ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เตรียมเสนอระบบโครงสร้างงบประมาณปี 2559 สำหรับดูแลรพ.ในพื้นที่พิเศษ เช่น ภูเขา ชายแดน เกาะ ทั้งงบลงทุน งบดำเนินงาน งบบุคลากรประจำสถานบริการสาธารณสุขชุมชน ให้สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยจัดระบบอาสาสมัครดูแลสุขภาพ ระบบสื่อสาร และระบบขนส่ง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการครอบคลุมและทั่วถึง

20 ธ.ค.57 นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) พร้อมด้วย นพ.เทียม อังสาชน ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เดินทางไปตรวจเยี่ยม รพ.ศรีสังวาลย์ และสถานบริการสาธารณสุขชุมชนในพื้นที่สูง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานการจัดบริการพัฒนาสาธารณสุขบนพื้นที่สูง ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการดูแลสุขภาพประชาชนไทยทุกคน โดยจัดทำทีมหมอครอบครัว ประกอบด้วยสหวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อดูแลเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพใกล้ชิดทุกครัวเรือน ประชาชนได้รับความมั่นใจ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่พิเศษ ทุรกันดาร เช่น พื้นที่ภูเขา ซึ่งจะมีลักษณะปัญหาสุขภาพที่แตกต่างจากพื้นที่ปกติ การเดินทางยากลำบาก ได้เตรียมเสนอโครงสร้างระบบงบประมาณใหม่ ในปี 2559 สำหรับพื้นที่พิเศษเหล่านี้เป็นการเฉพาะ ได้แก่ งบลงทุน ในการจัดซื้อครุภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้ในการเดินทาง งบดำเนินการ สำหรับเจ้าหน้าที่ใช้ในการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับภาระงานที่ยากลำบากกว่าพื้นที่ปกติ และการอบรมประชาชนในพื้นที่ให้เป็นพนักงานสาธารณสุขชุมชน รวมทั้งงบประมาณในการจ้างพนักงานสาธารณสุขชุมชน ประจำสถานบริการสารณสุขชุมชน หรือ สสช.เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ อย่างเสมอภาค เท่าเทียม และทั่วถึง โดยจะหารือทำความเข้าใจกับสำนักงบประมาณต่อไป

นอกจากนี้ ในพื้นที่สูงและพื้นที่พิเศษ จะเร่งพัฒนาใน 3 ระบบ ได้แก่ ระบบการสื่อสารซึ่งขณะนี้ใช้ระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม มอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพปรับระบบการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบการขนส่ง โดยให้ประสานภาคีเครือข่ายและท้องถิ่น ในจัดระบบการส่งต่อพิเศษ โดยเฉพาะในผู้บาดเจ็บ เจ็บป่วยฉุกเฉินที่จำเป็น เช่น และการพัฒนาพนักงานสาธารณสุขชุมชนให้มีความรู้ในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนในพื้นที่

ด้าน นพ.ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จ.แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่สูง มีชายแดนติดกับประเทศพม่า 7 อำเภอ ประชากร 247,469 คน ร้อยละ 60 เป็นชาวไทยภูเขาอาศัยกระจัดกระจายบนพื้นที่สูงตามแนวชายแดน รวมทั้งแรงงานต่างชาติและคนไร้สัญชาติที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การเดินทางค่อนข้างยากลำบาก พื้นที่มากกว่าร้อยละ 40 จะถูกตัดขาดในช่วงฤดูฝน ไม่สามารถใช้รถยนต์เดินทางได้ จึงได้ปรับเปลี่ยนการทำงานจากเดิมที่ตั้งรับในโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 71 แห่ง โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพทุกภาคส่วน ตั้งสถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา รวม 70 แห่ง มีพนักงานสุขภาพชุมชนที่เป็นชาวบ้านในชุมชนและผ่านการอบรมหลักสูตรพนักงานสุขภาพชุมชน 6 เดือนเพื่อให้การดูแลขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยใช้งบสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย