ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. โชว์ผลงานสร้างเสริมสุขภาพปี 57 ลดปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ 13 ปี สิงห์อมควันลด 1.21 ล้านคน คนไทย 82.4% ร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา ประหยัดเงินซื้อเหล้า 2.4 หมื่นล้านบาท ทั้งอุบัติเหตุยังลดการสูญเสีย ประหยัดเงินนับแสนล้าน พร้อมเพิ่มพื้นที่สุขภาวะ 11 ล้านคนได้ประโยชน์ วางเป้าหมายปี 58 สร้าง 5 บันไดความสำเร็จ หวังประชากรทุกกลุ่มเข้าถึงการมีสุขภาวะที่ดี แก้ปัญหาเหล้า บุหรี่ในชนบท-พัฒนาสุขภาพเขตเมือง-ดูแลผู้ด้อยโอกาส-ขยายภาคี-ต้นแบบองค์กรธรรมาภิบาล

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2557 ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ​ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า​ สสส. ดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง​ และเพิ่มพฤติกรรมเชิงบวกต่อสุขภาพมาครบ 13 ปี การดำเนินงานในปี 2557 ที่ผ่านมา สสส. ยังคงให้ความสำคัญกับการลด 3 ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอย่างเข้มข้น

1.อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ​จากปี 2532 อยู่ที่ร้อยละ 32 ลดลงในปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 19.94 ​ในช่วง 13 ปีของการทำงานของ สสส. ผู้สูบบุหรี่ลดลง 1.21 ล้านคน หรือร้อยละ 22 ช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสุขภาพได้ถึง 13,955 ล้านบาท

2.อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ปี 2548 -2552 คนไทยดื่มลดลงจาก 6.46 ลิตรต่อคน อยู่ที่ 6.08 ลิตร ที่สำคัญ อัตราการดื่มในระดับอันตรายลดลงจากปี 2547 อยู่ที่ร้อยละ 9.1 ในปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 7.3 อีกทั้งยังพบว่าคนไทยซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจากปี 2550 อยู่ที่ 154,998 ล้านบาท เหลือ 137,059 ล้านบาท และ3.อัตราการเกิดอุบัติเหตุในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ลดลงร้อยละ 43 ลดความสูญเสียได้กว่า 1 แสนล้านบาท

ทพ.กฤษดา กล่าวว่า การดำเนินงานของในปี 2557สสส. ได้ดำเนินงานสำคัญ 5 ด้าน คือ

1.การเพิ่มพื้นที่สุขภาวะกว่า 7,000 แห่ง แบ่งเป็น ตำบลสุขภาวะ 2,632 ตำบล องค์กรสุขภาวะ 4,456 องค์กร และ พื้นที่สร้างสรรค์ 78 แห่ง ครอบคลุมประชากรกว่า 11 ล้านคน

2.ลดปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ และสุขภาวะทางเพศ ซึ่งได้ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น ผลักดันให้งานบุญประเพณีปลอดเหล้า 171 งาน งดเหล้าเข้าพรรษา มีประชาชนเข้าร่วมได้ร้อยละ 82.4 เพิ่มขึ้นจากปี 2556 อยู่ที่ ร้อยละ 68.8 แบ่งเป็น ผู้งดดื่มตลอดเข้าพรรษาร้อยละ 39.4 ซึ่งเป็นสถิติที่สูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา  และผู้ลดปริมาณการดื่มและงดเป็นบางช่วง ร้อยละ 43 ประหยัดเงินค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 2.4 หมื่นล้านบาท สร้างพื้นที่ต้นแบบจังหวัดปลอดบุหรี่ได้ 15 จังหวัด อุบัติเหตุทางถนนในปี 2556 มีผู้เสียชีวิต อยู่ที่ 7,338 คน คิดเป็น 11.33 คนต่อแสนประชากร  ลดจากปี 2555 มีผู้เสียชีวิต 9,716 คน จากปี 2555 อยู่ที่ 15.07 คนต่อแสนประชากร โดยในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาที่สสส. ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ช่วยลดการตายจากอุบัติเหตุบนถนนได้ ร้อยละ 20 และเสริมสร้างสุขภาวะทางเพศด้วยการร่วมพัฒนาการจัดการเรียนเพศศึกษา และเชื่อมโยงกลไกใน 34 จังหวัด และโครงการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้ 20 จังหวัดนำร่อง

3.เพิ่มปัจจัยเสริมทางสุขภาพ ​​ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ ดำเนินโครงการการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน ชุมชน เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร และพัฒนาภาวะโภชนาการและสุขภาพในระยะยาว เช่น ​โครงการเด็กไทยแก้มใสใน 1,000 โรงเรียน โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1,000 แห่ง และพื้นที่ต้นแบบด้านการผลิตและตลาดอาหารปลอดภัย 42 แห่งใน 27 จังหวัด ด้าน​กิจกรรมทางกาย คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 68 โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมที่สสส. และภาคีเครือข่ายจัดขึ้นกว่า 1 แสนคน เช่น งานเดินวิ่งเพิ่มสุขภาพ 500,000 คน กิจกรรมองค์กรกีฬาปลอดเหล้า บุหรี่ 36 องค์กร รวม 350,000 คน ชุมชนตัวอย่างการใช้จักรยาน 40 ชุมชนและ 450 พื้นที่แนวร่วม และงานคาร์ฟรีเดย์ 3 แสนคน ​

4.ผลักดันนโยบายทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ สามารถหนุนนโยบายระดับประเทศ 10 นโยบาย เช่น การเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นร้อยละ 85 การห้ามขายเหล้าบนรถไฟ และอีก 23 นโยบายในระดับพื้นที่ เช่น การประกาศจังหวัดปลอดบุหรี่ กาชาดปลอดเหล้า และ 5.จุดกระแสคนรักสุขภาพ การออกแคมเปญสร้างกระแสสุขภาพ 25 ชุด เช่น ลดพุงลดโรค NCDs สร้างการรับรู้ของประชาชนได้ร้อยละ 76 มีประชาชนร่วมงานสวดมนต์ข้ามปี 6.5 ล้านคน และมีประชาชนเข้ามาใช้บริการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะและห้องสมุด 760,000 คน

ทพ.กฤษดา กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์การทำงานของสสส. ในปี 2558 คือ 1.จัดการปัญหาบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชนบท เพื่อสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพให้กับคนชนบท 2.พัฒนาสุขภาพเขตเมือง สร้างนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เช่น โครงการกรุงเทพเมืองสุขภาพดี และพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อดูแลสุขภาพคนทุกเพศทุกวัย 3.ดูแลสุขภาพกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเฉพาะ 4.ขยายภาคีรายใหม่ โดยสนับสนุน Nano Projects เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4,000 ราย เพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารให้เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5 ล้านคนใน 3 ปี และกระจายศูนย์เรียนรู้ไปทั่วประเทศ และ 5.ต้นแบบองค์กรโปร่งใส เป็นองค์กรแรกๆ ที่เริ่มใช้ Open Government เปิดเผยข้อมูล ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชั่น และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบธรรมาภิบาลให้แก่องค์กรอื่นๆ