ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจากที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง การถกเถียงอยู่ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ ฝั่งของ สป.สธ. ในฐานะเจ้าของหน่วยบริการ ที่ระบุว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะผลกระทบจากการปรับวิธีจัดสรรงบประมาณที่กระจายตามรายหัวประชากร การบริหารด้วยวิธีแยกกองทุน และการส่งงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง รวมถึงปัญหาการบริหารงานของ สปสช.

ขณะที่ฝั่งของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในฐานะผู้จัดสรรเงิน ก็ระบุว่า สปสช.มักตกจำเลยว่าเป็นตัวการทำให้ รพ.ขาดทุน เสมอมา แต่คำถามที่ สปสช.ถามกลับคือ การที่รพ.ขาดทุนนั้น มีสาเหตุมาจากการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรืออยู่ที่จำนวนงบประมาณที่ไม่เคยได้ตามที่ขอ การบริหารของ สธ. และการบริหารของผู้บริหาร รพ.

จากปัญหาข้างต้นเหล่านี้ได้นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นที่มาข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงจากทาง สธ. ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในขณะนี้

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน ขึ้น โดยสัมภาษณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยตอนแรกนี้ จะเริ่มจาก นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ผู้ที่ประกาศ งดส่งข้อมูลที่เกี่ยวกับงบเหมาจ่ายรายหัวให้สปสช. จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาได้

เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ความขัดแย้งในระบบสุขภาพ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายจับตามองว่า ท้ายที่สุดแล้วปัญหาความไม่ลงตัวในระบบบริหารงาน จะสามารถหาข้อยุติร่วมกันได้อย่างไร โดยไม่กระทบการให้บริการสาธารณสุขต่อประชาชน 

นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล 

สำนักข่าว Health Focus ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ถึงปมขัดแย้งระหว่างโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับ สปสช.ผู้จัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งเปิดใจถึงเหตุผลในการดำเนินมาตรการงดส่งข้อมูลบริการประชาชนให้ สปสช. ซึ่งตลอด 1-2 เดือนที่ผ่านมา ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู ทั้งในแวดวงสุขภาพและประชาชนทั่วไป ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง หากทั้งสองหน่วยงานไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ในเร็ววัน 

 “นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นนโยบายที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น เพราะเมื่อเจ็บป่วยแต่ละครั้งไม่ต้องมานั่งคิดมากว่าจะไม่มีเงินรักษา ที่สำคัญไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไร ก็มีหลักประกันคอยช่วยเหลืออย่างแน่นอน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำให้งบประมาณด้านสุขภาพในแต่ละปีที่ได้รับจัดสรรนั้นต่ำมาก ประมาณ 4% ของจีดีพี เมื่อได้เงินมาน้อยแต่ต้องบริหารจัดการให้คุ้มค่ามากที่สุด จึงต้องอาศัยระบบบริหารจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ โดยต้องเปิดโอกาสให้หน่วยบริการได้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่ใช้หลักการทางบัญชีมากำหนดแนวทางให้บริการอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” นพ.สุทัศน์ ฉายภาพรวมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมองว่าแม้ในทางปฏิบัติจะสามารถช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น แต่เพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณ ประกอบกับระบบบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาความไม่คล่องตัวและกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการ 

ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป บอกว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้งบประมาณหลักประกันสุขภาพไม่เพียงพอ เกิดจากในแต่ละปี สปสช.จะรวบรวมผลงานในปีที่ผ่านมาของ สธ.ทั้งหมด เพื่อเสนอของบประมาณต่อสำนักงบประมาณ ซึ่งหากดูตามสถิติการให้บริการจะพบว่า จำนวนผู้เข้ารับบริการนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี เฉพาะที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคระห์ เพิ่มขึ้น 100% ดังนั้นงบประมาณที่รับจัดสรรก็ควรได้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อได้เท่าเดิม สปสช.ก็ไม่ได้รับผิดชอบ บอกแต่เพียงว่าเป็นเพราะข้อจำกัดของงบประมาณแผ่นดิน ที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งจึงสะท้อนกลับไปว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจทำให้โรงพยาบาลเล็กๆ ซึ่งมีประชากรไม่มาก จะประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก เพราะงบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับไม่เพียงพอ ในปีงบประมาณ 2555 โรงพยาบาลเล็กๆ บางแห่ง เมื่อนำเงินเหมาจ่ายรายหัวหักค่าแรงแล้ว เหลือเงินรายหัวเพียง 500 กว่าบาท จึงจำเป็นต้องได้รับงบประมาณด้านอื่นๆ เพิ่มให้ด้วย โดยขอให้ สธ.เป็นผู้ปรับเกลี่ยงบประมาณเอง แต่เม็ดเงินยังคงอยู่ที่ สปสช.ตามเดิม แต่ก็ไม่ยอม

