราะมีความเชื่อคิดกันเองว่า ประเทศไทยพอรับเงินแล้ว ก็ไปฟ้องต่อเอาอีก จริงๆ แล้ว กฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายนี้ จะทำให้ win-win ด้วยกันทั้งคู่ คือ หมอก็ได้ประโยชน์ ผู้ป่วยก็ได้ประโยชน์เช่นกัน” 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง