ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยแพทย์ด้านระบาดวิทยาขาดแคลนหนัก ทั่วประเทศมีแค่ 171 คน รอบ 5 ปีมีแพทย์ศึกษาต่อสาขานี้เพียง 21 คน เหตุความเสี่ยงสูง ความก้าวหน้าและค่าตอบแทนต่ำไม่จูงใจให้เรียน หวั่นส่งผลต่อการป้องกันโรคภายในประเทศ เตรียมส่งหนังสือถึง รมว.สธ.พิจารณา

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบการเฝ้าระวังและป้องกันโรคที่ดี เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อต่างๆ ทั้งโรคไข้หวัดนก โรคซาร์สหรือแม้กระทั่งโรคไวรัสอีโบลาที่กำลังระบาดอย่างหนัก เพราะมีทีมป้องกันและสอบสวนโรคอย่างรวดเร็ว ทำให้ทราบว่าบุคคลสงสัยเข้าข่ายป่วยจำเป็นต้องกักกันโรคหรือไม่ ทีมดังกล่าวเรียกว่า ทีมระบาดวิทยา แต่ปัญหาคือขณะนี้ประเทศไทยกำลังขาดแคลนแพทย์ด้านระบาดวิทยาอย่างหนัก จากการวิเคราะห์สถานการณ์กำลังคนในสายงานแพทย์ด้านการป้องกันควบคุมโรคในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2553-2557 พบว่า คร.ได้สูญเสียแพทย์ด้านการป้องกันควบคุมโรคเฉลี่ยปีละ 12 อัตรา ขณะที่สามารถสรรหาเข้ามาได้เฉลี่ยปีละ 7.4 อัตรา แต่แพทย์เข้าศึกษาต่อสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงระบาดวิทยาในรอบ 5 ปี พบเพียง 21 คนเท่านั้น นับว่าเป็นจำนวนน้อยที่สุดในรอบ 35 ปี ส่งผลให้ภาพรวมมีแพทย์ด้านระบาดวิทยาเพียง 171 คนเท่านั้น

นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัญหาคือแพทย์ระบาดวิทยา หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำงานด้านการป้องกันโรคระบาดไม่ได้อยู่ในระบบของกรมควบคุมโรคเท่านั้น หลายคนหันไปศึกษาต่อและทำงานสายเชี่ยวชาญอื่นๆ แทน เห็นได้จากจำนวนเข้ารับราชการช่วยงานส่งเสริมป้องกันโรคติดเชื้อ-โรคไม่ติดเชื้อต่างๆ มีเพียง 20 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่ลาออกหรือไม่ก็ขอโอนไปอยู่สายงานอื่น นอกนั้นก็เกษียณอายุราชการ จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นว่า แนวโน้มการขาดแคลนแพทย์ด้านนี้เริ่มรุนแรงขึ้น สาเหตุพบว่า 1.ลักษณะงานมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากแพทย์กลุ่มนี้มีหน้าที่ในการปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อตรวจหาเชื้อโรค อาจก่อให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรง เพื่อป้องกันควบคุมโรคไม่ให้กระจายมายังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ โรคไวรัสต่างๆ รวมทั้งโรคอีโบลา คนกลุ่มนี้จะต้องไปเก็บตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วย ทั้งสารคัดหลั่งต่างๆ รวมถึงสารเคมีตกค้าง เพื่อนำมาตรวจสอบอย่างละเอียด หากไม่ระวังก็อาจติดเชื้อได้ แม้ที่ผ่านมาจะไม่พบผู้ติดเชื้อโรคที่รุนแรงก็ตาม แต่แพทย์รุ่นหลังๆ ก็หวั่นวิตกไม่ใช่น้อย 2.ความก้าวหน้าในสายงานและค่าตอบแทนต่ำ เมื่อเทียบกับแพทย์ปฏิบัติงานด้านการรักษาในโรงพยาบาล ค่าตอบแทนห่างกันประมาณ 30,000-50,000 บาท ทั้งที่มีความสำคัญไม่แตกต่างกันเลย

"จากปัจจัยทั้งความกลัวในวิชาชีพที่มีความเสี่ยง ประกอบกับค่าตอบแทน ความก้าวหน้าในอาชีพก็มีส่วนสำคัญ คร.เคยมีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รวม 2 ครั้ง ในปี 2553 และปี 2557 ขอให้ ก.พ.พิจารณากำหนดทางก้าวหน้าสำหรับแพทย์ด้านการป้องกันควบคุมโรค ให้ขอประเมินค่างานเพื่อกำหนดเป็นระดับเชี่ยวชาญได้ทุกตำแหน่งโดยไม่ต้องหาตำแหน่งว่าง ได้ชี้แจงต่อ ก.พ.ถึงความสำคัญของแพทย์ด้านนี้ จัดเป็นแพทย์ด้านเวชกรรมป้องกัน ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่มีความเสี่ยง ขณะเดียวกันแพทย์กลุ่มนี้ยังมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาแผนงานการดำเนินการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกันควบคุมโรค มีประโยชน์ต่อสาธารณชน แต่ปรากฏว่า ก.พ.แจ้งว่าตำแหน่งดังกล่าวให้ถือว่าเป็นนักวิชาการปฏิบัติงานภายในกรม ไม่ถือว่าปฏิบัติงานหลักในการให้บริการด้านสุขภาพในโรงพยาบาล การเลื่อนขั้นจึงไม่สามารถกระทำได้ ต้องรอตำแหน่งว่างเท่านั้น" นพ.โสภณกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาดังกล่าวจะมีการแก้ไขอย่างไร นพ.โสภณกล่าวว่า ตนได้หารือกับ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) แล้ว โดยขอให้พิจารณาในเรื่องค่าตอบแทนก่อนเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ พร้อมทั้งดึงแพทย์ใหม่ๆ เข้ามาเรียนเพิ่มเติม นอกจากเงินเดือนแล้วควรมีค่าตอบแทนพิเศษสำหรับแพทย์สาขาส่งเสริมพิเศษ และค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานหรือพีฟอร์พีเช่นกัน (Pay for Performance: P4P) เบื้องต้น รมว.สธ.มอบให้ คร.กลับไปทำข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เพื่อเสนอเข้ามาพิจารณาในการปรับค่าตอบแทนใหม่ ขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างการปรับค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขทั้งหมด จึงจะนำประเด็นของแพทย์ด้านระบาดวิทยาเข้าศึกษาด้วย ส่วนประเด็นการเลื่อนตำแหน่งจะมีการนำเข้าหารือกับ รมว.สธ.เพื่อหาทางออกเช่นกัน

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา คร. ในฐานะแพทย์ด้านระบาดวิทยา กล่าวว่า สัดส่วนนักระบาดวิทยาที่เหมาะสมคือ 1 ต่อแสนประชากร คิดง่ายๆ ต้องมีนักระบาดในประเทศไทยประมาณ 700 คนจึงจะเพียงพอต่อการทำงานในการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค และควบคุมโรค ไม่ใช่แค่โรคติดต่อรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา แต่ยังรวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างโรคมะเร็ง โรคหัวใจ รวมถึงภาวะภัยส่งผลต่อสุขภาพอย่างการดื่มแอลกอฮอล์ นักระบาดมีหน้าที่ศึกษาวิจัยหาสาเหตุของปัญหาและหาแนวทางแก้ไข เรียกได้ว่านักระบาดวิทยาทำงานการป้องกันโรคและภาวะภัยต่อสุขภาพอย่างครบวงจร แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีคนสนใจศึกษา สาเหตุสำคัญเพราะค่าตอบแทนน้อยกว่าแพทย์ที่จบและศึกษาสาขาเชี่ยวชาญอื่นๆ ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า ทั้งสูตินรีเวช ผิวหนัง หรือแม้แต่ศัลยแพทย์ทั่วไป โดยแพทย์ระบาดวิทยามีเงินเดือนเพียง 40,000-50,000 บาท มีเงินค่าวิชาชีพ 15,000 บาท เมื่อเทียบกับแพทย์สาขาอื่นๆ ทำงานในโรงพยาบาลเงินห่างกันเท่าตัว หนำซ้ำยังไม่สามารถไปเปิดคลินิกพิเศษได้ แต่ความเสี่ยงในวิชาชีพมีสูงมาก ขณะที่ค่าเสี่ยงภัยอยู่ที่ 3,000 บาทต่อ 8 ชั่วโมง

"หากแพทย์ระบาดวิทยาต้องลงพื้นที่ไปเก็บเชื้อหรือสารคัดหลั่งในพื้นที่ แต่ลงพื้นที่ไปเพียง 1 ชั่วโมง ค่าเสี่ยงภัยก็จะได้ไม่ถึง 3,000 บาท ต้องไปหักคำนวณ ที่ผ่านมาแพทย์ระบาดวิทยาลงไปทำงานล้วนไม่ได้คิดถึงค่าเสี่ยงภัย เพราะถ้าคิดถึงคงไม่ทำ แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าแพทย์ใหม่ๆ ไม่ค่อยหันมาศึกษาด้านนี้มากนัก สิ่งสำคัญจึงต้องมีการสร้างขวัญกำลังใจ เพื่อดึงบุคลากรด้วย" นพ.ธนรักษ์กล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 ธันวาคม 2557