ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้จัดทำรายงาน “ประมวลความเห็นหรือข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 18 คณะ” เสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

สำหรับรายงานฉบับดังกล่าว เป็นข้อเสนอของ “คณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ” ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 ประเด็น

ในตอนที่ (1) สำนักข่าว Health focus สรุปสาระสำคัญ 3 ประเด็นแรกมานำเสนอ

ดันสุขภาพมาตรฐานเดียว

1.กำหนดให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน บนพื้นฐานการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคน

หลักการที่เสนอคือ ระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ของประเทศ ควรเป็นระบบบริการสุขภาพแบบบูรณาการ (Integrated Health Care System) มีความเสมอภาคในด้านมาตรฐานที่ครอบคลุมการบริการสุขภาพทั้งของภาครัฐและเอกชนทุกระดับ ได้แก่ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ระบบบริการเฉพาะทาง ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบการส่งต่อ และส่งกลับผู้รับบริการ เพื่อให้เกิดการจัดระบบบริการที่เชื่อมโยง หนุนเสริมกันได้ทั้งระบบ

ระบบประกันสุขภาพในระบบบริการสาธารณสุขมีหลากหลายกองทุน ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมในการได้รับบริการสาธารณสุข สิทธิประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน จึงจำเป็นต้องกำหนดเป็นหลักประกันว่าทุกคนจะได้รับบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ ต้องส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการให้บริการสาธารณสุข เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบท

พลเมืองไทย บุคคลไร้รัฐ แรงงานต่างด้าว ต้องได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตราย รวมถึงอุบัติเหตุและพิบัติภัยจากรัฐอย่างเหมาะสม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์ การที่ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายเป็นการปกป้องอันตรายที่จะเกิดกับบุคคลอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ ให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิ เสรีภาพของพลเมือง

การพัฒนาสร้างปัญหาสุขภาพ

2.บุคคลมีหน้าที่ในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพส่วนตน บุคคลในครอบครัว และสังคม โดยรัฐมีหน้าที่ส่งเสริมศักยภาพ รวมทั้งการให้ข้อมูลด้านสุขภาพที่ถูกต้องและทันสมัยแก่ประชาชน

หลักการที่เสนอคือ ประเทศไทยจะพัฒนาเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ทศวรรษถัดไปประชากรในเขตเมืองจะมีมากกว่าเขตชนบท สังคมคนชั้นกลางจะเติบโตมากขึ้น และเข้าถึงทรัพยากร ข้อมูลข่าวสาร การเคลื่อนย้ายประชากรเข้าเมืองทั้งจากชนบทและต่างประเทศ มีผลต่อปัจจัยที่กระทบกับสุขภาพและการจัดบริการสุขภาพ มีความต้องการหลากหลายทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งเกิดการเรียกร้องและรักษาสิทธิมากขึ้น

การเติบโตทางเศรษฐกิจจะบั่นทอนศักยภาพในการพึ่งตนเองของสังคมชนบท เกิดภาวะแก่งแย่งแข่งขันเพื่อสร้างรายได้ มีผลให้ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำและขาดความมั่นคงในสังคม นำไปสู่ปัญหาสังคมและการมีสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี ขาดสมดุลในชีวิตนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ และเกิดโรคจากพฤติกรรม อาทิ โรคอ้วน หัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยปัจจัยเหล่านี้เป็นภาระของรัฐอย่างสูงในการให้บริการสาธารณสุข

เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาและขยายครอบคลุมรวดเร็ว ทำให้ประชาชนเข้าถึงง่าย แต่ก็อาจกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น การติดเทคโนโลยี การหลอกลวงชักจูงต่างๆ ผ่านการโฆษณาสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ไม่เหมาะสม

ทั้งนี้ ให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 3 หน้าที่พลเมือง

ทุกนโยบายรัฐ ต้องคิดถึงสุขภาพเป็นลำดับแรก

3.สุขภาพของประชาชนต้องเป็นพื้นฐานสำคัญที่รัฐมีหน้าที่สร้างเสริม พัฒนา ปกป้องคุ้มครอง และดูแลให้บุคคลสามารถอยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ โดยการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาประเทศในทุกด้านต้องมิให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชน โดยเน้นกลไกกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมทุกระดับ

หลักการที่เสนอคือ การที่ประชาชนมีสุขภาพดีเป็นข้อบ่งชี้ถึงความมั่นคงของประเทศเพราะประชาชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนา ในอีก 10 ปีข้างหน้า มีปัจจัยต่างๆ ที่มีผลสำคัญต่อระบบสุขภาพ ได้แก่ โครงสร้างประชากรที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ การเพิ่มขึ้นของชุมชนเมือง การเกิดภัยธรรมชาติที่จะมีความรุนแรงและมีความถี่มากขึ้น ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง

การเพิ่มความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงและปลอดภัยของอาหาร การเกิดโรคอุบัติใหม่ในพืชและสัตว์ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนมีแนวโน้มซับซ้อน รุนแรง ควบคุมยากขึ้น การเคลื่อนย้ายของประชากร การเข้ามาทำงานของแรงงานต่างชาติ ทั้งหมดล้วนมีผลต่อแบบแผนการจัดบริการ ระบบการเฝ้าระวัง และการสร้างเสริมป้องกันโรค

นอกจากปัจจัยคุกคามสุขภาพ ส่วนหนึ่งยังเกิดจากการดำเนินนโยบายของรัฐ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม การสัมปทานเหมืองแร่ การส่งเสริมเกษตรที่ทำให้มีการใช้สารเคมีมากขึ้น การสร้างเขื่อน การสร้างโรงไฟฟ้า ฯลฯ ในขณะที่การควบคุมโฆษณาประชาสัมพันธ์ยังไม่เข้มแข็ง จึงต้องพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมด้วย

นอกจากนี้ ต้องพัฒนาระบบงานและองค์กรที่ทำงานด้านระบาดวิทยา ทั้งด้านการป้องกันควบคุมโรค และระบาดวิทยาสังคม (Social Epidemiology) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและการสร้างเสริมสุขภาพนอกภาคบริการสาธารณสุข รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาและใช้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ

ถ้านโยบายพื้นฐานแห่งรัฐกำหนดให้สุขภาพของประชาชนมีความสำคัญเป็นอันดับแรก ประเทศก็จะได้พลเมืองที่สมบูรณ์พร้อมในการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ ให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

ทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอแนะ 3 ประเด็นแรกเท่านั้น ในตอนที่ (2) สำนักข่าว Health focus จะสรุปสาระสำคัญประเด็นที่ 4-6 มาเผยแพร่ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดข้อเสนอ “กมธ.ปฏิรูปสาธารณสุข” (2) ปฏิรูป 3 กองทุนสุขภาพ ลดภาระการคลัง

เปิดข้อเสนอ “กมธ.ปฏิรูปสาธารณสุข” (จบ) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข