ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ในโรงพยาบาลแต่ละวันจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เป็นจำนวนมาก แต่ละโรคมีข้อจำกัดด้านอาหารที่แตกต่างกันไป ต้องอาศัยใจรักในงานที่ทำ และมีความรู้เรื่องโภชนาการ เพื่อจัดสรรเมนูอาหารให้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม”

นางออม กิตติพร หัวหน้าฝ่ายโภชนาการ รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย ได้กล่าวถึงหัวใจของการเป็นนักโภชนากรในโรงพยาบาลที่ดี

นางออม กิตติพร

“หน้าที่หลักของนักโภชนากร คือ การใช้โภชนบำบัด ได้แก่ การทำอาหารให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะโรค ซึ่งจะต้องมีการคำนวณค่าของสารอาหารให้เหมาะสมตามที่แพทย์ต้องการ โดยนักโภชนากรจะต้องดูว่า ผู้ป่วยที่เข้ามาแต่ละคนมีภาวะขาดสารอาหารชนิดใดบ้าง หรือ เป็นโรคอะไรมา เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งอาจจะต้องมีการควบคุมโซเดียม เรียกว่า เราต้องสามารถประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วยได้ ซึ่งนักโภชนากรจะต้องอาศัยประสบการณ์ความรู้ เข้ามาช่วยในการทำงาน”

นางออม กล่าวว่า อาหารมีช่วยช่วยฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยได้ ตนเชื่อว่า ผู้ป่วยส่วนมากที่สามารถซื้อหรือทำอาหารกินเองได้นั้น ไม่สามารถจัดอาหารที่ให้พลังงานและตอบสนองต่ออาการของโรคได้ ดังนั้นจึงต้องมีนักโภชนากรเข้ามาช่วยเรื่องอาหารในขณะที่ผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

สำหรับตัวนักโภชนากรเองจะมีต้องมีความตื่นตัวอยู่เสมอ มั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม สำหรับที่ รพ.สมเด็จฯ จะมีการส่งนักโภชนากรไปอบรมเรื่องอาหารในโรงเรียนแพทย์ใหญ่ เช่น รพ.รามาธิบดี เพราะทั้งอาหารและผู้ป่วยมีด้วยกันหลายประเภท การจัดอาหารให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยไม่เกิดความเบื่อหน่าย นักโภชนากรจึงจัดเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ดัดแปลงมีเมนูต่างๆ ให้มีสารอาหารครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง และมีรูปร่างหน้าตา รสชาติชวนให้ผู้ป่วยอยากรับประทาน

ที่รพ.สมเด็จฯ แห่งนี้มีนักโภชนากรเพียง 5 คน ซึ่งหากเทียบในการทำงานสำหรับดูแลคนเท่านั้น ถือว่าเพียงพอ แต่หากมีกิจกรรมอื่นเพิ่มเติม จะทำให้นักโภชนากรที่มีอยู่ทำงานเพิ่มขึ้นไปด้วย สำหรับงานโภชนากร ถือว่า เป็นงานที่มีความละเอียดอ่อน จะต้องรู้ว่า อาหารอะไรที่ผู้ป่วยสามารถหรับประทานได้หรือไม่ ใครเป็นมาอย่างไร ขาดสารอาหารอะไร

ดังนั้นการเป็นโภชนากรที่ดีจึงต้องมีใจรักในงานที่ทำ อีกทั้งยังต้องมีความรู้สามารถถ่ายทอดเรื่องของโภชนาการอาหารที่ดีไปยังผู้ป่วยและคนรอบข้างได้เพื่อสร้างกำลังใจและกับผู้ป่วยและญาติได้ ที่ผานมา ทาง รพ.สมเด็จฯ ยังไปออกหน่วยเคลื่อนที่ทีมสหวิชาชีพ ออกให้บริการและความรู้แก่หน่วยงานที่ร้องขอและในชุมชนใกล้เคียง

นางออม กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีการรับประทานอาหารประเภทจั้งฟูด และอาหารจานด่วนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น มื้อเช้า จะเป็นข้าวเหนียวหมูปิ้ง/ไก่ทอด กาแฟ ปาท่องโก๋ ซึ่งอาหารเหล่านี้หากรับประทานเป็นประจำจะเกิดอันตรายแก่ร่างกาย ซึ่งคนส่วนมากจะอ้างไม่มีเวลา เรื่องดังกล่าวนั้นหากเราต้องการมีสุขภาพที่ดีจะต้องมีการบริหารจัดการเวลาด้วยตัวเอง

“ผงชูรส เป็นเครื่องปรุงที่มีกันเกือบทุกบ้าน ร้านค้าส่วนมากจะมีผงชูรสเป็นส่วนประกอบในการประกอบอาหาร หรือน้ำมันหอย ที่มีส่วนประกอบทั้งผงชูรส เกลือ น้ำตาล เมื่อรับประทานอาหารจานด่วนมากขึ้นทำให้ร่างกายได้รับเกลือ น้ำตาล มากเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา การกินอาหารที่ถูกวิธี จึงควรลดเครื่องปรุงต่างๆ ลงครึ่งหนึ่ง เน้นผักมากขึ้น แต่คนไทยมีพฤติกรรมการกินที่สวนกันคือ เน้นเนื้อสัตว์เป็นหลัก ข้าวเป็นจานรอง และผักเป็นจานเสริม”

ที่ผ่านมา การทำหน้าที่นักโภชนากรพบว่า มีปัญหาคือ เราไม่สามารถให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยหรือญาติได้ 100% เนื่องจากมีงานอื่นเข้ามา และมีบุคลากรไม่เพียงพอ มีจำกัด เมื่องานเยอะขึ้นจึงมีผลให้เจ้าหน้าที่บางคนต้องลาออกไป เพื่อให้เวลากับครอบครัว

ด้วยปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของปรัชญาในการทำงานของตนเองที่ว่า “ต้องเอาใจเขา มาใส่ใจเรา” ใครมีปัญหาจะต้องนำมาพูดคุยกัน โดยที่ฝ่ายจะมีการประชุมกันทุกๆวันอังคาร และมีประชุมใหญ่ทุกเดือน อีกทั้งยังมีกิจกรรมในฝ่าย เพื่อสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน อยู่กันแบบสงบสันติ แบบพี่น้อง เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง