ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ย้ำประชาชนอย่าตระหนกโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ บี เชื้อนี้เป็นเชื้อที่พบได้ในไทยและทั่วโลก เชื้อไม่มีการกลายพันธุ์  ชี้พื้นที่มีอากาศหนาวเย็น พื้นที่ที่มีคนรวมอยู่กันอย่างแออัด มีความเสี่ยงสูง แนะประชาชนทุกคนป้องกันโรคได้ โดยล้างมือฟอกมือบ่อยๆ ระบุต้นปีนี้พบป่วย 1,348 ราย เสียชีวิต 2 ราย หากมีอาการป่วย คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ให้หยุดเรียน หยุดงาน พักผ่อนอยู่ที่บ้าน คาดหน้ากากอนามัย ป้องกันเชื้อแพร่คนอื่น หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์  

จากกรณีที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกทม. ได้ส่งหนังสือแจ้งหยุดการเรียนการสอน ระหว่าง 23-28 มกราคม 2558 แก่ผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 เนื่องจากมีนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (B) ค่อนข้างมาก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคนั้น

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นการระบาดตามฤดูกาล เนื่องจากโรคนี้มักพบมากในช่วงอากาศเย็น คือช่วงหน้าหนาวและหน้าฝน ดังนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น รวมถึงอยู่ในพื้นที่แออัดจึงมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทย มีหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์บี ที่พบครั้งนี้ เป็นสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วโลก ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ ในไทยพบได้ประปรายอยู่แล้ว เชื้อยังไม่มีปัญหากลายพันธุ์ จึงไม่อยากให้ประชาชนทั่วไปตระหนกในเรื่องนี้  อย่างไรก็ดี ในวันนี้ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการสอบสวนและควบคุมป้องกันโรคที่โรงเรียนแห่งนี้แล้ว

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่ที่พบขณะนี้ เป็นโรคที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล เนื่องจากอากาศเย็น ทำให้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็กจึงป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่าย จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ของกรมควบคุมโรค โดยสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ 1 มกราคม – 20 มกราคม 2558 พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 1,348 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยมีแนวโน้มของการเกิดโรคเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 นี้อาจจะสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีหลายสายพันธุ์  เชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย  ติดต่อได้ง่ายจากการไอหรือจาม หรือเชื้อติดมากับมือ ในการเกิดโรคแต่ละครั้งจะเกิดจากสายพันธุ์ย่อยๆ เพียงพันธุ์เดียว ซึ่งเป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้น อาการของโรคไข้หวัดใหญ่มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก ปวดศีรษะ อ่อยเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอ บางรายอาจไม่มีอาการคัดจมูกหรือเป็นหวัดเลยก็ได้ ไข้มักเป็นอยู่ 2 – 4 วัน และค่อยๆลดลง อาการจะค่อยๆดีขึ้น ในกรณีที่ป่วยแล้ว 48 ชั่วโมง อาการไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงเหนื่อยมาก ให้รีบพบแพทย์ทันที แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ที่เมื่อป่วยหรือมีโอกาส เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงสูง ให้รีบพบแพทย์ทันที ได้แก่กลุ่ม เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ          

ในการป้องกันโรค ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงคลุกคลีกับผู้ป่วย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และให้ยึดหลักกินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ ผู้ที่ป่วยควรหยุดเรียน หยุดงานและพักรักษาตัวที่บ้าน อาการจะดีขึ้นเอง และใส่หน้ากากอนามัย กรณีของโรงเรียน หากมีเด็กป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ขอให้เด็กป่วยหยุดเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ติดเด็กคนอื่น และให้ดูแลรักษาความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่นลูกบิดประตู ราวบันได แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์  โดยใช้น้ำผงซักฟอกทั่วไป เชื้อโรคชนิดนี้จะอยู่ในอุณหภูมิทั่วไปได้เพียง 8 ชั่วโมง หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422