ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจากที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง การถกเถียงอยู่ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ ฝั่งของ สป.สธ. ในฐานะเจ้าของหน่วยบริการ ที่ระบุว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะผลกระทบจากการปรับวิธีจัดสรรงบประมาณที่กระจายตามรายหัวประชากร การบริหารด้วยวิธีแยกกองทุน และการส่งงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง รวมถึงปัญหาการบริหารงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

ขณะที่ฝั่งของ สปสช.ในฐานะผู้จัดสรรเงิน ก็ระบุว่า สปสช.มักตกจำเลยว่าเป็นตัวการทำให้ รพ.ขาดทุน เสมอมา แต่คำถามที่ สปสช.ถามกลับคือ การที่รพ.ขาดทุนนั้น มีสาเหตุมาจากการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรืออยู่ที่จำนวนงบประมาณที่ไม่เคยได้ตามที่ขอ การบริหารของ สธ. และการบริหารของผู้บริหาร รพ.

จากปัญหาข้างต้นเหล่านี้ได้นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นที่มาข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงจากทาง สธ. ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ล่าสุด เพียงแค่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน นัดแรก ที่มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานกรรมการ ก็มีอันล่มอย่างไม่เป็นท่า เมื่อตัวแทนฝั่งสธ.ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน ขึ้น โดยสัมภาษณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ในตอนแรกได้นำเสนอ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

ตอนที่ 3 “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”

ตอนที่ 4 “โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 5 รพ.โพนทอง แบกภาระค่าตอบแทน ถูกเบี้ยวค่าตรวจแลป ปัญหาส่งเบิกกับสปสช. ต้นเหตุขาดทุน   

อดีตผอ.รพ.โพนทอง แจง รพ.ขาดทุน เหตุถูกเบี้ยวหนี้ค่าตรวจแลป หลังยกระดับเป็นศูนย์กลางตรวจแลปของอีสานตอนบน บางแห่งค้างจ่าย 3 ล้านบาท แถมภาระค่าตอบแทนแพทย์เฉพาะทางเพียบ เฉพาะค่าโอทีเฉลี่ย 1.7 ล้านบาทต่อเดือน พร้อมยอมรับ ระบบเบิกจ่ายเพื่อรับเงินบัตรทองของรพ.มีปัญหา ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ทำให้เบิกจ่ายได้ไม่เต็ม ติงสปสช.มีท่อส่งงบเยอะเกิน เต็มไปด้วยรหัสและตัวย่อ รพ.เองตามไม่ทัน เป็นปัญหาจัดส่งข้อมูล ส่งผลให้มีการเรียกเงินคืนในภายหลัง

นอกจาก รพ.หลังสวน จ.ชุมพร และ รพ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย และ รพ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ ที่ทางสำนักข่าว Health focus ได้เจาะสัมภาษณ์ถึงปัญหา รพ.ขาดทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว รพ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด เป็น รพ.อีกแห่ง ที่อยู่ในกลุ่ม รพ.ที่ประสบภาวะขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 ซึ่งทางสำนักข่าวฯ ได้ติดตามข้อมูลเพื่อนำเสนอเป็นตอนที่ 5

นพ.นิวัติ บัณฑิตพรรณ

นพ.นิวัติ บัณฑิตพรรณ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลโพนทอง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ก่อนที่ตนจะเกษียณอายุราชการปี 2557 สาเหตุที่ รพ.โพนทองประสบภาวะขาดทุนมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ ค่าแรงบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากปัจจุบัน รพ.โพนทองได้ถูกพัฒนาเป็น รพ.ขนาด M2 และเตรียมที่จะยกระดับเป็น รพ.M1 และได้มีการขยายเตียงผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 114 เตียง พร้อมกับมีการเปิดบริการผู้ป่วยนอกเฉพาะทางเพิ่ม เหล่านี้ทำให้รายจ่ายของ รพ.เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีหลังมานี้ โดยเฉพาะในส่วนของค่าตอบแทนแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งขณะนี้เรามีแพทย์เฉพาะทางถึง 7 สาขาแล้ว นอกจากนี้ยังมีค่าตอบแทนล่วงเวลาเฉลี่ยสูงถึงเดือนละ 1.6-1.7 ล้านบาท

