ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ไทยรัฐ : “มิงกาลาบา”...เสียงคุณครูทักทายนักเรียนในห้องชัดถ้อยชัดคำ จากนั้นนักเรียนก็ตอบรับอย่างพร้อมเพรียง

ถ้าได้ยินเสียงเฉยๆ คงคิดว่าที่นี่เป็นห้องเรียนของนักเรียนพม่าชั้นใดชั้นหนึ่งในเมืองไทยเป็นแน่ แต่ถ้าได้เห็นภาพด้วยแล้ว...ก็จะรู้ว่า ที่นี่ไม่ใช่ห้องเรียนธรรมดา

เพราะที่นี่คือ “โรงเรียนอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว”

โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ในตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มีนักเรียนชาวพม่าคละอายุกันตั้งแต่คนหนุ่มสาวไปจนถึงคนสูงอายุที่จะมานั่งเรียนกันอย่างตั้งอกตั้งใจในวันที่มีนัดอบรม โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ เป็น “ครู” คอยให้ความรู้

เมื่อแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาครมีเพิ่มขึ้น สาธารณสุขจังหวัดจึงมีนโยบายในการสร้าง อาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว หรือ อสต. อย่างจริงจังในปี 2548 และตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวด้านสาธารณสุขผ่านโครงการต่างๆมาตลอด จนมาเกิดโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นในปี 2555

หลักสูตรที่สอนมีทั้งการประเมินสุขภาพ การดูแลสุขภาพเบื้องต้น การป้องกันโรคติดต่อในชุมชน การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การวางแผนครอบครัว ฯลฯ โดยจะเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่พบบ่อยในแรงงานต่างด้าว จังหวัดสมุทรสาคร

 “เรียนเรื่อง...ยา เรื่อง...การติดต่อ เรื่อง...ป้องกันโรค เช่น เท้าช้าง มาลาเรีย เอดส์ ซิฟิลิส” ยอด อสต.วัย 29 ปี จากมหาชัย เอ่ยถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอบรม

ยอด เป็นแรงงานชาวพม่าที่ได้รับใบประกาศจากการอบรมหลักสูตรตามโครงการของ อสต. และทำหน้าที่เป็น อสต.มาเกือบ 5 ปีแล้ว เขาบอกว่า นอกเหนือจากการทำงานปกติ ยังมีภารกิจในการช่วยเหลือคนในชุมชนเมื่อมีอาการป่วยในฐานะ อสต.ด้วย

“บางคนไม่มีญาติ เราก็ไปดูว่าเราจะทำอะไร เราอาจไม่ได้ตัดสินใจเอง แต่เราทำได้โดยการพาเขาไปส่งโรงพยาบาล อาสาไปช่วยเหลือในชุมชน”

ยอด บอกว่า ความรู้ที่ได้จากห้องเรียน อสต. อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าใคร...เป็นอะไร และต้องปฏิบัติอย่างไรให้ทัน ก่อนที่จะเกิดอาการรุนแรง หรือเกิดโรคติดต่อร้ายแรงไปยังคนอื่นในชุมชน

“ถ้ามีคนปวดท้อง ต้องดูว่าตรงไหน ข้างไหน ถ้าตรงนี้เป็นไต ก็รีบส่งโรงพยาบาลเลย ถ้าเป็นไส้ติ่งจะเจ็บอีกแบบ ถ้าเจ็บหน้าอกก็ดูว่าข้างไหน เราชี้โรคแน่ชัดไม่ได้ แต่สามารถเดาได้ว่า อาการคนนี้ใกล้เคียงกับโรคนี้ สามารถรู้ประมาณเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ จากที่หมอเคยสอนมา อ่านหนังสือ แล้วก็ดูในอินเตอร์เน็ต”

ออง อสต.วัย 20 ปี จากตำบลโคกคาม อำเภอเมือง เสริมว่าสิ่งที่ได้เรียนจากครูที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เนื้อหาวิชาเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันทำให้ตกลงเข้าอบรมเข้าโครงการฯ และทำหน้าที่อาสาฯมาเกือบ 1 ปี

“ครูจะสอนหลายอย่าง ให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับสุขภาพทั้งหมด เช่น อาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นยังไง ยุงกัด มีเชื้ออะไรบ้าง หรือขยะแบบไหนต้องจัดการยังไง”

นอกจากนี้แล้ว ออง บอกว่า เรายังช่วยแนะนำว่า ต้องใช้บัตรยังไง รักษาที่โรงพยาบาลเป็นอย่างนี้ๆ ถ้าเขาไม่มีเงินจะทำยังไง หรือว่าการซื้อประกันสุขภาพ ประกันสังคม ต้องทำยังไง เราก็อธิบายให้ฟังได้