นพ.สุทัศน์ ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เพียงการไม่ยอมรับข้อเสนอของหน่วยบริการเพียงเท่านั้น แต่หากดูตัวเลขงบประมาณที่ได้รับจากสำนักงบประมาณในแต่ละปี กับเม็ดเงินที่ สปสช.จัดสรรให้หน่วยบริการนั้น ไม่สอดคล้องกัน ตรงนี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบความโปร่งใสในการบริการจัดการ เพราะในฐานะผู้ให้บริการเมื่อประสบปัญหาเช่นนี้แล้ว ไม่มีความสุขในการให้บริการประชาชนอย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีหมอเฉพาะทางด้านหัวใจที่เก่งมาก แต่ สปสช.กลับมาคอยกำหนดว่า ต้องซื้อยาชนิดนี้ ต้องจ่ายยาชนิดนั้น ซึ่งเป็นไปตามการกำหนดราคาค่ารักษา แต่ว่าหมอคนนี้เรียนมาอีกแบบหนึ่ง และถนัดที่จะรักษาตามที่ได้ร่ำเรียนมา ถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ปฏิบัติงานจะมีความสุขได้อย่างไร

“ในความเป็นจริง ในเมื่อ สปสช.ได้รับจัดสรรงบประมาณมาแล้ว ก็ควรโยนงบประมาณไปยังสถานบริการโดยที่ไม่ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ในการรักษา ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลเป็นผู้บริหารเงินด้วยตัวเอง เพื่อให้สอดรับกับลักษณะงานและความเหมาะสมในพื้นที่ จากนั้นค่อยมาติดตามประเมินว่าทำอย่างที่ได้คุยกันไว้ไหม มีประสิทธิภาพตามหลักเกณฑ์หรือเปล่า ไม่ใช่มากำหนดว่าจะต้องซื้อนั้น ซื้อนี่ ท้ายที่สุดหากผู้ปฏิบัติงานไม่มีความสุข ทนไม่ไหว ก็ลาออกไปอยู่ที่อื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ฐานะยากจน” 

นพ.สุทัศน์ บอกต่อไปว่า ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรนำเอาหลักการทางบัญชี มากำกับการให้บริการเหมือนกันทั่วทั้งประเทศ เป็นเพราะการเจ็บป่วยในแต่ละพื้นที่นั้นไม่เหมือนกัน ภาคเหนือมีปัญหาสุขภาพแบบหนึ่ง ภาคใต้ก็มีปัญหาอีกแบบหนึ่ง และโดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน หากมีผู้ป่วยซึ่งไม่ใช่คนไทยเข้ามารักษา ทางโรงพยาบาลก็ต้องเป็นผู้ปรับเกลี่ยเงินจากส่วนอื่นๆ มารองรับ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องการบริหารจัดการถือเป็นเรื่องภายใน เป็นหน้าที่ของหน่วยบริการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ทำแบบนี้มานานโดยที่ไม่มีปัญหา ถึงแม้เงินที่ให้มาต่อหัวจะน้อยเพราะข้อกำจัดงบประมาณ ข้อจำกัดด้านบุคลากรที่น้อยกว่าความต้องการ ทำให้ สปสช.แม้จะไม่ใช่ผู้รักษาคนไข้ แต่ได้รับรางวัลเยอะแยะมากมายในแต่ละปี 

ความเห็นของ นพ.สุทัศน์ ระบุชัดเจนว่า  แนวทางพัฒนาระบบหลักประกันบริการสุขภาพถ้วนหน้านั้น จำเป็นต้องเอาบริการนำไม่ใช่เอาเงินนำ ซึ่ง สธ.ก็ได้ดำเนินการอยู่ ทั้งนี้อย่างที่ได้บอกตั้งแต่ต้นว่าการใช้จ่ายเงินได้คุ้มค่ามากที่สุด เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยระบบพัฒนาขึ้นได้ แต่สุดท้ายหากเงินไม่พอจริงๆ ก็ต้องพึ่งงบประมาณจากทางจังหวัดเข้ามาสมทบ เป็นการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ เพราะไม่เพียงทำให้แต่ละคนต้องแบกรับภาระที่หนักเกินไป ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมในการให้บริการด้วย แต่ขณะเดียวกัน สปสช. จำเป็นต้องแสดงความจริงใจ โดยการเปิดเผยและรายงานข้อมูลไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินหรือหักเงิน แต่ที่ผ่านมาเวลาขอข้อมูลไป สปสช.ไม่เคยให้ ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเพราะเหตุใด อย่างเช่นที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ปีนี้ได้รับหนังสือจาก สปสช.บอกว่าได้เงินทั้งหมด 522 ล้าน แต่ส่งเงินให้จริงๆ เพียง 507 ล้าน

 “คนเราถ้าจะให้เชื่อใจกันมันต้องโปร่งใส ต้องมีการนำข้อมูลมาพูดคุยกันอย่างแฟร์ๆ ทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่กับเราอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง การทำแบบนี้เปรียบเสมือนการคุยไปรบไป สุดท้ายก็หาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ แต่ไม่เป็นไรเพราะเราทำเพื่อระบบ เราไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะอย่างไรเราก็เป็นข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าการบริการงานที่ผ่านมาของ สปสช.ทำให้ระบบมีปัญหา เราจึงพยายามทำให้ระบบมันเข้มแข็งมากขึ้น แต่สิ่งที่สะท้อนกลับมา กลับมีการพูดว่าเราจะไปล้มระบบของเขา”

นพ.สุทัศน์ บอกอีกว่า จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นปัญหาความขัดแย้ง ระหว่าง สธ.กับ สปสช. เกิดจากปัญหาเชิงระบบ ซึ่งเชื่อมโยงกับการให้บริการผู้ป่วย เนื่องจากคนไข้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยบริการต้องบริหารจัดการ โดยการเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรมากขึ้น แต่ สปสช.จัดสรรเงินโดยคิดระบบเอง ไม่สนใจข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอจากหน่วยบริการ อีกทั้งยังเอาเงินเหมาจ่ายรายหัวแบ่งไปตั้งกองทุนย่อย หรือสนับสนุนงานวิจัยซึ่งไม่สมควร เพราะเงินที่ได้รับจัดสรรนั้นได้น้อยและไม่เพียงพออยู่แล้วเป็นทุนเดิม เมื่อปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขทุกคนก็ทนมาเรื่อยๆ หากทนไม่ได้ก็ลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน ท้ายที่สุดจึงถึงจุดแตกหัก เพราะไม่มีใครทนได้อีกต่อไปแล้ว

ส่วนประเด็นที่หลายคนมองว่า ขณะนี้ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ลงมายืนต่อสู้เคียงข้าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับ สปสช.นั้น ตรงนี้อยากให้มองว่าเนื่องจาก ปลัด สธ. มีหน้าที่ดูแลหน่วยงานและข้าราชการในสังกัดทั้งระบบ ดังนั้นในเมื่อโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปเดือดร้อน ตามระบบก็ต้องรายงานปัญหาตรงต่อผู้บริหาร เพราะที่ผ่านมาอย่างที่ได้บอกไปตั้งแต่ข้างต้นแล้วว่า การบริหารงานของ สปสช. ซึ่งพยายามรวมอำนาจไว้ที่ตัวเอง ไม่เพียงทำให้โรงพยาบาลทั่วประเทศประสบปัญหาขาดทุน แต่ยังก้าวล่วงการบริหารงานของโรงพยาบาล ทำให้หน่วยบริการไม่อึดอัดไม่คล่องตัว 

“ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ยังคงยืนยันว่าจะไม่ส่งข้อมูลบริการประชาชนให้ สปสช. แต่จะส่งตรงให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพียงเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะส่งข้อมูลไปอย่างไร ก็ได้รับการจัดสรรเงินรูปแบบเดิม โดยเฉพาะปัญหาเงินค้างท่อ ที่ก่อนถึงวันสิ้นงบประมาณ สปสช.จะรีบโอนเงินมายังโรงพยาบาล โดยนำเงินจำนวนนี้ไปหักลบกับงบประมาณใหม่ในปีถัดไป ทำให้โรงพยาบาลได้รับเงินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งทำให้เกิดความสับสนในระบบบัญชี ดังนั้นไม่ว่าจะส่งข้อมูลไปยัง สปสช.หรือไม่ ระบบจัดสรรเงินก็มั่วเหมือนเดิม แต่ถึงอย่างไรก็ตามหาก สปสช.ต้องการให้ปัญหาความขัดแย้งยุติลง ก็ต้องปฎิรูประบบตามข้อเสนอของ สธ. ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการยกประสิทธิภาพระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย” ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

“รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”

“โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง

รพ.โพนทอง แบกภาระค่าตอบแทน ถูกเบี้ยวค่าตรวจแลป ต้นเหตุทำขาดทุน