นพ.นิวัติ กล่าวว่า สาเหตุรองลงมาคือค่าแลป เนื่องจาก รพ.โพนทอง เป็นศูนย์กลางตรวจแลปของอีสานตอนบน จึงมี รพ.ต่างๆ ส่งแลปเข้ามาตรวจเป็นจำนวนมาก ยิ่งในช่วงปีหลังๆ มานี้ เนื่องจากแพทย์จบใหม่ส่วนใหญ่ ในการวินิจฉัยโรคผู้ป่วยมักจะส่งตรวจแลปเพื่อป้องกันปัญหาในการรักษาไว้ก่อน ซึ่งปรากฎว่า รพ.หลายแห่งที่ส่งแลปเข้ามานั้น มีส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้ บางแห่งสะสมเป็นหนี้ถึง 3 ล้านบาท ซึ่งในการเกลี่ยเงินระดับจังหวัด รพ.โพนทองไม่เคยได้รับชดเชยในส่วนนี้ ขณะที่การส่งตรวจแลปในส่วนของ รพ.โพนทองก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะแลปเฉพาะทางจากการขยายบริการแพทย์เฉพาะทาง จึงเป็นภาระที่ รพ.ต้องแบกรับ

นอกจากนี้ในด้านรายรับก็มีปัญหา โดยเฉพาะการเบิกจ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งต้องยอมรับว่า รพ.โพนทองมีปัญหาการทำข้อมูลเบิกจ่าย การบันทึกข้อมูล บางอย่างมีความล่าช้าจนเกิดความบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถเบิกเงินในระดับที่ รพ.ควรจะได้รับ ซึ่งขณะนี้ทางผู้อำนวยการ รพ.โพนทองคนใหม่ อยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่ออุดรอยรั่วส่วนนี้ เพื่อทำให้การจัดทำข้อมูลมีความสมบูรณ์ รพ.สามารถเบิกจ่ายชดเชยได้เพิ่มขึ้น 

“เข้าใจว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เหมือนกับระบบประกันทั่วไปที่ต้องนำงานไปแลกเงิน ถ้าข้อมูลไม่ถึงก็เบิกไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ รพ.ยังมีปัญหาการทำข้อมูล อย่างเช่น ข้อมูลเบิกจ่ายผู้ป่วยใน ซึ่ง รพ.โพนทองเป็น รพ.ที่มีผู้ป่วยในมากที่สุดในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีจำนวนถึง 7,000 รายต่อปี ในจำนวนนี้มีการผ่าตัดประมาณ 3,000 ราย แต่พบว่าบางครั้งแพทย์มีการสรุปข้อมูลการรักษาที่ล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ จึงยอมรับว่าบางส่วนมาจากปัญหาระบบของ รพ.เอง” อดีต ผอ.รพ.โพนทอง กล่าว

นพ.นิวัติ กล่าวต่อว่า ขณะที่การกระจายงบประมาณของ สปสช.นั้น ต้องยอมรับว่ามีท่อในการส่งงบประมาณเยอะมาก และเต็มไปด้วยรหัสและตัวย่อ ทำให้ รพ.เองก็ตามไม่ทัน จึงเป็นปัญหาในการจัดส่งข้อมูลเช่นกัน ส่งผลให้มีการเรียกเงินคืนในภายหลัง ซึ่ง รพ.โพนทองเองก็ถูกเรียกคืนเช่นกันแต่ไม่มาก ดังนั้น สปสช.ควรมีการปรับปรุงในส่วนนี้เช่นกัน

“การขาดทุนของ รพ.โพนทองเกิดจากหลายปัจจัย นอกจากรายจ่ายบุคลากรและค่าแลปอย่างที่ระบุข้างต้นแล้ว ความบกพร่องของข้อมูล รพ.ยังส่งผลต่อการเบิกจ่ายที่เป็นรายรับของ รพ. อย่างไรก็ตามตลอด 12 ปี ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากดูสภาพคล่องทางการเงิน รพ.โพนทองยังอยู่ได้ ส่วนที่ รพ.โพนทองถูกจัดอยู่ในกลุ่ม รพ.ขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 นั้น ไม่รู้ว่าใช้หลักเกณฑ์พิจารณาอย่างไร เพราะตลอดระยะเวลาที่บริหารจนถึงเกษียณ รพ.ก็ยังมีสภาพคล่องทางการเงินมาโดยตลอด ยังจ่ายค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และเงินเดือนบุคลากรได้ ซึ่งผมเองก็งงว่าทำไม รพ.โพนทอนจึงขาดทุนรุนแรงระดับ 7 ได้” นพ.นิวัติ กล่าว

ตอนต่อไป กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเสนอกรมบัญชีกลาง วิเคราะห์บัญชี รพ.หาสาเหตุขาดทุน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

ตอนที่ 3 “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”

ตอนที่ 4 “โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง