ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แจง หมอสุทัศน์ เหตุไม่โอนงบทั้งก้อนให้รพ. เพื่อให้ประชาชนได้รักษา และปกป้องรพ.ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงอีก เผยประกันสังคมก็ทำเหมือนกัน คือแยกงบค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงการรักษามากขึ้น เชื่อสธ.เข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะแบ่งงบคนไร้สถานะเป็นหมวดย่อยเช่นกัน

สืบเนื่องจากประเด็นที่ นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) ระบุว่า ในเมื่อ สปสช.ส่งงบเหมาจ่ายรายหัวลงไปในพื้นที่แล้ว ก็ต้องปล่อยให้ผู้บริการเป็นคนบริหารงบประมาณ ไม่ใช่เข้ามากำหนดราคาค่าบริการ ว่าต้องทำอะไรบ้างในกี่บาท ซึ่งต่างจากสิทธิประกันสังคมที่เมื่อส่งเงินลงมาแล้ว ก็จะปล่อยให้หน่วยบริการเป็นผู้บริหารงบประมาณเอง (ดูข่าว ที่นี่)

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงว่า สปสช.ขอชี้แจงว่าประเด็นนี้เป็นการเข้าใจผิดกันมาก สาเหตุที่ สปสช.ต้องมีการกำหนดว่า ในงบเหมาจ่ายรายหัวจะถูกแบ่งเป็นค่าอะไรบ้างนั้น ก็เพื่อปกป้องประชาชนให้ได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็น เมื่อเจ็บป่วยต้องได้รักษาโดยไม่มีอุปสรรคการเงิน ซึ่งตรงนี้ไม่ได้หมายความว่า สปสช.ไม่เชื่อว่ารพ.จะไม่ให้บริการผู้ป่วย แต่ในการของบประมาณจากสำนักงบประมาณนั้น จะต้องมีการกำหนดรายละเอียดทุกครั้งว่า งบประมาณที่เป็นเงินของแผ่นดินนั้นถูกใช้ทำอะไรบ้าง และจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างไร การที่ไม่โอนงบเหมาจ่ายรายหัวทั้งก้อนไป แล้วให้รพ.ไปบริหารเอง ก็เพื่อให้รพ.ไม่ต้องแบกรับภาระ กรณีที่ต้องรักษาผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูง แต่เอามาตั้งเป็นกองกลางแยกให้เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของการก้าวก่ายหน่วยบริการ

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีแรก สปสช.เคยใช้วิธีการนี้คือโอนงบทั้งก้อนไปที่รพ. แต่ปรากฎว่าทำให้ประชาชนไม่ได้รับบริการที่จำเป็น โดยเฉพาะในโรคค่าใช้จ่ายสูง เพราะ รพ.แห่งเดียวแบกรับความเสี่ยงนี้ไม่ได้ ภายหลังต่อมาจึงได้แยกงบเหมาจ่ายรายหัวเป็นรายหมวดในปัจจุบัน ซึ่งประกันสังคมก็ดำเนินการตามวิธีนี้อยู่ ปัจจุบันก็มีการแยกงบโรคค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ผู้ประกันตนและรพ.มั่นใจว่า เมื่อรักษาผู้ป่วยโรคนี้แล้วจะมีเงินให้

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ สปสช.ต้องเป็นผู้กำหนดเองว่างบเหมาจ่ายรายหัวนั้นจะถูกใช้เพื่ออะไรบ้าง ก็เป็นหลักการแยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการ ซึ่งฝั่งผู้ซื้อบริการก็คือ บอร์ดสปสช.ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนกำหนดว่าเงินเท่านี้จะมีบริการอะไรรองรับประชาชนบ้าง แต่หากผู้ให้บริการกำหนดเองว่าเงินที่มีอยู่จะรักษาผู้ป่วยอย่างไร ก็จะทำลายหลักการนี้ และถอยหลังกลับไปเหมือนเดิม ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าจะทำให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจริง

“เชื่อว่า สธ.เข้าใจประเด็นนี้ดี เพราะในกองทุนรักษาคนไร้สถานะนั้น สธ.ก็แบ่งงบเหมาจ่ายรายหัวเหมือนกัน ไม่ได้โอนเงินทั้งก้อนไปที่รพ. แต่กันงบส่วนหนึ่งไว้ที่กองกลางเพื่อใช้สำหรับโรคค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งก็เป็นตามหลักการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา และไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงไว้เพียงผู้เดียว” โฆษก สปสช. กล่าว