“ความรู้ที่ได้จากการอบรมช่วยคนได้มากมายทั้งที่ป่วย ยังไม่ป่วย การเป็น อสต.นอกจากได้ความรู้ติดตัวแล้ว การได้ช่วยคนทำให้รู้สึกดีมาก จึงอยากทำหน้าที่นี้ต่อไปเรื่อยๆ เรา...ช่วยคนนี้ไปแล้วเขาสบายขึ้น เราก็ดีใจ”

ข้อมูลศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) จังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า มีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ จำนวน 91,767 คน จากแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 270,377 คน...คิดเป็นร้อยละ 33.94

น่าสนใจว่า...เป็นจำนวนที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขในชุมชนต่างด้าว

การให้ความรู้ด้านสาธารณสุขกับ อสต. จึงมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่ประกอบด้วย...กิจกรรมการตรวจสุขภาพ การบริการรักษาพยาบาล การบริการสร้างเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค และการเฝ้าระวังโรค

“เราจะสรุปเนื้อหาความรู้ไว้ในคู่มือแล้วแปลเป็นสองภาษา ใครที่ผ่านการอบรมก็จะมีคนละเล่ม สามารถที่จะฟื้นฟู ทบทวนตัวเองแล้วก็ให้ความรู้กับแรงงานต่างด้าวที่ไม่เคยผ่านการอบรมได้” กิตติ เรืองวิไลพร พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ สสจ.สมุทรสาคร ผู้เป็นครูของเหล่า อสต. บอก

หลังจากผ่านการอบรมแล้ว อสต.จะอยู่ในหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าใครสามารถช่วยเหลืองานส่วนใดได้ก็จะปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่หาก อสต.คนไหนไม่ว่าง ก็จะมาช่วยงานในวันหยุด เช่น วันอาทิตย์

นอกจากนี้ยังจะได้รับการอบรมฟื้นฟูความรู้อยู่เสมอ โดยมี “ครู” คอยสอนหลายคน หลายเทคนิคต่างๆกันไป เช่น สอนผ่านสไลด์ รูปภาพ หรือให้ อสต.แสดงความคิดเห็นร่วมกันในห้อง

พยาบาลวิชาชีพ กิตติ บอกอีกว่า ในช่วงแรก อสต.เกิดขึ้นเพราะอยากให้มีผู้ประสานงานระหว่างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพราะอุปสรรคทางด้านภาษา แต่ต่อมาก็เริ่มมีการให้ความรู้กับ อสต. ผ่านหลักสูตรต่างๆ ปัจจุบันหน้าที่ของ อสต.จึงเพิ่มมากขึ้น

“เราอยากจะใช้ศักยภาพของเขาให้มากกว่านี้ ก็เลยให้ความรู้ ให้สามารถช่วยทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับได้อย่างคล่องตัว”

ถึงตรงนี้คงรู้กันแล้วว่าความรับผิดชอบของ อสต.ครอบคลุมตั้งแต่การแจ้งข่าวสารทางสาธารณสุขที่สำคัญให้ชุมชน สำรวจข้อมูลชุมชน เป็นล่ามให้เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำกับเพื่อนต่างด้าว ตลอดจนการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาสาธารณสุข ฉะนั้นการจะเป็น อสต.ได้ นอกเหนือจากการเป็นบุคคลที่มีประวัติดี มีเลขประจำตัว 13 หลักแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติในการอ่านเขียนภาษาตัวเองได้ สื่อสารภาษาไทยพอได้

และที่สำคัญ...ต้องมีใจเสียสละ

ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาครมี อสต.ที่ผ่านการอบรมแล้ว ประมาณ 1,000 คน แต่เนื่องจากมีการย้ายที่อยู่ เปลี่ยนงาน และการมีความรู้ด้านสาธารณสุขไม่ครบถ้วน จึงทำให้มี อสต.ที่ปฏิบัติงานได้จริงไม่ถึงครึ่ง

อย่างไรก็ตาม อสต.ที่มีศักยภาพก็ยังสามารถดูแลชุมชนได้ อย่างน้อยก็ประสานงานภายในชุมชนต่างด้าวให้มีความรู้

วันนี้แม้ว่า อสต.ในจังหวัดสมุทรสาครยังมีจำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นก้าวที่ดีในการดูแลแรงงานต่างด้าวให้มีสุขภาพที่ดีได้อย่างเป็นระบบ ช่วยผลักดันการสร้าง อสต.หน้าใหม่มาช่วยกันสานงานต่อได้เป็นอย่างดี

นี่คือภารกิจพิชิตโรคในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่มีอาสาสมัครชาวต่างด้าวมาเป็นกุญแจช่วยคลายทุกข์.

ที่มา :  นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 9 มกราคม 2558